ทีมCCRพบชุมชนเขตเมืองผู้สูงอายุเกือบ100% ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด19
สธ.เผยชุมชนเขตเมืองปัญหาซับซ้อน ผู้ติดเชื้อเข้าไม่ถึงการรักษา ผู้สูงอายุเกือบ 100% ไม่ได้
ฉีดวัคซีน จัดทีมเชิงรุก CCR Team 188 ทีม กทม.ร่วมกับ สธ. บูรณาการตรวจคัดกรอง ดูแลรักษาที่บ้าน ประสานส่งตัวผู้มีอาการรุนแรงเข้ารพ. ฉีดวัคซีน
วันนี้ (19 กรกฎาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงทีมปฏิบัติเชิงรุก “CCR Team” ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ว่า พื้นที่เขตเมืองโดยเฉพาะ กทม. มีความซับซ้อนของปัญหา คือ ประชาชนเมื่อเจ็บป่วยติดเชื้อเข้าไม่ถึงระบบบริการหรือออกมาจากบ้านไม่ได้ ขณะที่หน่วยบริการก็เข้าไปไม่ถึงหรือเข้าถึงแต่ดูแลได้ไม่เบ็ดเสร็จ เนื่องจากการดูแลไม่ใช่มิติการควบคุมโรคเพียงอย่างเดียว ยังมีเรื่องการดูแลรักษา การฉีดวัคซีน การตรวจค้นหาเชิงรุก อาหาร ความเป็นอยู่ เช่น ลูกติดเชื้อแต่ต้องดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ถือว่ามีความหลากหลายในการทำงานและการแก้ไขปัญหา ซึ่งหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาในชุมชนได้ทั้งหมด ดังนั้นความร่วมมือสำคัญระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และกทม. รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ เช่น คลินิกชุมชนอบอุ่น ภาคเอกชน ภาคประชาชน จัดตั้งทีมปฏิบัติการเชิงรุก Comprehensive COVID-19 Response Team (CCR Team) บูรณาการการทำงานร่วมกันดูแลอย่างเบ็ดเสร็จ
การดำเนินงานของ CCR Team จะมีการสำรวจปัญหาโดยหารือกับผู้นำชุมชน ว่าบ้านใดมีผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ป่วยติดเตียง และเข้าไปให้ความช่วยเหลือ, ตรวจคัดกรองด้วยการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ในการลงชุมชน ทำความเข้าใจกับประชาชนว่าแม้คัดกรองแล้วแม้ผลลบ ยังต้องปฏิบัติตนเหมือนติดเชื้อหรือเสี่ยงติดเชื้อตลอดเวลา โดยการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ส่วนผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงจะนำเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาล โดยประสานระบบการแพทย์ฉุกเฉินในการส่งต่อ ผู้ติดเชื้ออาการเล็กน้อยและปานกลางจะดูแลไม่ให้เกิดอาการรุนแรงจนเสี่ยงเสียชีวิต, ช่วยเหลือการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ส่งแพทย์เข้าไปดูแลและยารักษา เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อต่อ รวมทั้งการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์
“ผู้สูงอายุในชุมชนที่ซับซ้อนเหล่านี้เกือบ 100% ไม่ได้ฉีดวัคซีน เพราะลงทะเบียนไม่เป็น หรือลงทะเบียนได้แต่ไม่มีผู้พาไปฉีดวัคซีน หากไม่ดำเนินการฉีดวัคซีนภายในระยะเวลานี้ ภายใน 7-14 วัน ภาพสถานการณ์ไม่เกิน 1 เดือนข้างหน้า กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้อาจติดเชื้อ ซึ่งจะมีโอกาสอาการรุนแรง เสียชีวิตได้” นายแพทย์รุ่งเรืองกล่าว
นายแพทย์รุ่งเรืองกล่าวว่า ความสำคัญของการดำเนินงานเรื่องนี้ คือ ความต่อเนื่อง ไม่ได้เข้าไปทำเป็นครั้งๆ แล้วจบไป โดยจะมองปัญหาและประชาชนในพื้นที่เป็นตัวตั้ง ดูแลประชาชนเหมือนคนในครอบครัว โดยสัปดาห์ที่แล้วได้ส่งหน่วยทดลองหน่วยแรกลงพื้นที่ ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. และหน่วยบริการปฐมภูมิเอกชน ที่ซอยลาซาล และเขตทวีวัฒนา มีเป้าหมายขยายผล 188 ทีมครอบคลุมพื้นที่ กทม. ดำเนินการต่อเนื่องอย่างน้อยอีก 2 เดือน
โดยกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนชุดตรวจ ยา วัคซีน จากเดิมที่ต้องมาสถานพยาบาล และจะขยายทั่วประเทศในพื้นที่เขตที่มีปัญหาการเข้าไม่ถึง ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่สามารถติดต่อให้ทีมลงไปช่วยดูแลได้ผ่านหน่วยบริการสุขภาพในพื้นที่ ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น หรือโทร. 1422 และในกรณีฉุกเฉิน โทร. 1669