เหตุใด ‘มิลลิ’ แรปเปอร์อายุ 18 กล้าปะทะคารมกับนายกฯ
#SAVE มิลลิ แฮชแท็กร้อนแรงในวันนี้ เมื่อแรปเปอร์ออกมา ‘Call Out’ แล้วสิ่งที่เธอพูด มันมีเหตุและผลที่ควรฟังหรือไม่ ในแง่สิทธิเสรีภาพ เรื่องนี้มีคำอธิบายอย่างไร
จากปรากฏการณ์ดาราออกมา Call Out หลายคน ทำให้ สนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร อดีตผู้สมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือถึง พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ให้ตั้งคณะกรรมการติดตาม กำกับ ดูแล ตรวจสอบ กรณีการ call out ของดารา, นักร้อง, ผู้มีชื่อเสียงเกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง
เข้าข่ายกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.ก.สถานการณ์การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ โดยมีรายชื่อของ ตั๊ก ศิริพร อยู่ยอด, นุ้ย เชิญยิ้ม ชูเกียรติ เอี่ยมสุข, ณภัทร ชุ่มจิตตรี หรือ คิงก่อนบ่าย, เอกชัย ศรีวิชัย, มดดำ คชาภา ตันเจริญ, เพชร การุณพล เทียนสุวรรณ, แม็ก ณัฐวุฒิ เจนมานะ, ดนุภา คณาธีรกุล, ปอย ตรีชฎา
ต่อมา ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ก็ได้ออกมากล่าวเตือน ดารา-อินฟลูเอนเซอร์ ใช้โซเชียลโจมตีรัฐบาลบิดเบือนข้อมูล เข้าข่ายเฟกนิวส์ ว่า
มิลลิ ดนุภา ธนาธีรกุล
"ขอความกรุณาสำหรับกลุ่มดารา นักแสดง รวมถึง อินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ อย่าใช้โซเชียลมีเดียเคลื่อนไหวทางการเมืองโจมตีรัฐบาล เพราะสิ่งที่ทำเป็นการบิดเบือนข้อมูล เป็นการสร้างเฟคนิวส์ขึ้นในระบบโซเชียลมีเดีย...
กระทรวงดิจิทัลฯ พบว่ามีการโพสต์หรือแชร์ข้อความที่เข้าข่ายการกระทำความผิด ทั้งหมด 147 ราย จากเฟซบุ๊ก 15 ราย ทวิตเตอร์ 132 ราย ทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการตามข้อกฎหมายต่อไป
การโพสต์หรือแชร์ข้อความผิดกฎหมายลงในระบบคอมพิวเตอร์/ผ่านโซเซียล จะมีโทษ...เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
บุคคลที่ถูกหมายเรียกเป็นคนแรกคือ ดนุภา ธนาธีรกุล หรือ มิลลิ (Milli) แรปเปอร์หญิง อายุ 18 ปี สังกัด YUPP! เป็นที่รู้จักจากเพลง พักก่อน และ สุดปัง
มิลลิ เข้าสู่วงการจากการประกวดเดอะแร็ปเปอร์ ซีซันที่ 2 มีสไตล์การร้องเพลงที่แหวกแนว อย่างเพลง พักก่อน ได้แรงบันดาลใจมาจากเพื่อนในโรงเรียนที่ใช้ภาษาลู ภาษายอดฮิตของเพศที่สาม มีการนำภาษาอังกฤษและภาษาไทยถิ่นอีสานมาใช้ เปิดตัวไป 1 วัน มีผู้ชมยูทูบ 300,000 วิว (13 มิถุนายน 2564 มียอดผู้ชม84,315,535 วิว)
ซิงเกิลต่อมาคือ เพลง สุดปัง มีการใช้ภาษาทั้งสี่ภาคและภาษาลูในการร้อง มีผู้ชมยูทูบ 39,139,323 วิว (13 มิถุนายน 2564) และเป็นตัวแทนศิลปินไทยไปร่วมงาน 88rising เฟสติวัลออนไลน์ระดับโลก สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย
เมื่อเดือนเมษายน มิลลิ ออกมาโพสต์ทวิตเตอร์ ว่า "ตอนนี้ ประชาชนต้องพึ่งกันเองแล้วนะคะ ว้าว รัฐบาลที่หนูไม่เลือก แต่หนูต้องรับกรรม, เมื่อไรจะเลิกหากินกับประชาชนน้าา จ่ายภาษีแท้ๆ ตะกละกันจริงๆ นะคะเนี่ย, โอเค ฉีด เรือดำน้ำ 2 โดส จะเอาวัคซีนมั้ย, สละแค่เงินเดือนของตำแหน่งเดียว แต่ตัวเองดำรงอยู่ 56 ตำแหน่ง ว้าว เป็นประเดชประคุณจริงๆ เลยค่ะ (ประชด)"
และยังโพสต์อยู่เรื่อยๆ กับสำนวนประชดประชันรัฐบาล...
มิลลิ ดนุภา ธนาธีรกุล
- ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก
ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค Ponson Liengboonlertchai เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ว่า
"เรามาถึงจุดที่ต้องมา call out รัฐบาล .... หลายคนพูดนะครับว่า ให้เลิกเสพข่าว เพราะมันมีแต่ข่าวเศร้าหดหู่ ผมว่าในความเป็นจริง คงไม่ง่ายแบบนั้น ความเครียดมันไม่ได้เกิดมาจากการเสพข่าวหรอกครับ แต่มันคือ สิ่งที่ประชาชนเจออยู่ในชีวิตประจำวันจริงๆ จากคนในครอบครัวบ้าง จากคนใกล้ตัวบ้าง
โควิดและผลกระทบมันเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนมากกว่าแค่เป็นประเด็นการรายงานข่าวครับ ปัญหาใหญ่ของประเทศตอนนี้คือ ประชาชนมีสิทธิ แต่รัฐไม่รู้จักหน้าที่"
นอกจากนี้ อาจารย์พรสันต์ ยังได้กล่าวในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า การแสดงออกเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
"กรณีที่ท่าน รัฐมนตรีดีอีเอส ออกมากล่าวว่า จะฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ออกมาวิจารณ์รัฐบาล ผมเห็นว่าคำกล่าวเช่นนี้ไม่ถูกต้อง และอาจทำให้ประชาชนเข้าใจหลักกฎหมายผิดไป จึงขออธิบายหลักกฎหมายดังนี้
1) ไม่ว่าจะเป็นดารานักแสดง หรือใครก็แล้วแต่ รวมถึงคนธรรมดาอย่างเราๆ มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of opinion) ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (Fundamental rights) ของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครอง หากเขามีความคิดความเห็นอย่างไรต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล
หรือแม้แต่ท่าน รมว. เอง ตราบเท่าที่ไม่ได้ไปด่าทออย่างไม่มีเหตุมีผล พวกเขาย่อมมีเสรีภาพที่ทำได้เสมอ รัฐธรรมนูญคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนตรงนี้ อันเป็นการสอดคล้องกับหลักการในทางกฎหมายอาญาที่รับรองว่า ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดได้โดยไม่ถือว่าเป็นความผิดหากเป็นการติชมอย่างสุจริต
2) ท่าน รมว. ต้องเข้าใจว่า “รัฐบาล” รวมถึงท่านเองเป็น “องค์กรของรัฐ” (Public entity) หรือเจ้าหน้าที่รัฐ (Public official) ที่เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนของประชาชน ท่านไม่ใช่ “องค์กรเอกชน” (Private entity) หรือเอกชนทั่วๆ ไป
การที่ประชาชนแสดงความคิดความเห็นจึงเป็นกรณีที่ “เจ้าของอำนาจอธิปไตย” ซึ่งอนุญาตให้พวกท่านเข้าไปทำงานอยู่ตอนนี้ กำลังตรวจสอบพวกท่าน ตามครรลองของ “ระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน” ตามหลักและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ “รัฐบาลจึงมีหน้าที่” ที่จะต้องรับฟังการแสดงความคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ของประชาชน
3) จากข้อ 2 หากท่านเห็นว่า ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์บนฐานข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง รัฐบาลหรือท่านเองสามารถชี้แจงถึงข้อเท็จจริงทำความเข้าใจกับประชาชน หาใช่ดำเนินการฟ้องร้องทางกฎหมาย
ซึ่งกรณีเช่นนี้ "ศาล" ในต่างประเทศ ก็เคยมีคำวินิจฉัย ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, แคนาดา ฯลฯ รวมถึงศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights) ที่เคยมีคำวินิจฉัยดคีที่เกี่ยวกับกรณีรัฐบาลฟ้องเอกชนไว้อย่างชัดเจนว่า
“องค์กรของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ควรต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนบนความอดทนอดกลั้นต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่สูงกว่าองค์กรอื่นๆ”
มิลลิ ดนุภา ธนาธีรกุล
ผมคิดว่าทางรัฐบาลเองอาจต้องกลับไปทบทวนและทำความเข้าใจให้ดีเสียใหม่ว่า ท่านเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศได้เพราะใคร หากไม่ใช่เพราะประชาชนอนุญาต การมาไล่ดำเนินคดีกับประชาชนไม่ว่าบุคคลใด นอกจากจะเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำตามข้อเท็จจริงแล้ว ก็ยังเป็นการขัดแย้งกับหลักการทางรัฐธรรมนูญและตัวบทกฎหมายอีกด้วย
- การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล (Criticism of government) คือเสรีภาพในการแสดงออกอันเป็นหัวใจสำคัญที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองสำหรับการถกเถียงอภิปรายได้อย่างเสรี (Free discussion) เพราะเสรีภาพนี้ทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของรัฐบาลที่จะต้องรับผิดชอบต่อการทำงานของตนเอง”
ล่าสุด 22 กรกฎาคม 2564 ดนุภา คณาธีรกุล หรือ มิลลิ ได้เดินทางไปรับฟังข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการโพสต์ที่ไม่เป็นความจริง ที่ สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง
ในคดีนี้ผู้แจ้งความกล่าวหาคือ อภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี หรือ คตส. ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 32/2563 ลง 21 กันยายน 2563
โดยตำรวจได้เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 2000 บาท ข้อหาดูหมิ่นด้วยการโฆษณา ใช้ถ้อยคำไม่สุภาพแสดงความคิดเห็นบนทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ โดยผู้กล่าวหาแจ้งว่าไม่ติดใจเอาความ คดีอาญาเป็นอันเลิกกัน
ทางด้านทนายความกล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ มิลลิ ยังจะแสดงความเห็นต่อ ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ