ทำความรู้จัก 'คิวคิว' สตาร์ทอัพจัดระบบคิวฉีดวัคซีน ตรวจเชิงรุกโควิด

ทำความรู้จัก 'คิวคิว' สตาร์ทอัพจัดระบบคิวฉีดวัคซีน ตรวจเชิงรุกโควิด

ความแออัดที่เกิดจากการรอคอย 'ฉีดวัคซีนโควิด-19' หรือตาม 'จุดตรวจเชิงรุก' ถือเป็นความเสี่ยงในการแพร่ระบาดเชื้อโควิด 'คิวคิว' ในฐานะเทคสตาร์ทอัพซึ่งเข้ามาช่วยจัดระบบคิวจุดฉีดวัคซีน และจุดคัดกรอง ลดความแน่นขนัด ลดความเสี่ยงเกิดคลัสเตอร์ใหม่

โควิด-19 ซึ่งถือเป็นตัวเร่งเทคโนโลยีจากเดิมที่คนมองว่าเข้าถึงยาก แต่ขณะนี้กลับถูกผลักดันมาใช้เพื่อความอยู่รอดในหลายภาคส่วน มีสตาร์ทอัพหลายกลุ่มที่ตอบโจทย์สถานการณ์ขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นปรึกษาแพทย์ทางไกล เช็กจุดเสี่ยง หรือแม้กระทั้งการจัดระบบรอคิวอย่าง “คิวคิว” (QUEQ) แอปพลิเคชั่นที่ช่วยจัดระบบการรอคอยการตรวจเชิงรุก ฉีดวัคซีน ลดความแน่นขนัด ลดการติดเชื้อระหว่างรอ ไม่ต้องรอข้ามคืน ช่วยลดอัตราเสี่ยง และการแพร่เชื้อ เนื่องจากว่ากันว่า 20% หรือ 1 ใน 5 รอบตัวเรามีโอกาสผลเป็นบวก

  • จุดเริ่มต้นของ 'คิวคิว' กับการมีส่วนร่วมในโควิดระลอกแรก

“รังสรรค์ พรมประสิทธิ์” CEO & Co-Founder บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า คิวคิวเป็นเทคสตาร์ทอัพ ความตั้งใจแรกคือแก้ปัญหาเรื่องการรอคิวฝั่งผู้รับบริการ ทำให้การเข้าแถว การรอหายไป เป้าหมายแรกจึงเป็นร้านอาหาร ขยายสู่ธนาคาร โรงพยาบาลรัฐและเอกชน ลดการรอคอย ความแออัด และจัดการระบบภายในมากกว่า 50 แห่ง

“คิวคิวเข้ามาช่วยในสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรก ที่ศูนย์ตรวจโควิด-19 Rapid Test ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้จองทางแอปพลิเคชั่นตามเวลา 50 คนต่อวัน โดยใช้เก้าอี้เพียง 5 ตัว เพราะกระจายคนแต่ละชั่วโมง เป็นบทพิสูจน์เล็กๆ ว่า พอมีกฎกติกาอะไรที่ทำให้เชื่อได้ว่าเขาได้รับคิวตามเวลา เขาจะไม่มากระจุกตัว เข้าคิวต่อแถวเพราะอันตรายมาก”

หลังจากนั้นเริ่มนำระบบคิวคิวไปใช้ในสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ลดการกระจุกตัวเนื่องจากช่วงนั้น คนไทยอยากกลับบ้าน และต้องทำ Fit to Fly Certificate จากเดิมที่ออกันเต็มหน้าสถานทูต คนโล่งตั้งแต่วันแรกที่เปิดใช้งาน หลังจากนั้น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้ความสนใจในการใช้กับชาวต่างชาติที่ตกค้างในไทย ประมาณ 7-8 จังหวัด ในจังหวัดท่องเที่ยว ขยายไปทดลองระบบที่ สำนักงานตำรวจ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมไปถึงอุทยานแห่งชาติทั้งหมดขึ้นมาอยู่บนคิวคิว ทำให้อุทยานแห่งชาติสามารถป้องกัน ลดความแออัดในพื้นที่ จำกัดคนในการเข้าพื้นที่ได้

162781774530

โควิดระลอกใหม่ จัดระบบคิวฉีดวัคซีน 'ตรวจเชิงรุก'

กระทั่งโควิด-19 ในรอบนี้ ที่อัตราการติดเชื้อรุนแรงและหนัก ได้เข้าไปช่วยบริหารจัดการในจุด 'ฉีดวัคซีนโควิด-19' กว่า 10 จุด รวมถึง 'จุดคัดกรองเชิงรุก' 9 จุด และกำลังขยายไปเกือบทุกเขตใน กทม. เพื่อไม่ให้เกิดการแน่นขนัด จนอาจสร้างเป็นคลัสเตอร์ใหม่ได้

คนที่ไปตรวจโควิด-19 มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มต้องการเข้าถึงการรักษาระบบสาธารณสุข เพราะหากไม่มีใบยืนยันติดโควิด ก็ไม่สามารถเข้ากระบวนการ Home / Community Isolation ได้ หรือแม้กระทั่งหาเตียงก็หาไม่ได้หากไม่มีใบยืนยันว่าติด กับ กลุ่มคนทำงานโรงงาน หากไม่มีใบตรวจจะไม่ได้เข้าทำงานรายได้หายทันที โดยจุดตรวจแรกๆ ที่ใช้ระบบคิวคิว คือ สนามกีฬาธูปะเตมีย์ ของสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และ ที่เขตพระโขนง พอลองแล้วได้ผล ตอนนี้แทบจะทุกเขตขึ้นมาที่ระบบคิวคิวเกือบหมด”

“อย่างน้อยเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ จากการที่ไปตรวจ เพราะขณะนี้ 20% หรือ 1 ใน 5 ของคนรอบๆ เรา คือ Positive ดังนั้น เรื่องนี้เสี่ยงมาก ๆ มากกว่าผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนเสียอีก” รังสรรค์ กล่าว

162781722752

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

  

  • เทคโนโลยี ไม่ใช่อุปสรรคกลุ่มสูงวัย

ทั้งนี้ จากคำถามที่ว่า เทคโนโลยีจะทำให้กลุ่มสูงวัยเข้าถึงระบบจองคิวยากหรือไม่ “รังสรรค์” อธิบายว่า ไม่จริงเลยเพราะทุกที่ที่ไปดำเนินการ ในชุมชน มีผู้สูงอายุจำนวนมากเขาหาทางเข้าถึงจนได้ ไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน หรือผ่านหัวหน้าชุมชนที่รู้จักวิธีการใช้งานไม่ได้มีปัญหา บางเขตก็มีวิธีของเขา เช่น แบ่งโควตาเชิงรุก ไม่ได้เปิดทั้งหมดเป็นออนไลน์ แต่ให้หัวหน้าชุมชนส่งรายชื่อมา และแยกเวลาออกมาให้สำหรับชุมชน เป็นการเปิดให้กลุ่มที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี

“หากเทียบว่ารอคิวบ่ายสามเพื่อตรวจพรุ่งนี้ 8 โมงเช้า เราจะทรมานขนาดไหน นั่นคือ เวลาที่เราเสียไป ตอนนี้โควิด-19 เกี่ยวข้องกับชีวิต หากการติดเชื้อแพร่ระบาดกระทบถึงระบบสาธารณสุข จะเป็นการเติมกลุ่มผู้ป่วยใหม่ๆ เข้าไปอีก เราช่วยในส่วนที่ช่วยได้ ทำอย่างไรให้ความเสี่ยงในการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ที่จะเติมเข้าไปในระบบของสาธารณสุขลดลง”

  • จัดระบบคิวไปแล้วมากกว่า 1 แสนคิว

ข้อมูล 28 ก.ค. 64 คิวคิวช่วยจัดระบบ “จุดฉีดวัคซีน 10 แห่ง” ตั้งแต่ 20 พ.ค. - 26 ก.ค. 64 คิวสะสมทั้งหมด 112,294 คิว ได้แก่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค , เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท , ไอคอนสยาม , ศูนย์บริการฉีดวัคซีน พัทยา , รพ.ศรีธัญญา , รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จามจุรีสแควร์ ชั้น4) , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อาคารจามจุรี 9) , ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

ขณะที่ “จุดตรวจเชิงรุก 9 แห่ง” ให้บริการตั้งแต่ 16 – 28 ก.ค. 64 คิวสะสมทั้งหมด 29,454 คิว ได้แก่ พระโขนง , คลองสาน , ธูปเตมีย์ , เขตวัฒนา , ปทุมวัน , ยานนาวา , ดุสิต , ธนบุรี และบางแค

162781722714

 

  • เป็ดไทยสู้ภัย รวมสตาร์ทอัพสู้โควิด

ตอนนี้มีการรวมสตาร์ทอัพหลายกลุ่มเป็น “เป็ดไทยสู้ภัย” ช่วยเหลือในหลายพื้นที่ อาทิ ดำเนินการระบบให้ รพ.สนาม ของจุฬาฯ และ กองทัพอากาศ (ทอ.) ภารกิจถัดไป คือ ศูนย์พักคอย รพ.สนาม ทำอย่างไรให้รับเคสสีเหลืองให้ได้ การจ่ายยา ทำ Home Isolation โดยร่วมมือกับภาครัฐ กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมอนามัย สำนักงานเขต กทม. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. (DGA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) รวมศูนย์ข้อมูลเตียง รพ.สนาม ศูนย์พักคอย เพื่อให้เป็นระบบ เก็บเป็นดาต้า ลิ้งค์ถึงกัน เพื่อให้ง่ายต่อการส่งต่อผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยสีเหลืองมีโอกาสเป็นแดงสูงมาก และแดงหากหาเตียงใน รพ. ไม่ได้ ก็คือไปแน่นอน

“เป็นช่วงเวลาที่ภาครัฐต้องการเทคโนโลยีเข้าไปสนับสนุนการทำงาน สามารถจับมือกันได้เหมือนที่หลายประเทศทำ ให้ฝั่งภาครัฐดูเรื่องใหญ่ๆ เช่น วัคซีน ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือการวิจัยวัคซีนของไทยให้สำเร็จ ส่วนเรื่องเล็กๆ ให้หน่วยงานจับมือกับเอกชน ที่มีเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ได้และทำได้เร็ว เพราะมันเกี่ยวกับชีวิต ต้องให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งจากเดิมให้ได้”

“ตอนนี้ต้องทำให้ได้เร็วที่สุด ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน สิ่งหนึ่งที่จะต้องคอนโทรลให้ได้ คือ ข้อมูล ทำให้ทำงานสอดคล้องกัน ทั้งนี้ หากไม่ใช้เทคโนโลยีเราจะควบคุมอะไรไม่ได้เลย ยุคนี้จึงเป็นยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนชีวิต และน่าจะเปลี่ยนเราไปตลอด” CEO & Co-Founder QUEQ กล่าวทิ้งท้าย   

  • ร่วมสนับสนุนการทำงานของ 'คิวคิว'

ปัจจุบัน คิวคิว ได้เข้ามาช่วยในสถานการณ์โควิด-19 ฟรี โดยประชาชนทั่วไปสามารถร่วมสนับสนุนการทำงานได้ที่ เว็บไซต์ “เทใจดอทคอม” ในโครงการ “คืน 30 ล้านชั่วโมง คิวดีไม่รอฉีดนาน” เพื่อเป็นต้นทุนค่าอุปกรณ์ เน็ตเวิร์ค การติดตั้งระบบคิว ค่าจัดการและให้บริการในแต่ละจุด เป้าหมาย ติดตั้งจุดให้บริการฉีดวัคซีนและจุดตรวจโควิด-19 จำนวน 50 จุด