โควิดไทย หวั่นทะลุหมื่นรายต่อวัน! หลังพบโควิดสายพันธุ์ 'เดลต้า' ทำยอดพุ่ง 2 เท่าใน 2 สัปดาห์

โควิดไทย หวั่นทะลุหมื่นรายต่อวัน! หลังพบโควิดสายพันธุ์ 'เดลต้า' ทำยอดพุ่ง 2 เท่าใน 2 สัปดาห์

โควิดกทม. กระจาย 40 จังหวัด ป่วยสีแดงเพิ่ม 5% เป็น 10% ใส่ท่อช่วยหายใจ 10 ราย เสียชีวิต 1-2 ราย 'เดลต้า' แพร่เร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อ 2 เท่า ภายใน 2 สัปดาห์ หวั่นติดเชื้อ 10,000 รายต่อวันในสัปดาห์หน้า

วันนี้ (7 ก.ค. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์​การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวันที่ 7 ก.ค. 64 พบผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่ม 6,519 ราย จากการยอดติดเชื้อในเรือนจำ 55 ราย และติดเชื้อในประเทศ 6,448 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,958 ราย การค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,490 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 16 ราย

รวมยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 301,172 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 54 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตสะสม 2,387 ราย ผู้ป่วยที่รักษาหายเพิ่ม 4,148 ราย ยอดผู้ป่วยหายแล้วสะสม 231,171 ราย และผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 67,614 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 67,614 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล 33,991 ราย และผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม 33,623 ราย อาการหนัก 2,496 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 676 ราย

  • ผู้ป่วยสีแดงเพิ่มจาก 5% เป็น 10%

ที่ประชุมมีการรายงานลักษณะความรุนแรงของผู้ป่วยแยกตามเขียว เหลือง แดง ก่อนหน้านี้ที่มีการแพร่ระบาดในต้นเดือนเมษายน 64 ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80% มีอาการระดับเขียว เหลือง 15% แดง 5% ตอนนี้ตัวเลข ผู้ป่วยสีเขียวเหลือ 70% เหลือง 20% และ แดง 10% ผู้ป่วยที่มีอาการหนักระดับสีแดง 10 ราย มีอยู่ราว 4-5 รายจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และในจำนวนที่ใช้เครื่องช่วยหายใจทุก 10 ราย จะมีรายงานผู้เสียชีวิต 1-2 คน เป็นตัวเลขที่ทางกระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และนำไปสู่มาตรการการจัดการเตียงและระดมการรักษาที่สามารถไปทิศทางบริบทที่พบตอนนี้

  • เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคเรื้อรัง

จากการที่มีรายงานผู้เสียชีวิต 54 ราย ที่รายงาน เสียชีวิตในกทม. 30 ราย ปัตตานี 4 ราย สมุทรปราการและปทุม จังหวัดละ 3 ราย นครราชสีมา ยะลา และสมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย เชียงราย เพชรบุรี ชลบุรี นครปฐม ชัยภูมิ นราธิวาส นครศรีธรรมราช พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย

ปัจจัยเสี่ยงและความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่ยังเป็นโรคเรื้อรัง เบาหวาน ไขมัน ความดัน ยังเป็น 3 อันดับแรก อายุ 26 – 89 ปี เป็นชาวไทย 49 ราย เมียนมา 3 ราย ลาว 1 ราย และญี่ปุ่น 1 ราย ค่ากลางระยะเวลาวันที่ทราบผลติดเชื้อจนถึงเสียชีวิต 9 วัน นานสุด 62 วัน

การกระจายของผู้ติดเชื้อหากเป็นคนทั่วไป อายุน้อย อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า ใน 1000 ราย จะมีผู้เสียชีวิต 1 ราย แต่ตัวเลข จากกรมควบคุมโรค จะพบว่า ทุกๆ ผู้สูงอายุ 10 ราย จะมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ถือเป็น 10% ซึ่งค่อนข้างสูง ทำให้ทิศทางนโยบาย ที่ขอให้เร่งระดมฉีดวัคซีนแก่ผู้สูงอายุ

  • โควิด กทม. กระจาย 40 จังหวัด

ปริมาณผู้ติดเชื้อกทม. ปริมณฑล และต่างจังหวัดเท่ากัน คือ 50 – 50 ซึ่งจากเดิม ค่อนข้างเห็นว่ากทม.ปริมณฑล เป็นส่วนใหญ่ ต่างจังหวัดกระจายไม่กี่จังหวัด ตอนนี้สะท้อนให้เห็นว่า มีการเดินทางข้ามพื้นที่ของพี่น้องประชาชนจากพื้นที่สีแดง พื้นที่เสี่ยงกลับไปยังต่างจังหวัดทำให้ตอนนี้มีการกระจายติดเชื้อ 40 จังหวัด ได้แก่

ภาคเหนือ 11 จังหวัด 88 ราย

ภาคกลางและตะวันออก 9 จังหวัด 65 ราย

ตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด 218 ราย

ภาคใต้ 3 จังหวัด 6 ราย

  • อังกฤษติดเดลต้า2หมื่นหลังรับวัคซีนเข็ม 1

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า ที่เน้นย้ำเสมอมาในเรื่องของ ตัวเลขกทม. ปริมณฑล ตอนนี้ค่อนข้างพบสายพันธุ์เดลต้า มีการรายงาน กทม. ค่อนข้างเยอะ ดังนั้น พอจะคาดเดาได้ว่าที่ไปต่างจังหวัดจะเป็นสายพันธุ์เดลต้าส่วนหนึ่งเช่นกัน สายพันธุ์อัลฟ่าพบน้อยลง ขณะที่ 'เดลต้า' เริ่มพบในจำนวนมากในกทม.

จากที่มีการนำเสนอรายละเอียดของสายพันธุ์เดลต้าจะพบการระบาดมากใน อังกฤษ พบในประชากร เกิน 90% สหรัฐอเมริกา 20% โดยมีรายงานทั้งคนที่ได้รับวัคซีนเข็ม 1 และ 2 มีโอกาสติดเชื้อเดลต้าได้ โดยตัวเลขคร่าวๆ จากอังกฤษ มีผู้ติดเชื้อ 92,029 ราย ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดลต้า พบว่า กว่า 20,000 ราย มีรายงานรับวัคซีนเข็ม 1 ไปแล้ว และรับวัคซีนเข็ม 2 แต่ยังติดเชื้อ 7,235 ราย  

 

  • เร่งฉีดวัคซีนสูงอายุ ลดเสี่ยงเดลต้า 

โดยรวมจะมีข้อดี คือ คนที่ฉีดวัคซีน 8% ที่มีอาการหนัก นอน รพ. ทำให้ผู้เสียชีวิตต่ำลง ดังนั้น จึงเน้นย้ำว่าขอให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในครอบครัว ขอให้ผู้สูงอายุได้เข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะการรายงานจากการแพร่ระบาดสายพันธุ์ เดลต้า อาจทำให้พบการติดเชื้อสูง และผู้ที่มีโรคประจำตัวและสูงอายุ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง หากติดเชื้อจะมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิต หากได้รับการฉีดวัคซีนแค่เพียงเข็มแรก จะลดการป่วยหนัก และอัตราการตาย

  • เดลต้า แพร่เร็ว หวั่นผู้ป่วยแตะหลักหมื่น

ในแง่ของการแพร่ระบาด แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีความเป็นห่วง ตั้งแต่พบสายพันธุ์เดลต้า ในเดือนมิ.ย. 64 มีผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐฯ รายงานว่า เดลต้ามีความสามารถแพร่กระจายได้เร็ว มีการคาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ 2 เท่า ภายใน 2 สัปดาห์ ตอนนี้จะเห็นตัวเลข 1,000 ราย ไปสู่ 4,000 ราย และ มีโอกาสขึ้นไปถึง 10,000 รายต่อวันในสัปดาห์หน้า ดังนั้นจึงต้องเน้นย้ำมาตรการส่วนตัว เฝ้าระวังผู้สูงอายุ และเน้นย้ำการฉีดวัคซีนด้วย

  

  • 2 คลัสเตอร์ใหม่ กทม.

กทม. มีรายงานคลัสเตอร์ใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ พื้นที่มีนบุรี ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ มีรายการดูแลผู้สูงอายุ 38 ราย พบติดเชื้อ 6 ราย ผู้ดูแล 36 ราย พบเชื้อ 11 ราย และ ในพื้นที่บางนาใต้ โรงงานผลิตจิวเวลรี่ ดังนั้น ขณะนี้ มีคลัสเตอร์ที่รายงาน 118 แห่ง ทั้งระดับ เขียว เหลือง แดง

  • สีแดง รอเตียง 40-50 รายต่อวัน

ขณะที่ รายงานจาก กทม. พบว่า มีผู้ป่วยสีแดง ที่รอเตียงราว 40-50 ราย ต่อวัน สีเหลือ 200-300 รายต่อวัน ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่มีอาการเหนื่อยหอบ และมีอาการระบบทางเดินหายใจ หรือ ยังไม่มีอาการแต่ถือเป็นผู้มีความเสี่ยง สูงอายุ โรคประจำตัว ต่อให้ยังไม่มีอาการทางเดินหายใจก็จัดอยู่ในกลุ่มสีเหลืองด้วย สีเขียว 300-400 รายต่อวัน โดยตัวเลขสะสม 2 สัปดาห์ พบว่า แต่ละวันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งระดับ เขียว เหลือง แดง เข้ามาสูงขึ้นหลักพัน ขณะที่ การส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษา โดยเจ้าภาพหลัก คือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์เอราวัณ ก็มีศักยภาพในการขนผู้ป่วยที่ประมาณ 500 เที่ยวต่อวัน

  • ปชช ต่างจังหวัด เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงสูง

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า ต้องเน้นย้ำในจังหวัดปลายทาง เพราะรายงานทุกวันว่ามีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อต่างจังหวัดมากขึ้น สะท้อนวันนี้ว่า หากกทม. ผู้ติดเชื้อเป็นสายพันธุ์เดลต้า เป็นไปได้ว่าตอนนี้พื้นที่ของท่านเดลต้าเข้าไปแล้ว ดังนั้น ขอความร่วมมือไปยังทีมสาธารณสุข มหาดไทยในพื้นที่ เตรียมทีม จัดเตียงรองรับ ทีมสอบสวนโรค หากเจอ 1 คนต้องรีบตามคนสัมผัสเสี่ยงสูง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เฝ้าระวังบุคคลที่มาจากพื้นที่เสี่ยง พยายามเน้นย้ำในมาตรการการดูแลตนเองและบุคลากรทางกรรแพทย์ด้วยง