3 เทรนด์ 'สมุนไพร' ยอดฮิตจากทั่วโลก แนะไทยศึกษาวิจัยสู่เชิงพาณิชย์
จากวิกฤตกลายเป็นโอกาสสำหรับ 'อุตสาหกรรมสมุนไพร' ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น และไม่ใช่มีความต้องการเฉพาะคนไทยที่หันมาสนใจสมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพ แต่ทั่วโลกหลายๆ ประเทศ กำลังศึกษาวิจัยเพื่อค้นหา 'สมุนไพร' ที่จะสามารถช่วยป้องกัน รักษา ลดการแพร่ระบาดของโควิด
ประเทศไทย สมุนไพร ถูกใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิต ผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อาหารเสริม ยาสมุนไพร
- ดัน 'สมุนไพร' ไทยป้องกันโควิด-19
ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สวก. กล่าวในงานเสวนา ศักยภาพของสมุนไพรไทย ในการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูโควิด-19 ว่าสวก.ได้ให้การสนับสนันทุนวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ได้ใช้งบประมาณไปแล้ว 580 กว่าล้านบาท และมีงานวิจัยมากกว่า 200 โครงการ
สมุนไพรที่ให้ทุนได้แก่ กระชายดำ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ไพล รวมถึงตำรับยาต่างๆ เช่น ตำรับยาห้าราก เพื่อพัฒนาสมุนไพรทั้งระบบ ค้นหาสรรพคุณ และทำยาให้มีใช้เพียงพอในประเทศ เกิดความมั่นคงของยา สุขภาพ รวมถึงยกระดับความสามารถในการแข่งขันของตลาดสมุนไพรของประเทศด้วย
“การพัฒนาสมุนไพรไทยให้เติบโตได้ต้องเน้นไปที่ต้นน้ำ การปลูก การพัฒนาสายพันธุ์โดยใช้เทคโนโลยีที่ได้มาตรฐาน รวมถึงการรับรองวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ขณะที่กลางน้ำ ต้องจัดทำข้อกำหนดต่างๆ ให้สอดคล้องกับตำราสมุนไพร และตำรับยาแผนโบราณ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในวงการสุขภาพและค้าขายในต่างประเทศ อีกทั้งต้องพัฒนายาใหม่ และสารอาหารที่มีสรรพคุณป้องกัน รักษา และฟื้นฟูโรค มีทั้งการวิจัยทั้งในเชิงนโยบาย และมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่ตลาดอุตสาหกรรมไทยตรงกับความต้องการของตลาดโลก”ดร.สุวิทย์ กล่าว
ในปี 2564 สวก. ได้สนับสนุนพัฒนาตำรับยาห้าราก เพื่อศึกษาประสิทธิภาพยับยั้งทำลายในการป้องกันโควิด-19 และให้ทุนกับมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาสเปรย์พ่นปากสารสกัดจากยาฟ้าทะลายโจร
- 3เทรนด์ 'สมุนไพร' โลกสู่พาณิชย์
ภก.รศ.ดร.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญสมุนไพรของสหประชาชาติ และอาจารย์ประจำวิทยาลัยการแพทย์ตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สมุนไพรในกระแสโลกตอนนี้ มีอยู่ 3 เทรนด์ คือ
1.สมุนไพรเสริมภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะเห็ด ขมิ้นชันในต่างประเทศมีการศึกษาเรื่องนี้จำนวนมาก และมีผลิตภัณฑ์มากมายเพื่อนำมาใช้เสริมภูมิคุ้มกัน
2.สมุนไพรลดความเครียด
3.สมุนไพรที่ช่วยเสริมการนอน
ซึ่งเทรนด์เหล่านี้ล้วนเกิดจากความต้องการในการใช้สมุนไพรเพื่อป้องกัน รักษา และฟื้นฟูโควิด-19 ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการก้าวสู่ตลาดสมุนไพรระดับโลกต้องศึกษาวิจัย ผลิตผลิตภัณฑ์ ยาสมุนไพร อาหารเสริมที่สอดคล้องกับเทรนด์โลก
“โควิด-19 เป็นยุคโอกาสของสมุนไพร หลายประเทศทั่วโลกได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรที่จะนำมาใช้ในโรคโควิด-19 ประมาณ 100 งานวิจัย และมีการดำเนินการเสร็จแล้ว 42 งานวิจัย กำลังศึกษาในผู้ป่วย 33 งานวิจัย และที่เหลือกำลังทดลองในหลอดทดลอง หรือสัตว์ทดลอง เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในการใช้ยา อาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โดยเฉพาะยาสมุนไพร ที่ในขณะนี้ มีความต้องการยาสมุนไพรกว่า 80% จากเดิมที่มีความต้องการเพียง 60%” ภก.รศ.ดร.สุรพจน์ กล่าว
- ตำรับยาวิจัยต่อยอดรักษาโควิด
ภก.รศ.ดร.สุรพจน์ กล่าวต่อว่าการผลิตพัฒนายาสมุนไพร จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ฉะนั้น การศึกษาวิจัยอันนำไปสู่เวชศาสตร์เชิงประจักษ์ จะเป็นการพิสูจน์ทางการแพทย์ มีผลชัดเจนในคนไข้ว่ายามีประสิทธิภาพ และความปลอดภัย เป็นการควบคุมคุณภาพตั้งแต่การผลิต การสกัดและผลิตภัณฑ์
ตอนนี้กลุ่มประเทศที่ประสบความสำเร็จในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับตำรับยาแผนโบราณของประเทศตัวเอง ได้แก่ จีน และอินเดีย ซึ่งสำเร็จไปแล้วประเทศละ 4 ตำรับยา และมีการนำมาใช้รักษาโควิด-19 ประเทศไทยต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยต่อเนื่อง เลือกตำรับยาต่างๆ ในการรักษาทางเดินหายใจ อาการไข้ ซึ่งมี 77 ตำรับยามาศึกษาอย่างจริงจัง อาจจะเป็นโอกาสของไทยในการพัฒนายาสมุนไพรเพื่อป้องกันโควิด-19 ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'ขมิ้นชัน' สมุนไพรตัวช่วย ยับยั้งการขยายตัวของไวรัส
แนะการเลือกใช้ 'ยาสมุนไพรไทย-จีน' ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูโควิด-19
เมนู 'อาหารสมุนไพร' เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านโควิด ดีต่อสุขภาพดีต่อใจ
- กลไกยกระดับวิจัย 'สมุนไพร'ไทย
“ไทยมีภูมิปัญญา มีทรัพยากรที่จะเอื้อในการปลูกสมุนไพร การสกัดสมุนไพร มีงานวิจัยในการพัฒนาสมุนไพรอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องศึกษาเกณฑ์การขึ้นทะเบียนยาสมุนไพรทั่วโลก ดูกฎหมายในประเทศว่าเอื้อในการสนับสนุนหรือไม่ ต้องมีเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นน้ำ สารสกัด และผลิตภัณฑ์ มีการทดสอบเรื่องประสิทธิภาพ ความปลอดภัย มีคุณภาพที่ไม่ได้อิงเฉพาะในประเทศ ซึ่งหากทำได้ สมุนไพรไทยจะเป็นอีกหนึ่งความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในการแข่งขันสู่ตลาดโลกได้” เภสัชกร รศ.ดร.สุรพจน์ กล่าว
ภก.วราวุธ เสริมสินสิริ ผู้อำนวยการกองผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่าการจะยกระดับงานวิจัยด้านสมุนไพร เพื่อให้การศึกษาวิจัย นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ท้องตลาดนั้น กลไกที่ทำอยู่ตอนนี้ดีระดับหนึ่ง แต่โดยส่วนตัวมองว่าควรมีการปรับปรุงเพิ่มเติมเชื่อมโยงกฎระเบียบ ซึ่งต้องมีทั้ง 3 กลไก คือ
กลไกแรก อยากให้มีระบบจัดประเภทตั้งแต่เริ่มแรกของการวิจัย ว่าจะผลิตเป็นประเภทไหน เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดต่างๆในแต่ละประเภทนั้น
กลไกสอง ควรเติมเต็มข้อมูล องค์ความรู้ในแต่ละสมุนไพรให้ชัดเจนว่าสอดคล้องกับการขออนุญาตจากอย. หรือการกำหนดโรคในการรักษา
กลไกที่สาม ควรมีกลไกระบบพี่เลี้ยงเข้าไปช่วยดูแลการผลิต การขออนุญาต ช่วยออกแบบงานวิจัย เมื่อผลงานวิจัยออกมาจะได้ขออนุญาตจากอย. หรือสามารถผลักดันเข้าสู่ บัญชียาแห่งชาติ ช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านยา สุขภาพ และเพิ่มมูลค่าให้แก่สมุนไพร