น้ำนมแม่ ‘วัคซีน’ หยดแรกของ ‘ลูกน้อย’
"วันแม่" เดือนสิงหาคมในช่วง “โควิด-19” ระบาดหนักเช่นนี้ “แม่” หลายท่านตระหนักถึง “วัคซีน” หยดแรกที่ควรค่าแก่ลูกสุดที่รัก นั่นก็คือ “น้ำนมแม่” วันนี้จึงขอนำเสนอแง่คิด ของคุณแม่ที่ตั้งใจมอบภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด
ของขวัญแรกเกิดที่ดีที่สุดสำหรับ ลูกน้อย ก็คือ น้ำนมแม่ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และยังเป็น “วัคซีน” หยดแรกสำหรับทารกน้อย
พีรญา ลาวัณย์วิสุทธิ์ พูดถึงการคลอดลูกชายคนที่สองเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ว่า เธอตั้งใจที่จะคลอดแบบธรรมชาติตามที่ตกลงไว้กับโรงพยาบาลนครปฐม และตั้งใจให้ “น้ำนมแม่” แก่ลูกได้ดื่มกินภายในชั่วโมงแรกหลังคลอดบุตร แต่ทุกอย่างกลับไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพราะลูกชายต้องคลอดก่อนกำหนด ทำให้เธอไม่มีน้ำนมมากพอที่จะให้นมลูกในทันที แต่ทันใดที่เธอให้นมลูกเองได้ในเช้าวันถัดมา คุณแม่วัย 39 ปีก็ตั้งใจว่า จะให้นมลูกต่อไปอีก 6 เดือนเป็นอย่างต่ำ เช่นเดียวกับลูกชายคนโตของเธอ
ในช่วงการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” หลายคนอาจจะสงสัยว่าการให้ “นมลูก” ปลอดภัยแค่ไหน ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า “โควิด-19” สามารถติดต่อผ่าน “น้ำนมแม่” องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟจึงแนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องแม้ว่าแม่จะติดเชื้อ “โควิด-19” หรือมีความเสี่ยงสูงก็ตาม อย่างไรก็ดี แม่ควรรักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด เช่น ใส่หน้ากากอนามัยขณะให้นมลูก ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ และหมั่นเช็ดฆ่าเชื้อพื้นผิวต่างๆ เป็นประจำเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ “โควิด-19”
เพราะอะไร การให้นมลูกจึงเป็นสิ่งควรทำ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาด “โควิด-19” เป็นเพราะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะปกป้องทารกน้อยจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นอกจากนี้การให้นมจากเต้า และโอบกอดลูกยังเป็นการเสริมสร้างสายใยรักระหว่างแม่กับลูกได้อย่างยอดเยี่ยมอีกด้วย
ยิ่งในช่วงของการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ทำให้ น้ำนมแม่ มีความสำคัญต่อทารกยิ่งกว่าเวลาไหนๆ ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงศิราภรณ์ สวัสดิวร เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า “ในขณะที่ผู้ใหญ่ยังมีวัคซีนเพื่อป้องกันตัวเอง แต่สำหรับทารกแล้ว นมแม่เปรียบเสมือนวัคซีนหยดแรกสำหรับเขา”
ด้าน คยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็กทั้งในช่วงแรกเกิดไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่น่าเสียดายที่ประเทศไทยกลับมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกที่ค่อนข้างต่ำ นั่นหมายความว่า เด็กจำนวนมากกำลังพลาดโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตอย่างดีที่สุด”
ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟพบว่า มีเด็กเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกของชีวิต ซึ่งลดลงจากร้อยละ 23 ในพ.ศ. 2559 นั่นหมายความว่า มีเด็กจำนวนมากกำลังพลาดโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตอย่างดีที่สุด
เนื่องในสัปดาห์ “นมแม่โลก” ระหว่างวันที่ 1-7 สิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าจะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วย “น้ำนมแม่” ในช่วงหกเดือนแรกของชีวิตให้ได้ถึงร้อยละ 50 ภายในพ.ศ. 2568 แต่การจะทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นไปได้สำหรับแม่และเด็กทุกคนในช่วงแพร่ระบาดและหลังจากนั้น ต้องอาศัยความพยายามและทุ่มเทของครอบครัว เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และสังคมโดยรวม
หลังจากค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาพักใหญ่ วัชราพร ภัทรสัตยากร เชื่อว่า “น้ำนมแม่” นอกจากจะเป็น “วัคซีน” หยดแรกสำหรับเด็กทารกแล้ว ยังเป็นการมอบจุดเริ่มต้นที่ดีในชีวิตให้กับเด็กอีกด้วย “ฉันกลัวว่าลูกจะโตมาสุขภาพไม่ดี เช่น เป็นภูมิแพ้”
ตังเธอเองก็ได้รับ “วัคซีน” จากแม่ของเธอด้วยเช่นกัน จึงตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะมอบโอกาสแบบเดียวกันนี้ให้ลูกสาวที่เพิ่งคลอดไม่กี่เดือนก่อนที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ก่อนกลับบ้านคุณแม่มือใหม่วัย 32 ปีต้องฝึกเอาลูกเข้าเต้ากับเจ้าหน้าที่จากศูนย์นมแม่ของโรงพยาบาลเพื่อให้แน่ใจว่าเธอจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองเป็นเวลาอย่างน้อยหกเดือนอย่างที่ตั้งใจ
ทว่าการเลี้ยงลูกด้วย “น้ำนมแม่” นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ความท้าทายสำหรับแม่หลายคนไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาด “โควิด-19” เช่นนี้ “พีรญา” ซึ่งเป็นคุณแม่ลูกสองในจ. นครปฐม เป็นคนหนึ่งยอมรับว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วง “โควิด-19” ระบาดหนักนั้นยากกว่าที่ผ่านมา เพราะเมื่อเกือบหกปีที่แล้วถ้าหากมีปัญหาเกี่ยวกับการให้นมลูก เธอสามารถนัดพบกับผู้เชี่ยวชาญที่คลินิกนมแม่ได้ทันที
แม้ว่าคลินิกนมแม่จะถูกปิดชั่วคราว เพราะบุคลากรทางการแพทย์ต้องดูแลคนไข้ “โควิด-19” พีรญา และบรรดาแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีกมากกว่า 200 คนยังสามารถขอคำปรึกษาจากพยาบาลผ่านห้องแชตไลน์ได้ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งยวดในยามนี้ที่เธอต้องการคำปรึกษา เช่น วิธีการแก้จุดขาวคล้ายสิวที่หน้าอกที่เธอเจอในการให้นมลูกเป็นต้น
คุณแม่ทั้งสอง “วัชราพร” และ “พีรญา” ต่างให้ความสำคัญกับความสะอาดเป็นพิเศษในช่วงเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาเชื้อ “โควิด-19”ด้วยตัวเองเป็นประจำ การเข้ารับวัคซีน “โควิด-19” ตามกำหนด หรือการทำความสะอาดสิ่งของที่ส่งมาที่บ้านทุกชิ้น ตลอดจนการพบปะกับญาติมิตรผ่านทาง VDO Call แทนการให้มาเยี่ยมที่บ้าน
“วัชราพร” ที่อาศัยอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ ต้องจัดสรรที่พักอาศัยแยกให้เธอและลูกสาวอยู่อย่างเป็นสัดส่วน ปู่และย่าต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่เจอหน้าหลาน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ “โควิด-19” ในขณะเดียวกัน การเลี้ยงลูกด้วย “น้ำนมแม่” ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ทำให้คุณแม่ทั้งสองต้องวางแผนเป็นอย่างดี เช่นปั๊มน้ำนมเก็บไว้
“เพราะเราไม่รู้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราอาจจะป่วยจนให้นมลูกไม่ได้ แต่ลูกก็จะยังคงได้รับสารอาหารจากน้ำนมที่เราปั๊มเอาไว้ให้” วัชราพรชื่อว่า “น้ำนมแม่” คือ “วัคซีน” หยดแรกที่ดีที่สุดสำหรับ “ลูกน้อย”