คุณภาพชีวิต-สังคม
เตือน!! 'กลั้นปัสสาวะ' อาจเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด
อาจารย์แพทย์โรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล เตือน 'กลั้นปัสสาวะ' อาจเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด อีกหนึ่งสาเหตุผู้ป่วยอาการหนักโควิด 19
โรคติดเชื้อ 'โควิด 19' ที่กำลังเฝ้าระวังกันอย่างยิ่งในปัจจุบัน ปัญหาการ 'ติดเชื้อในกระแสเลือด' ก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิต โดยเกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย เพียงการ กลั้นปัสสาวะ ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด กล่าวว่า การติดเชื้อในกระแสเลือดจากการ 'กลั้นปัสสาวะ' ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิง เนื่องจากมีทางเดินปัสสาวะที่สั้นกว่าผู้ชาย
จึงทำให้เชื้อจากภายนอกเข้าสู่ภายในร่างกายได้ง่ายกว่า ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานจนเกิดความผิดปกติ และไม่ได้เข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้
- เหตุใด 'กลั้นปัสสาวะ'อาจติดเชื้อในกระแสเลือด
อาการที่มักพบในผู้ป่วยที่ กลั้นปัสสาวะ จนเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด จะเริ่มต้นจากการปวด ปัสสาวะ บ่อย มีความรู้สึกเหมือนอยากเข้าห้องน้ำอยู่ตลอดเวลา ปัสสาวะขุ่น หรือเปลี่ยนสี มีกลิ่นเหม็น นอกจากนี้ อาจมีอาการปวดท้องน้อย และปวดลามมาถึงบริเวณหลัง มีไข้หนาวสั่น และอ่อนเพลีย
สำหรับการรักษา ทางโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข โดยรับผู้ป่วยจากห้องฉุกเฉิน เพื่อคัดกรองดูภาวะการเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด จากนั้นจะจัดให้ผู้ป่วยที่มีภาวะซึ่งสงสัยว่าอาจมีการติดเชื้อในกระแสเลือดอยู่ในโซนสีแดง เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และให้ยาฆ่าเชื้อได้อย่างทันท่วงที
- แนะดูแลตัวเองให้แข็งแรง หยุด 'กลั้นปัสสาวะ'
นอกจากนี้ เพื่อการส่งเสริมให้การรักษาภาวะ ติดเชื้อในกระแสเลือด มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่ผ่านมา สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการศึกษาวิจัยวิเคราะห์เชื้อในกระแสเลือด เพื่อดูผลของการให้ยาที่ถูกต้อง และเกิดประสิทธิผลมากที่สุด ซึ่งจะเป็นการรักษาที่ตรงจุดกว่าการให้ยาแบบครอบคลุมทุกโรค รวมทั้งยังมีการศึกษาวิจัยเพื่อยับยั้งสาเหตุที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เพื่อการเฝ้าระวังอย่างครบวงจรอีกด้วย
ในอนาคตคาดว่าจะมีการต่อยอดการศึกษาวิจัยเพื่อติดตามผลการรักษา โดยดูความรวดเร็วในการเพาะเชื้อ การ แพ้ยา การดื้อยา รวมทั้งวิเคราะห์ด้วยว่า เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือดในแต่ละปี และในแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อแพทย์จะได้ให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมมากที่สุด
"ทุกคนสามารถห่างไกลจากภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ด้วยการพยายามทำร่างกายตัวเองให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ หมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และที่สำคัญ หากสังเกตุพบอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์" พญ.รพีพรรณ กล่าว