แปลง "ขยะพลาสติก" เป็นวัสดุก่อสร้าง สร้างรายได้ชุมชน
"ขยะทะเล" นับเป็นปัญหาของคนทั่วโลก โดยเฉพาะพลาสติกที่ตกค้างในทะเล ก่อให้เกิดไมโครพลาสติก ทำลายสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อสัตว์น้ำ การนำ 'พลาสติก' กลับมาใช้ประโยชน์ แปรรูปเป็นวัสดุก่อสร้าง เป็นอีกหนึ่งแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดผลกระทบ สร้างรายได้ชุมชน
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Conservation.org ระบุว่า ปริมาณพลาสติกที่คนเราทิ้งลงทะเลในแต่ละปีสูงถึง 7.9 พันล้านกิโลกรัม หรือเท่ากับน้ำหนักของวาฬสีน้ำเงิน 57,000 ตัว หากสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป คาดการณ์กันว่า อีกไม่เกิน 30 ปีต่อจากนี้ หรือปี 2593 ปริมาณพลาสติกจะมากกว่าปลาในมหาสมุทรรวมกัน
รายงานระบุอีกว่า พลาสติก ในทะเลส่วนใหญ่นั้นมาจาก จีน และอินโดนีเซียมากกว่าแหล่งอื่น โดยรวมกันแล้วคิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณพลาสติกทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น ในข้อมูลชุดดังกล่าวยังระบุด้วยว่า กว่า 80 % ของมลพิษพลาสติกทั้งหมด มาจาก 20 ประเทศในโลกเท่านั้น และหนึ่งในนั้นก็คือ สหรัฐอเมริกา ขณะที่ประเทศไทย ซึ่งสร้างขยะกว่า 27 ล้านตันต่อปี และมักมีขยะที่หลุดลอยในทะเลไทยกว่า 10 ล้านตันทุกปี
- ขยะทะเล...สู่...การเพิ่มรายได้ชุมชนระยอง
ล่าสุด เกิดความร่วมมือของ 3 ฝ่าย ได้แก่ ประชาคมวิจัย ภาคเอกชน และภาคชุมชน รวม 6 องค์กร ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ลงนามความร่วมมือ ขับเคลื่อนโครงการ “ขยะทะเล...สู่...การเพิ่มรายได้ชุมชนระยอง” ร่วมกับ กลุ่มชุมชน เกาะกก และ ชุมชนหมู่บ้านเอื้ออาทร (วังหว้า) จ.ระยอง ถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้างจากพลาสติกใช้แล้วให้กับชุมชน หวังสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต ลดปัญหาขยะในทะเลไทยอย่างยั่งยืน
- วช. ขับเคลื่อนงานวิจัย
“ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง" ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ความร่วมมือ โครงการ“ ขยะทะเล ...สู่…การเพิ่มรายได้ชุมชนระยอง” ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการนำผลงานการวิจัยและนวัตกรรมของ “แผนงานวิจัยท้าทายไทย : ทะเลไทยไร้ขยะ” สู่การนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม แก้ไขปัญหาและการจัดการขยะอย่างครบวงจร โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะพลาสติก สร้างรายได้แก่ชุมชน สร้างความตระหนักต่อปัญหาการจัดการขยะในวงกว้าง ลดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะขยะพลาสติก
สอดคล้องกับโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก ปี 2561 – 2573 ด้วยงานวิจัย นวัตกรรม ขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ การแปรรูป สร้างรายได้ชุมชนและวิสาหกิจชุมชน ผลักดันสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม สร้างเครือข่าย ภาครัฐ เอกชน ชุมชน ในพื้นที่ เป็นชุมชนต้นแบบนำร่อง จ.ระยอง ขยายผลสู่ชุมชนอื่นในอนาคต สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มุ่งลดของเสียและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ม.เกษตร วิจัย นวัตกรรม นำขยะแปรรูป
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และเป็นผู้บริหารแผนงานวิจัยท้าทายไทย : ทะเลไทยไร้ขยะ” ที่มีเป้าประสงค์ในการจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกในทะเล และดำเนินการการวิจัยในหลายส่วน รวมทั้งนวัตกรรมการนำขยะพลาสติกมาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมีเครือข่ายนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นผู้ร่วมดำเนินการ
“ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์” อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า การลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเล มีการจัดเก็บยากพอสมควร การมีเทคโนโลยี จะทำให้ลดปริมาณขยะ ลดไมโครพลาสติก ที่มีผลต่อคุณภาพน้ำ และสัตว์น้ำ ถัดมา คือ มีผลิตภัณฑ์ที่นำพลาสติกมาใช้ประโยชน์เป็น Circular นำขยะที่แทบจะไม่มีมูลค่า มาสร้างมูลค่า และร่วมกับชุมชนในการทำประโยชน์สูงสุด ผลิตภัณฑ์ถือได้ว่าเป็น Green Product และ Circular Product ตอบโจทย์ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศไทย
- บล็อกปูพื้น 10 กก. ใช้พลาสติก 0.5 – 1 กิโลกรัม
ด้าน “ผศ. ดร. สมหมาย ผิวสะอาด” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อธิบายเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัย ได้วิจัยและออกแบบนวัตกรรมในการนำขยะพลาสติกจากทะเลมาเป็นวัตถุดิบในวัสดุก่อสร้างโดยชุมชนสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้เอง อาทิ กระเบื้องพื้นสนาม กระถางต้นไม้ สร้างรายได้ระยะยาว ผ่านการสนับสนุนจากเอกชน และความพร้อมของกลุ่มชุมชน
ทั้งนี้ อัตราส่วนการใช้พลาสติกหนึ่งชิ้นงาน ต้องใช้พลาสติก 5-10% เช่น บล็อกปูพื้น 10 กก. ต้องใช้พลาสติก 0.5 – 1 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงและการประยุกต์ใช้งาน ความคุ้มค่าตั้งแต่เริ่มต้น เพราะพลาสติกเป็นสิ่งที่ต้องเสียเงินในการกำจัด การนำพลาสติกมาผสมทำเป็นชิ้นงาน ถือเป็นการลดต้นทุน ในส่วนของความแข็งแรง เป็นไปตามมาตรฐาน
โครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะ นอกจากชิ้นงานจะมีน้ำหนักเบา เพราะพลาสติกความหนาแน่นน้อย ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง มีความคุ้มค่าและประยุกต์ใช้ได้จริงในเชิงอุตสาหกรรม โดยทางมหาวิทยาลัย จะทำการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ชุมชน
- ตั้งเป้ารีไซเคิลพลาสติก 1 ล้านตัน
“ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย” ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า ขยะพลาสติกที่เก็บได้จากชายทะเล มีตั้งแต่ถุงพลาสติก ขวด PE PET และ PP โดยเฉพาะประเภทมัลติเลเยอร์ พลาสติกเหล่านี้แช่อยู่ในทะเล ตกอยู่ในทรายเป็นเวลานาน คุณสมบัติบางอย่างสูญเสีย การนำไปใช้ใหม่ในฐานะพลาสติกทำได้ยาก แต่ก็มีคุณสมบัติที่สามารถใช้งานได้อยู่ โดยนำมาเป็นวัสดุก่อสร้าง ใช้งานได้จริง สามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ จำหน่าย นำมาใช้ประโยชน์ได้
“บริษัทฯ ตระหนักปัญหาขยะพลาสติกที่หลุดรอดไปสิ่งแวดล้อม ขยะมีประโยชน์และมีค่าอย่างยิ่งเกินกว่าจะเป็นขยะ ในโควิด-19 พลาสติกมีบทบาทในการแก้ปัญหาหลายด้าน เช่น การแพทย์ ภาชนะปลอดเชื้อ แต่การใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคประชาคมวิจัย และประชาชน”
กลุ่มบริษัทดาว ในฐานะบริษัทที่ชำนาญในการจัดการวัสดุศาสตร์ มุ่งมั่นในการส่งเสิรมความยั่งยืนผลักดันพลาสติกใช้แล้วมาใช้ประโยชน์ แทนที่จะถูกทิ้งเป็นขยะ สร้างมูลค่า จึงต้องการสนับสนุนโครงการนี้ให้สำเร็จ และเป้าหายต่อยอด เนื่องจากดาวมีการเก็บขยะชายหาดทุกปี หากเก็บได้ สามารถนำปใช้ประโยชน์ได้ การทำงานกับภาคีเครือข่าย สามารถส่งเสริมให้โปรเจคนี้ประสบความสำเร็จได้
“ในปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทดาว มุ่งมั่นผลักดันให้พลาสติก 1 ล้านตันจากทั่วโลก ให้ถูกเก็บกลับมาใช้ประโยชน์ หรือ รีไซเคิล ซึ่งโครงการ “ขยะทะเล...สู่...การเพิ่มรายได้ชุมชนระยอง” เป็นอีกหนึ่งในโครงการสำคัญที่จะนำผลงานด้านการศึกษาและงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ได้จริง โดยการผสมพลาสติกมาใช้ในวัสดุก่อสร้าง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ มีน้ำหนักเบา ช่วยระบายน้ำได้ดีขึ้น และลดการใช้วัสดุที่ใช้แล้วหมดไป หวังว่าเมื่อโครงการประสบความสำเร็จ จะขยายไปสู่ชุมชนอื่น ในการต่อยอดการจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างยั่งยืน และเพิ่มรายได้ชุมชนต่อไป” ฉัตรชัย กล่าวทิ้งท้าย
- 2 ชุมชนต้นแบบ แปลงขยะเป็นวัสดุ
“สำราญ ทิพย์บรรพต” ประธานวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพชุมชนเกาะกก ระบุว่า เกาะกก แต่เดิมเป็นวิชาสหากิจชุมชนผลิตสินค้า เน้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร สำหรับโครงการนี้ ถือว่าสามารถตอบโจทย์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ในการสร้างงาน สร้างรายได้ สามารถผลิตสเกลเล็กๆ ได้ โดยบริษัทดาว เป็นตัวกลาง ให้ชุมชน เข้าถึงนวัตกรรมการจัดการขยะพลาสติก เพิ่มมูลค่า และส่งเสริมในทุกด้านทั้งงบประมาณ คำแนะนำ เครื่องจักร ทำให้ชุมชนสามารถยกระดับการจัดการขยะพลาสติกได้อย่างรูปธรรม สร้างรายได้จากผลผลิต นำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์
ด้าน “สายัณห์ รุ่งเรือง” ประธานชุมชนหมู่บ้านเอื้ออาทร จ.ระยอง (วังหว้า) เล่าว่า แต่เดิมชุมชนมีการจัดตั้งธนาคารขยะ รับซื้อขยะทุกประเภททั้งขายได้ และขยะขายไม่ได้ เช่น มัลติเลเยอร์ ขวดสีต่างๆ นำมาแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในชุมชน โครงการดังกล่าว ทำให้ชุมชนสามารถต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ใหม่ มีการทดสอบคุณภาพตามหลักวิชาการ เกิดความเชื่อมั่นผู้บริโภค รู้คุณค่าขยะพลาสติก เกิดกลไก ที่ชุมชนเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน
“ปัจจุบัน พบว่า คนไทยและต่างชาติเริ่มตระหนักในด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้ง ระยอง อยู่ในพื้นที่ อีอีซี การขยายการก่อสร้างมีหลายหมู่บ้าน ชุมชน คาดว่าสินค้าดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและลดขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม สร้างงานกลุ่มสูงอายุ ผู้พิการ ได้ในอนาคต” สายัณห์ กล่าว