โคม่า‘โควิด’ ฆ่าตัวตายรายวัน ก่อนคิดปลดชีวิต โปรดนึกถึง‘สะมาริตันส์’

โคม่า‘โควิด’ ฆ่าตัวตายรายวัน  ก่อนคิดปลดชีวิต โปรดนึกถึง‘สะมาริตันส์’

วิกฤติ“โควิด”ในเมืองไทยตอนนี้ นอกจากทำให้คนจนลง มีหนี้ ป่วยจากโควิดไร้ที่พึ่ง หลายคนยังตกอยู่ในสภาวะแก้ปัญหาชีวิตไม่ได้ เลือกที่จะ“ฆ่าตัวตาย” ก่อนที่จะคิดสั้นๆ ลองยกหูระบายความในใจกับอาสาสมัคร"สะมาริตันส์'

แม้อัตราการเสียชีวิตจากไวรัส“โควิด”รายวันจะเยอะกว่าคนฆ่าตัวตาย แต่วินาทีนี้คนไทยเครียดทั้งประเทศ เพราะติดไวรัสโควิดง่ายมาก ติดโควิดแล้วไม่มีเตียงอีก วัคซีนก็เข้าถึงยาก ฯลฯ 

เรียกว่า ทุกข์กันถ้วนหน้า ทำให้กลุ่มคนที่เปราะบาง เลือกที่จะปลดชีวิตตัวเอง  

จากกรณีเมื่อเร็วๆ นี้...      

“เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ชายไทยวัย 84 ปีกระโดดตึกลงมาเสียชีวิต เพราะลูกสาววัย 57 ปี ผู้ป่วยติดเตียงติดเชื้อโควิด-19 รอโรงพยาบาล จนเสียชีวิต”

“เพจ Miss Tiffany's Universe ซึ่งเป็นเวทีการประกวดผู้หญิงข้ามเพศของประเทศไทย ออกมาแจ้งข่าวสุดเศร้าว่า แอ๊ฟ - ธนาภรณ์ วงศ์ประเสิร์ฐ Miss Tiffany's Universe ปี 1998 ซึ่งเป็นมิสทิฟฟานี่คนแรกของไทย ซึมเศร้าฆ่าตัวตาย จากไปในวัย 47 ปี”

“แม่เล่าถึงลูกว่า ก่อนเกิดเหตุ ลูกชายเล่าให้ฟังว่า เครียดที่ถูกกักตัวและเครียดเรื่องหนี้ที่ติดค้างไฟแนนซ์ 20,000 บาท ลูกชายกลัวไม่มีเงินผ่อนหนี้และกลัวจะเป็นคนนำเชื้อโควิดมาติดพ่อแม่ จึงมีความเครียด ไม่คิดว่าลูกชายจะมาคิดสั้นแบบนี้”

“พิษโควิดขายของไม่ได้ ผัว-เมีย ผูกคอ หนีหนี้"

ฯลฯ

  • เครียดเพราะโควิด

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กรมสุขภาพจิต รายงานว่า ในปี 2563 พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จไต่ระดับขึ้น โดยในใบมรณะบัตรที่ระบุสาเหตุการเสียชีวิตเป็นฆ่าตัวตาย พบว่าอยู่ที่ 7.3 ต่อแสนประชากร กลุ่มที่มีภาวะอ่อนล้าทางอารมณ์หรือภาวะหมดไฟในคนทั่วไปอยู่ที่ 6 % ส่วนกลุ่มเปราะบางคือ คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว คนที่ต้องกักกันตัว และญาติ จะอยู่ที่ 19 %

นอกจากนี้ พบว่า มีคนโทรปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 กับปัญหาความเครียดส่วนใหญ่เกี่ยวกับโควิด-19 ช่วงเดือนมกราคม 2564 จำนวน 1.8 แสนคน จากที่ในปี 2563 ทั้งปีมีคนโทรปรึกษาอยู่ที่  7 แสนคน

ความเครียดของคนไทยช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2564 ยังไม่มีการเก็บสถิติอัตราการฆ่าตัวตายอย่างเป็นทางการ แต่ที่แน่ๆ คือ มีการฆ่าตัวตายรายวันจากวิกฤติโควิด ทั้งเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว ปัญหาการป่วยจากโควิด และปัญหาไม่มีรายได้

“ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะมีคนโทรมาปรึกษาเรื่องไม่สบายใจ ปัญหาในครอบครัว ความขัดแย้งจากการทำงาน แต่พอไวรัสโควิดระบาด เรื่องจริงเลยคือไม่มีเงินซื้อข้าวกิน เพราะไม่ได้เตรียมตัวเรื่องการเงินไว้ เมื่อก่อนทำงานก็มีเงินหมุนเวียน กู้ยืมได้

โควิดมาทุกอย่างหยุดหมด แม้รัฐจะเยียวยา แต่ไม่ครอบคลุม จึงมีคนเป็นซึมเศร้าเยอะขึ้น และปัญหาแรงๆ ทั้งนั้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันตรีหญิงดร.พนมพร พุ่มจันทร์ อดีตผู้อำนวยการสะมาริตันส์ ทำงานมานานกว่า 20 ปี  โดยมีงานหลักเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย เล่าให้ฟัง

  162597431860

(ทางเลือกของคนไทยที่เหลือน้อยนิด)

  • รับฟังทุกเรื่องด้วยใจ

สะมาริตันส์’ เป็นอีกองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม ก่อตั้งครั้งแรกในประเทศอังกฤษเมื่อปีพ.ศ. 2496 ปัจจุบันมีศูนย์ทั่วโลกกว่า 400 แห่ง ใน 39 ประเทศ โดยสะมาริตันส์ ประเทศไทย ก่อตั้งปี พ.ศ. 2521 จากการริเริ่มของ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม เป็นการรวมตัวของอาสาสมัครชาวไทยและต่างประเทศจำนวน 40 คน ดำเนินงานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

พวกเขาทำงานแบบอาสาสมัครรับฟังด้วยใจ ไม่เปิดเผยชื่อ อาชีพ ที่อยู่ ซึ่งคนโทรเข้ามาสบายใจได้ แค่ฝากชื่อและเบอร์โทรกลับ แล้วอาสาสมัครจะติดต่อกลับ

อาจารย์พนมพร เล่าต่อว่า ทุกเคสที่โทรเข้ามาจะมีปัญหาแรงๆ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและความทุกข์ พอไม่มีเงิน ทุกเรื่องเป็นปัญหาหมด

“บางบ้านมีความขัดแย้งใช้คำรุนแรงในครอบครัว ถ้าเป็นเมื่อก่อนยังออกไปทำงาน ช่วงเวลาอยู่ด้วยกันไม่เยอะ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว

พอเจอโควิด ปิดประเทศ คนที่ทำธุรกิจบางคน อย่างแม่เลี้ยงเดี่ยว โทรมาปรึกษา มีอาการซึมเศร้าด้วย เพราะไม่มีเงินจ่ายลูกน้อง ลูกน้องก็ฟ้อง  ถ้าเป็นเรื่องไม่มีกินไม่มีใช้ เราก็ไม่รู้จะช่วยยังไง ก็มีบ้างที่ติดต่อหน่วยงานรัฐให้ช่วย"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

  • อยากให้คิดก่อนทำร้ายตัวเอง

เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่เปิดเผยตัวตน อีกฝ่ายก็เล่าด้วยความสบายใจ เพราะไม่รู้ว่าเป็นใคร อาจารย์พนมพร ในฐานะคนที่รับฟังความทุกข์มานานกว่า 26 ปี บอกว่า คนเราถ้าได้ระบายความในใจก็ได้ปลดปล่อย คนฟังต้องไม่ตำหนิ คนเล่าก็ได้ยินเสียงตัวเอง พอใจนิ่งๆ เย็นๆ ก็สบายใจ

บางคนเป็นซึมเศร้า บางทีคุยแล้วไม่ดีขึ้น ก็แนะว่าให้ไปพบจิตแพทย์ที่ดูแลด้านสารเคมีในสมอง เพราะต้องรับยา การไปหาจิตแพทย์ไม่ได้หมายถึงบ้า เราก็ชวนคุยให้อยู่ในโลกความจริง

จริงๆ แล้วคนที่มาปรึกษามีหลากหลาย บางคนมีความทุกข์ ซึมเศร้า และกลุ่มที่มีบุคลิกภาพผิดปกติ คนกลุ่มนี้เวลารักใครก็รักมาก แต่ถ้าผิดหวังจะเปลี่ยนไปอีกด้าน คนที่จะคบด้วยจะอยู่ยาก เวลาจะเริ่มคบใครสักคนคนก็ไม่คบด้วย ข้างในของเขาก็เลยดูว่างเปล่า

พอข้างในดูว่างเปล่า ก็ลงมือทำร้ายตัวเอง คนกลุ่มนี้พอได้เห็นเลือดตัวเองแล้ว เขาจะรู้สึกว่ายังมีชีวิตอยู่ เขาบอกว่าเวลากรีดแขนจะเจ็บทางกาย เหมือนช่วยชดเชยความเจ็บปวดของเขา บางคนต้องไปหาหมอ บางคนกินยาแล้วก็กินอีก กลายเป็นกินยาเกินโดส

 คือ คนกลุ่มนี้ถ้าเป็นซึมเศร้าจะเป็นเยอะกว่าซึมเศร้าปกติ คิดจะทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกเศร้าและไร้ค่า จะทำร้ายตัวเองเพื่อชดเชยบางอย่างในใจ ไม่ได้อยากฆ่าตัวตาย แต่ทำเพราะมีความขัดแย้งในใจ

บางคนไม่สบายใจไม่รู้จะหาทางออกยังไง ก็กลับเข้ามาที่ตัวเอง กรีดแขนมีอาการทางจิตเวช เริ่มมีความคิดไม่เหมาะสมก้ำกึ่งไปมา เป็นอาการอีกประเภทของความผิดปกติทางจิต"

อย่างไรก็ตาม อาจารย์พนมพร บอกว่า ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหน ก็รับฟังอย่างตั้งใจ การรับฟังช่วยได้เยอะ 

"บางทีเขารู้สึกเคว้งคว้าง เพราะไม่มีใครในชีวิตแล้ว อาสาสมัครก็ต้องช่วยหาพลังในชีวิตของเขา เพื่อให้อยู่ต่อไป" 

.....................

สะมาริตันส์ เบอร์ติดต่อโทร 02-713-6793