'หญิงตั้งครรภ์'ติดโควิด19โอกาสเข้าไอซียูสูงกว่า 2-3เท่า

'หญิงตั้งครรภ์'ติดโควิด19โอกาสเข้าไอซียูสูงกว่า 2-3เท่า

สธ.เผยหญิงตั้งครรภ์ติดโควิดเฉลี่ย 50- 60รายต่อวัน เสียชีวิตสะสม 53 รายฉีดวัคซีนแล้วเพียง 2 ราย  ทารกเสียชีวิต 23 ราย  ย้ำโอกาสติดเชื้อเข้าไอซียูสูงกว่า2-3 เท่า ขณะที่อัตราฉีดวัคซีนโควิด19เพียง 10 %แนะรีบเข้ารับการฉีด

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 19 สิงหาคม 2564 ในการแถลงสถานการณ์โควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข ประเด็น “การฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์”  โดยนพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย  กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ และทารกแรกเกิด ระหว่าง 1 เม.ย. -18 ส.ค. 2564  พบว่า มารดาที่ติดโควิด19 สะสม 2,327 ราย เป็นคนไทย 1,590 ราย ต่างชาติ 737 ราย  เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50-60 รายต่อวัน  โดยผู้ติดเชื้อเคยได้รับวัคซีน 22 ราย เสียชีวิต 53 ราย ส่วนทารกติดเชื้อ  119 ราย เสียชีวิต 23 ราย

     ทั้งนี้ จังหวัดที่มีการติดเชื้อค่อนข้างมากคือจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัดสูงสุด คือ กรุงเทพฯ 462 ราย สมุทรสาคร 356 ราย ปทุมธานี 97 ราย ยะลา 82 ราย สงขลา 80 ราย พระนครศรีอยุธยา 76 ราย นราธิวาส 75 ราย สมุทรปราการ 74 ราย ขอนแก่น 56 ราย และสุรินทร์ 50 ราย  ขณะที่การฉีดวัคซีนยังค่อนข้างน้อย จนถึงวันที่ 19 ส.ค. 2564 ประมาณ 2 หมื่นรายแต่เป้าหมายที่มีหญิงตั้งครรภ์ปีละประมาณ 5 แสนราย เท่ากับยังไม่ถึง 10 %

    

       .

 

จากการวิเคราะห์การเสียชีวิตมารดาที่ติดโควิด 19 จำนวน 53 ราย พบว่า ปัจจัยเสี่ยง คือ อ้วน อายุ 35 ปีขึ้นไป เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ใช้สารเสพติด และโรคธาลัสซีเมีย และมีประวัติการฉีดวัคซีนเพียง 2 รายแต่เพิ่งฉีดไม่กี่วันแล้วติดเชื้อ  ส่วนแหล่งสัมผัสเชื้อ เป็นการติดเชื้อจากบุคคลในครอบครัวถึงครึ่งหนึ่ง สถานที่ทำงาน ตลาด งานเลี้ยงและไม่มีข้อมูล

     ทั้งนี้ 13 คำถามที่พบบ่อยโรคโควิด 19 กับสตรีตั้งครรภ์ ได้แก่ 1.สตรีมีครรภ์ถ้าติดโรคโควิด19แล้วจะมีอันตรายหรือไม่ พบว่า อันตายมากกว่าสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ มีโอกาสเข้า ICU สูงกว่า 2-3 เท่า ใช้เครื่องหายใจสูง 2.6- 2.9 เท่า โอกาสเสียชีวิตตัวเลขในประเทศไทย 1.5-8 คนใน 1,000 คน ถือว่าค่อนข้างสูง 2.ปัจจัยที่ทำให้อาการรุนแรงและเสียชีวิต คือ อ้วน อายุมาก มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานก่อนตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ 3.สตรีตั้งครรภ์ถ้าติดเชื้อส่งผลต่อลูกหรืไม่  พบว่าคลอดก่อนกำหนด 1.5 เท่า ตายคลอด 2.8 เท่า ทารกมีโอกาสเข้าไอซียู 4.9 เท่า โอกาสที่ทารกติดเชื้อ 3-5% แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ 

4.สตรีตั้งครรภ์ไปตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด 19หรือไม่  ควรไปตรวจโดยเร็วถ้าสงสัยว่าจะติดเชื้อ เช่น มีอาการ ไข้ ไอ หายใจติดขัด เจ็บคอ มีน้ำมูก และกรณีที่ไม่มีอาการแต่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง  ควรตรวจเบื้องต้นด้วย ATK ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนได้เลย 5.สตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อจะมีอาการอะไร พบว่าไม่แตกต่างจากทั่วไป ส่วนใหญ่ ไอ ปวดศีรษะ ปาดกล้ามเนื้อ ไข้ เจ็บคอ หายใจเหนื่อย จมูกไม่ได้กลิ่นหรือลิ้นไม่รับรส และอ่อนเพลีย 

            6.สตรีตั้งครรภ์ถ้าพบติดเชื้อจะต้องทำอย่างไร   ถ้าไม่มีอาการอะไรเลยหรือมีอาการ กรณีกลุ่มสีเขียวสามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ หากช่วงอยู่ที่บ้านมีอาการเปลี่ยนแปลง เหนื่อย หอบ มีไข้สูง ต้องเข้าระบบการรักษาในรพ.หรือสถานพยาบาลอื่นๆที่มีบุคลากรทางการแพทย์ให้การดูแล 7.สตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อจำเป็นต้องผ่าท้องคลอดหรือไม่ พบว่าครึ่งหนึ่งผ่าคลอด อีกครึ่งหนึ่งคลอดธรรมชาติ 8.กรณีติดเชื้อหลังคลอดจะกอดหรืออุ้มลูกได้หรือไม่  ถ้ากลุ่มสีเขียวสามารถกอดหรืออุ้มลูกได้ ให้นมจากเต้าได้ แต่ต้องสวมหน้ากากตลอด  ล้างมือก่อนและหลังสัมผัสลูก เช็ดทำความสะอาดหัวนม และลานเต้านมด้วยน้ำอุ่น งดหอมแก้มโดยเด็ดขาก หากมีอาการไอจาม อาจจะต้องหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดลูก

      9.ถ้ามีการติดเชื้อแล้ว จะให้ลูกดูดนมจากเต้าได้หรือไม่  ถ้าแม่ไม่มีอาการอยู่ในกลุ่มสีเขียงสามารถให้ดูดนมจากเต้าได้ แต่ต้องล้างมือก่อนหลังสัมผัสลูก ใส่หน้ากาก เช้ดทำความสะอาดบริเวณหัวนมลานเต้านมให้สะอาด กรณีมีอาการ ไม่แนะนำให้ดูดนมจากเต้า แต่ให้ปั๊มนมใส่ถุงให้ญาติป้อน 10.คนที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ต้องงดให้นมลูกหรือไม่ งดให้นมลูกเพราะยาขับออกมาทางน้ำนมได้ กรณีฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 แล้วสามารถให้นมลูกได้ตามปกติ

        11.กรณีสตรีตั้งครรภ์จะฉีดวัคซีนโควิด19 ต้องทำอย่างไร  อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปขอให้ไปฉีดวัคซีนโควิด 19 ซึ่งคำแนะนำจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ มีหลายสูตร คือ 1. เข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า 2. สูตรแอสตร้าฯ 2 เข็ม 3. สูตรไฟเซอร์ 2 เข็ม ทั้งนี้กรณีจะเร่งสร้างภูมิคุ้มกันเร็วที่สุดคือสูตรที่ 1 ซิโนแวคเข็มแรก และตามด้วยแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่ 2 เพราะใช้เวลาห่างระหว่างเข็มแค่ 3 สัปดาห์ และเกิดภูมิหลังจากนั้น 2 สัปดาห์ ส่วนสูตรที่ 2 ระยะห่างระหว่างเข็ม 8 สัปดาห์ ส่วนสูตรที่ 3 ไฟเซอร์ เข้ามาไม่มาก ยังไม่เพียงพอต่อการฉีดหญิงตั้งครรภ์ที่มีกว่า 500,000 คน อีกทั้งยังต้องฉีดกลุ่มเสี่ยง 608 ด้วย  สำหรับผลข้างเคียงไม่แตกต่างจากคนทั่วไป จึงไม่ต้องกังวล

   12.ถ้าฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้วพบว่าตั้งครรภ์จะทำอย่างไร  สามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ  เพียงแต่โดยปกติคนที่ตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก หรือ 3 เดือนแรกจะมีอัตราการแท้งตามธรรมชาติ 10-12% จึงให้เลี่ยงการฉีดวัคซีนในไตรมาสแรก เพื่อไม่ให้เกิดความกังวลใจว่าแท้งจากวัคซีนหรือไม่ และ13.สตรีที่วางแผนจะตั้งครรภ์ จะฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้หรือไม่ สามารถฉีดวัคซีนได้ หลังฉีดไม่ต้องเว้นระยะการมีบุตร  ไม่ต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อนฉีด และไม่มีหลักฐานว่าการฉีดจะทำให้มีลูกยาก  อย่างไรก็ตาม ขอให้หญิงตั้งครรภ์เน้นการทำงานที่บ้าน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยง