อัพเดท! ไทยฉีด’วัคซีนโควิด’สูตรไหน-ให้ใคร
สธ.ย้ำวัคซีนโควิด 19 ป้องกันเสียชีวิต เทียบเคียงไทย-เวียดนาม ติดเชื้อใหม่รายวันไทยสูงกว่าแต่ยอดเสียชีวิตน้อยกว่า สอดคล้องความครอบคลุมวัคซีน 1 เข็ม ระบุสูตรวัคซีนฉีดในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เผยผลข้างเคียงสูตรไขว้ไม่ต่างสูตรอื่น
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 25 สิงหาคม 2564 ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด 19 เพิ่มขึ้น 585,214 โดส ฉีดสะสม 28,197,659 โดส แยกเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 21,231,498 ราย คิดเป็น 29.5 % และครบ 2 เข็ม 6,405,537 ราย คิดเป็น 8.9 %
เมื่อพิจารณาสถิติย้อนหลัง 7 วันในส่วนของผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิต ในการระบาดตั้งแต่ 1 เม.ย.-23 ส.ค. 2564 เทียบเคียงสถานการณ์ของประเทศไทยและเวียดนาม โดยประเทศไทยมีจำวนผู้ป่วยต่อวันเฉลี่ยที่ 2 หมื่นราย สูงกว่าเวียดนามที่เฉลี่ยต่อวันราว 1 หมื่นราย ซึ่งแม้ว่าคลื่นการระบาดจะมาพร้อมๆกัน เพิ่มสูงมากช่วงปลายเดือนมิ.ย.แต่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ของเวียดนามน้อยกว่าไทยครึ่งหนึ่ง
ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิต ปรากฏว่าเวียดนามเฉลี่ยอยู่ที่ 350 รายต่อวัน สูงกว่าไทยที่อยู่ที่ 250 รายต่อวัน โดยความครอบคลุมวัคซีนเข็ม 1 ของไทยอยู่ที่ 28 % ส่วนเวียดนาม 15 % สะท้อนส่วนหนึ่งว่า ผลของวัคซีนเป็นผลสำคัญที่ทำให้ลดการเสียชีวิต ซึ่งในรายงานการเสียชีวิตแต่ละวันของประเทศไทย จะมีผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มนานเกิน 14 วัน ราว 1-2 รายต่อวันจากที่มีผู้เสียชีวิต 200 ราย แสดงว่าวัคซีนป้องกันเสียชีวิตได้ดีทุกตัวที่ประเทศไทยใช้อยู่
นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ในเรื่องปริมาณวัคซีน นายกรัฐมนตรีได้มีการปรึกษากับประธานบริหารบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งการส่งมอบวัคซีนในช่วงหลังของปีนี้ แต่เดิมทั้งปีอาจจะได้ 40-45 ล้านโดส แต่เมื่อเจรจาแล้วมีข่าวดีว่าแอสตร้าฯจะมีการเร่งในการส่งมอบให้ครบ 61 ล้านโดสภายในปีนี้ เพราะฉะนั้น การมีแอสตร้าฯที่มากและมีซิโนแวคเพิ่มขึ้น มาไขว้กันจะทำให้การฉีดมีความครอบคลุมสูงยิ่งขึ้น รวดเร็วตามเป้าหมายที่จะให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนที่ปรับสูตรเป็นซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯนั้น เป็นแนวทางที่มีการปรับเปลี่ยนให้มีการใช้ทั่วประเทศแล้ว กรณีผู้ที่ฉีดเข็ม 1 เป็นซิโนแวคแล้วในใบนัดหมายเข็มที่ 2 เป็นซิโนแวค เมื่อ ไปถึงวันนัด น่าจะได้รับการเปลี่ยนเป็นตามนโยบาย
การฉีดวัคซีนสูตรต่างๆสำหรับประชาชนไทย แยกเป็น 3 ส่วน คือ 1.กลุ่มเป้าหมายประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ผู้สูงอายุ ผู้มีกลุ่มโรคเรื้อรัง 7 โรค หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป โดยจะมี 2 สูตร คือ สูตรที่ 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์เป็นสูตรหลัก หรืออาจมีบางกรณีที่จำเป็นทางการแพทย์ หรือเข็มที่ 1 เป็นแอสตร้าฯอยู่แล้วก็จะเป็นสูตรที่ 2 คือ วัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์
2.กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปีที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรค หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป จะได้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์
3.กลุ่มเป้าหมาย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า
-ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม ให้วัคซีนไฟเซอร์ หรือแอสตร้าฯ กระตุ้น 1 เข็ม
-ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ซิโนฟาร์ม หรือแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ให้วัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 2 โดยกำหนดระยะห่างระหว่างโดสตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลัก
-วัคซีนซิโนแวคเข็มแรก และตามด้วยแอสตร้าฯ เข็มที่ 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์ (สูตรไขว้)
-วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์
- วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์
“ การกระจายของวัคซีนที่ผ่านมา ในส่วนไฟเซอร์ยังมุ่งเน้น 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม และในรอบต่อไปของไฟเซอร์ที่จะมา 30 ล้านโดส ก็จะทยอยส่งมอบ ส่วนซิโนแวค 12 ล้านโดสก็จะมาไขว้กับแอสตร้าฯ ซึ่งไม่ต้องกังวลเรื่องการฉีดวัคซีน โดยการติดตามอาการไม่พึงประสงค์กรณีการฉีดไขว้ ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมของการฉีดวัคซีนแต่ละตัว แต่ละเข็ม เพราะฉะนั้น ถ้าเงื่อนไขตรงตามหลักเกณฑ์ไม่ต้องกังวล โดยรวมสามารถปฏิบัติตามนโยบายทิศทางนี้ได้ทั้งหมด และมีทางเลือกสำหรับบางคนที่อาจจะมีประวัติแพ้ ก็ใช้สูตรที่เป็นทางเลือกได้ ” นพ.เฉวตสรร กล่าว