ทำความเข้าใจ ผู้ป่วย 'ไบโพลาร์' อยู่ร่วมช่วงอารมณ์เปลี่ยนขั้ว
จิตแพทย์เผยคนไทยป่วย “ไบโพลาร์” น้อยกว่าซึมเศร้า 10 เท่า แนะวิธีอยู่ร่วมกับคนป่วยไบโพลาร์
นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า โรคไบโพลาร์ เป็นโรคอารมณ์ 2 ขั้ว ที่มีทั้งซึมเศร้า และอารมณ์พุ่งพล่าน คึกคัก หรือ แมนเนียร์ รุนแรง ทั้งดีใจขั้นสุดยอด โกรธรุนแรง มีความมั่นใจในตัวเองสูง ใครพูดอะไรไม่ฟัง ต่างกับซึมเศร้า ที่จะมีอาการซึมเศร้าหดหู่อย่างเดียว ปัจจุบันประเทศไทยพบคนซึมเศร้ามากกว่าไบโพลาร์ จากการศึกษาติดตามตัวเลขผู้ป่วยเมื่อ 5-6 ปี ทีผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยซึมเศร้า ประมาณ 1 ล้านคน ส่วนไบโพลาร์ พบได้น้อยกว่า มีเฉลี่ย100,000 คน
“โรคไบโพลาร์ จะมีอาการสลับเป็นช่วงๆ บางคนมีภาวะอารมณ์ที่เป็นแมนเนียร์ เฉลี่ยปีละ 6-7 ครั้ง แต่ละช่วงเวลาไม่เท่ากัน บางครั้งมีภาวะแมนเนียร์นานถึง 1-3 เดือน และมีช่วงเวลาซึมเศร้า 1-2 เดือน ช่วงเวลาที่ภาวะทางอารมณ์ แต่ละขั้วแสดงอาการก็แตกต่างกัน โดยช่วงซึมเศร้า หดหู่ อาจคิดฆ่าตัวตาย ส่วนช่วงแมนเนียร์ มั่นใจในตัวเองสูง ร่าเริง ไม่หลับไม่นอน นอนน้อยแต่ก็สดชื่น และ ความมั่นใจในตัวเอง ส่วนนี้เมื่อมีการทะเลาะวิวาท จะเป็นคนไม่ยอมคน และเสี่ยงที่จะใช้ความรุนแรง” นพ.ธรณินทร์ กล่าว
“ถ้าคนเป็นไบโพลาร์เป็นผู้ชาย ช่วงอารมณ์ แมนเนียร์ เสี่ยงทะเลาะวิวาทและทำร้ายผู้อื่น แต่หากเป็นผู้หญิง ด้วยสรีระ ก็มีความเสี่ยงที่จะทั้งทำร้ายคนอื่น และถูกคนอื่นทำร้ายได้ง่าย เพราะอารมณ์ที่สุดขั้วรุนแรง ทำให้ไม่ยอมคนหรือฟังใครง่ายๆ ดังนั้น คนที่ใกล้ชิดต้องเข้าใจ และโอนอ่อน เพื่อให้ภาวะอารมณ์รุนแรงนั้นคลี่คลาย หากรู้ว่าผู้ป่วยมีการแสดงอาการในช่วงนั้น” นพ.ธรณินทร์ กล่าว
ส่วนการรักษา ในคนป่วยซึมเศร้า เป็นการแสดงอาการซึมเศร้าหดหู่แบบเพียวๆ เกิดจากสารสื่อประสาทในสมอง แพทย์จะจ่ายยาต้านซึมเศร้าเพื่อบรรเทาอาการ
ส่วนคนเป็นไบโพลาร์ ก็มีการจ่ายยาเช่นกัน เพราะเกิดความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง แต่รักษายากกว่า ทั้งนี้สำหรับโรคนี้ ในคนทั่วไป หากเป็นคนช่างสังเกต สามารถสังเกตได้ถึงความผิดปกติของคนใกล้ชิด ว่ามีอาการของโรคไบโพลาร์หรือไม่ โดยดูจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
ในช่วงเป็น "แมนเนียร์" จะทำอะไรผิดปกติ กว่าที่เคยทำ แสดงออกอย่างมั่นใจในตัวเอง หลุดจากความจริง เช่น พูดเก่งกว่าปกติ แต่งตัวสีสันสดใส มั่นใจในตัวเอง มีความจริงจัง มีไอเดียมาก ไม่ฟังความเห็นใคร จากปกติที่อาจเคยพูดน้อย ทั้งนี้หากพบคนที่มีอาการ ควรหยุดโต้เถียงด้วย
การสังเกตคนที่เป็นไบโพลาร์ได้อย่างไร และมีวิธีปฏิบัติตัวหรือนำผู้ป่วยรักษาอย่างไร พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โดยปกติมี 2 ส่วน คือ 1.ผู้ป่วยจะรับรู้ได้ว่า มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ที่ควบคุมตัวเองได้ไม่ดี แต่ยังพอรับรู้ได้บ้าง และเข้าสู่การรักษาเองก็มี และกลุ่มที่ 2 รู้ว่าควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ แต่ไม่คิดจะรักษา และไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองเป็น จึงต้องอาศัยคนรอบข้างมาช่วย ก็จะช่วยให้เข้าสู่การรักษาได้ แต่ก็มีบางกลุ่มที่ยังอยู่ระหว่างที่ไม่เข้าใจตัวโรค และไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นภาวะโรคที่สามารถรักษา และจำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนคนที่อยู่ร่วมกับคนที่เป็นไบโพลาร์ ส่วนใหญ่จะทราบว่าพฤติกรรมหรือการใช้ชีวิตจะไม่เหมือนคนทั่วไป เช่น คนที่เคยรู้จัก แปลกไปจากเดิม ไม่เหมือนเดิม หรือในกรณีคนที่ป่วยโรคนี้ แต่ไม่คิดรักษา ตรงนี้คนใกล้ชิดก็ต้องพยายามชักจูงพาพวกเขาเข้าสู่การรักษา
กรณีคนที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า คนที่ก่อความรุนแรงต่างๆ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ป่วยจิตเวชเสมอไป ซึ่งหากเป็นผู้ป่วยจิตเวชพบ 1 ใน 3 ไม่ถึงครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ มีปฏิกิริยาตอบโต้ทันทีทันใด และยิ่งมีอาวุธในมือก็ยิ่งทำให้เกิดขึ้นง่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คือ ลักษณะนิสัยของบุคคลที่ขาดการควบคุมตัวเอง ในการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น จะบอกว่าไม่มีสติ ก็เป็นส่วนหนึ่ง
แต่บางคนไม่มีสติ ก็ไม่ถึงขั้นต้องใช้ความรุนแรง เรื่องนี้ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพราะหากควบคุมไม่ได้ จะกระทบต่อการดำเนินชีวิต ทั้งตัวเองและผู้ป่วย ยิ่งคนอื่นจะเข้าใจได้ยาก ทำไมเราคุมอารมณ์ไม่ได้ ซึ่งใครไม่แน่ใจก็ปรึกษาสายด่วน 1323 ได้ว่าป่วยทางสุขภาพจิตหรือไม่ หรือมีปัญหาการควบคุมอารมณ์ ซึ่งสามารถรักษาได้ หากกรณีมีโรคร่วมก็ต้องให้ยา แต่หากเป็นพฤติกรรมสะสมมา และไม่มีการฝึกฝนควบคุมอารมณ์ตัวเองก็รักษาด้วยการเข้าสู่พฤติกรรมบำบัด