คลายล็อกดาวน์ 'ความหวังภาคบริการ' รู้ว่าเสี่ยง แต่ขอสู้

คลายล็อกดาวน์ 'ความหวังภาคบริการ' รู้ว่าเสี่ยง แต่ขอสู้

เมื่อมีการคลายล็อก 1 ก.ย. แม้ว่าภาคบริการ ที่สามารถเปิดได้ต้องเตรียมพร้อมโดยฉีดวัคซีนโควิด ตรวจ 'ATK' และปฏิบัติตามมาตรการ 'COVID-Free Setting' แต่กลับพบว่าหลายเสียงสะท้อนเต็มใจทำตามมาตรการ และดีใจที่กลับมาเปิดได้เพื่อจะได้มีรายได้อีกครั้ง

หลังจากที่ ศบค. ทำการ คลายล็อก กิจการกิจกรรมเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ทำให้สามารถเปิดห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร บริการนวดเท้า ฯลฯ ได้ ภายใต้มาตรการที่เข้มงวดตามแนวทาง COVID-Free Setting นอกจากจัดสภาพแวดล้อมแล้ว สิ่งสำคัญ คือ พนักงานผู้ให้บริการต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และมีการตรวจ ATK ทุกสัปดาห์เพื่อความปลอดภัย โดยมี สปสช. ร่วมให้บริการตรวจ ATK ก่อนเปิดกิจการที่ศูนย์ราชการฯ 31 ส.ค. -3 ก.ย. 64

อ่านข่าว-'หมอยง' ชี้กำลังศึกษาวัคซีนเข็ม 3 ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ก่อนหน้านี้ “นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมาอธิบายว่า มาตรการที่ออกไป ในเดือน ก.ย. เป็นมาตรการในการขอความร่วมมือกับพี่น้องประชาชน ขณะนี้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมศูนย์การค้า ที่มีการหารือร่วมกันกับ สธ. เป็นความร่วมมือทั้งสองฝ่าย แม้เราจะไม่ได้บังคับแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยืนยันว่าจะทำตามมาตรการนี้

“ช่วงปฏิบัติอาจจะมีความขลุกขลัก ก็จะมีการปรับตัวตามสถานการณ์ ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ร่วมมือกับสมาคม องค์กรต่างๆ ดำเนินการตามมาตรการ หากมีข้อขัดข้อง ขอให้แจ้งมาเพื่อจะได้ปรับมาตรการให้เหมาะสม เพื่อหลังเดือน ต.ค. เมื่อทุกอย่างพร้อม จะทำเรื่องนี้ให้เป็นมาตรฐาน เป็นการใช้ชีวิตใหม่ของพวกเราทุกคน” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

ทั้งนี้ ในภาคกิจการกิจกรรมที่ได้รับการอนุญาตให้เปิดได้นั้น จากการสอบถามความคิดเห็นพบว่าส่วนใหญ่มองว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้เป็นปัญหา เนื่องจากในช่วงแรกแม้จะมีความติดขัดบ้าง แต่ยังไม่ใช่มาตรการเชิงบังคับ เพราะมีพนักงาน หรือ ร้านค้าบางส่วนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ก็สามารถเปิดได้ ทำงานได้ เพียงแค่ต้องตรวจ ATK ทุกสัปดาห์เพื่อความปลอดภัยและสบายใจ

163060104090

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

  • ดีใจที่เปิด แม้จะเสี่ยง

ตัวอย่าง นงค์รัก บัวคำ อายุ 52 ปี พนักงานขายในห้างสรรพสินค้า แผนกเด็ก อธิบายว่า ในวันที่เปิดห้างวันแรก 1 ก.ย. 64 ต้องเตรียมความพร้อม โดยต้องฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม ซึ่งตนเองฉีดครบแล้วจากการที่บริษัทฯ ลงทะเบียนกับประกันสังคมให้ ขณะที่การตรวจ ATK ซึ่งแต่เดิมกังวลใจว่าจะไปตรวจที่ไหน เพราะต้องตรวจวันที่ 30 – 31 ส.ค. และเริ่มงานวันที่ 1 ก.ย.

พอดีกับทราบข่าว สปสช. ให้ตรวจ ATK ฟรี จึงเดินทางไปตรวจที่ศูนย์ราชการ และหลังจากนี้จะต้องตรวจสัปดาห์ละครั้ง โดยทางห้างมีบริการตรวจให้เสียค่าใช้จ่าย 100 บาทต่อครั้ง ส่วนพนักงานของห้างเองตรวจฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย พนักงานบางส่วนที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ สามารถทำงานได้ แต่ต้องตรวจทุกสัปดาห์เพื่อรอวัคซีนเข็มที่ 2 เช่นกัน

163060110380

หากถามว่าเปิดห้างกังวลหรือไม่ “นงค์รัก” กล่าวว่า ก็ยังกังวลอยู่ แต่หากไม่ทำงานก็คงไม่ไหว เพราะอยู่ไม่ได้ ดีใจมากกว่าถึงแม้ว่าจะเสี่ยงแต่ก็ต้องกล้าออกมา ป้องกันตัวเองดีๆ สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น ล้างมือ เว้นระยะห่าง พยายามรักษามาตรฐานไว้ เพราะหากเลือกได้ก็อยากให้เปิดทำงาน สถานการณ์หลังจากนี้คาดหวังว่าอยากให้ดีขึ้น หากภาครัฐฉีดวัคซีนได้ไวอย่างน้อย 2 เข็ม น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่ทำให้เรามั่นใจ”

“ส่วนตัวมองว่าการฉีดสองเข็ม แม้จะยังสามารถติดโควิดได้ แต่ก็ไม่เสียชีวิตหรือเชื้อไม่ลงปอด ยังอุ่นใจในระดับหนึ่ง ทำให้กล้าออกมาทำงาน และไม่วิตกกังวลมาก ยอมรับว่าช่วงห้างปิดได้รับผลกระทบพอสมควรแม้จะได้รับเงินเยียวยา 2,500 บาท และเงินเยียวยาจากประกันสังคม 3,000 กว่าบาท ในกิจการที่ถูกสั่งให้ปิด จากที่เคยได้หลักหมื่น ดังนั้น หากเลือกได้ก็อยากจะทำงานมากกว่าเพราะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย” นงค์รัก กล่าว

  • ผู้ค้าปลาสวยงาม กระทบรายได้

เช่นเดียวกับ “รัตนภรณ์ เรืองชัยศักดิ์” อายุ 40 ปี เจ้าของร้านปลาสวยงาม “ติ๊กกะแตน” ศูนย์การค้า เจ.เจ.มอลล์ ที่แต่เดิมก่อนโควิด-19 เคยมีรายได้จากการขายปลากว่าเดือนละ 2 แสนบาท แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 วิกฤติ ทำให้การขายของยากลำบาก และในช่วงล็อกดาวน์ ต้องเปลี่ยนมาขายออนไลน์เพื่อให้ได้ค่าอาหารปลาและค่าเช่าร้านที่ต้องจ่ายทุกเดือน

“ยอมรับว่าได้รับผลกระทบที่รุนแรงมาก เพราะค่าใช้จ่ายเท่าเดิมโดยเฉพาะร้านปลาสวยงาม ยังต้องมาดูแลปลา เป็นความโชคดีที่ทางเจ.เจ.มอลล์ลดค่าเช่าให้ 10% และลดเพิ่มให้อีกเล็กน้อย จากเดิมที่ต้องจ่ายราว 5 หมื่นบาท เหลือราว 3 หมื่นกว่าบาท รวมถึงเมื่อเดือนที่ผ่านมาซึ่งมีการล็อกดาวน์ ไม่คิดค่าเช่า คิดแค่ค่าน้ำค่าไฟ”

รัตนภรณ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อสามารถเปิดร้านได้ จึงรีบเดินทางไปตรวจ ATK ที่ศูนย์ราชการ ของ สปสช. เพราะทราบข่าวจากประชาสัมพันธ์ของเจ.เจ.มอลล์ และศูนย์การค้าจะมีใบรับรองติดที่หน้าร้านให้ ส่วนตัวยังได้วัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม ซึ่งเข็มแรกฉีดไปเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา โดยลงทะเบียนผ่านนนท์พร้อม”

“หากถามว่ามีความกังวลหรือไม่ ก็มีบ้าง แต่หากไม่เปิดคงจะต้องปิดทุกอย่างแล้วกลับไปอยู่ต่างจังหวัดเพราะว่าดันมาจนจะตันแล้ว แทบจะไม่มีพอจะสำรอง ถ้าให้เปรียบเทียบกับปิดและเปิด เลือกที่จะเปิดดีกว่า และเราก็ป้องกันตัวเอง ความจริงจตุจักรเสี่ยงมาตลอดตั้งแต่ระลอกหนึ่งจนถึงปัจจุบัน แต่ว่าเราก็ต้องป้องกันตัวเอง และทาง เจ.เจ.มอลล์ ก็มีการพ่นยาทุกสัปดาห์ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา”

163060126556

ทั้งนี้ หากจะให้ตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ “เจ้าของร้านปลาสวยงาม” มองว่าดี เพราะจะได้เช็กตัวเองไปด้วย หนึ่งคือ เรากลัวที่จะเป็น และหากรู้ผลเร็วว่าติดก็จะได้ไปรักษาตัว 14 วัน มองว่าเป็นผลดี ไม่ต้องไปติดใคร ขณะที่ก่อนหน้านี้ก็ทำการตรวจด้วยตัวเองอยู่เรื่อยๆ เพราะอยู่ในพื้นที่เสี่ยง สำหรับการเปิดร้านวันแรก พบว่า ร้านที่เจ.เจ.มอลล์ เปิดแทบทุกร้าน แม้ลูกค้าจะยังเดินน้อยอยู่ โดย 80% จะใช้การโอนเงินมากกว่าให้เงินสด

"หวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น เพราะตอนนี้ยังไม่ถึงกับต้องกู้ยืมเงิน ส่วนตัวหากไม่มีร้าน ก็คงต้องเลือกที่จะกลับต่างจังหวัดเพราะไม่ดีขึ้น แต่ด้วยความที่มีร้านหากปิดแล้วปลาก็อยู่ไม่ได้ ต้องให้อาหารทุกวัน อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเรื่องเงินกู้ ดอกเบี้ยถูก เพื่อให้ร้านค้าได้มีช่องทาง” รัตนภรณ์ กล่าว

  • ไซต์ก่อสร้างปิด กระทบอาชีพรับจ้างขับ 10 ล้อ

ด้าน วันเฉลิม ดาวเรือง อายุ 30 ปี อาชีพขับรถรับจ้างขับรถสิบล้อย้ายเครื่องจักรหนัก เล่าว่า แต่เดิมรายได้รวมกับค่าขับรถขนย้ายเครื่องจักรส่งตามไซต์งานก่อสร้างวันละ 3-4 เที่ยว รวมกว่า 2 หมื่นบาท แต่เมื่อโควิดระบาด ไซต์งานถูกปิดทำให้ปัจจุบัน เหลือเพียงเงินเดือน และมีเที่ยวขับรถเพียงไม่กี่วันเท่านั้น ทำให้รายได้ลดลงมาเหลือราว 5,000 บาท อีกทั้งภรรยาและลูกสาววัย 10 ขวบ ติดเชื้อโควิด-19 แต่ปัจจุบันทำการรักษาหายแล้วและกำลังจะออกจากโรงพยาบาล

163060130285

“โดยส่วนตัวได้ไปตรวจ ATK มาแล้ว ที่ศูนย์ราชการของ สปสช. และได้รับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มเข็มที่ 1 จากการลงทะเบียนกับภาคส่วนท้องถิ่น จ.นครปฐม เมื่อ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่พ่อของตนเองลงทะเบียนกับอนามัยและได้รับการฉีดครบ 2 เข็ม เป็นวัคซีนไขว้ซิโนแวค และ แอสตร้าเซนเนก้า ไม่มีปัญหาอะไร”

วันเฉลิม สะท้อนให้เห็นภาพอีกหนึ่งอาชีพ ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์แม้จะไม่ใช่ภาคบริการที่ต้องพบเจอผู้คนจำนวนมาก แต่จากการกำหนดเวลาเคอร์ฟิว ทำให้การขับรถขนส่งเครื่องจักรแต่ละเที่ยวซึ่งต้องใช้เวลา แต่ละวันจึงส่งได้เพียงแค่รอบเดียวเท่านั้น หลังจากนี้คาดหวังอยากให้สถานการณ์ดีขึ้น

  • กลุ่มกิจการเล็กวอน เข้าถึงแหล่งเงินทุน

“คณิศร ดวงถาวร” อายุ 53 ปี ผู้ประกอบการร้านนวดแผนไทย “ศร นวดไทยเพื่อสุขภาพ” ดอนเมือง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จากเดิมที่มีรายได้เดือนละกว่า 6 หมื่นบาท กลับเป็นว่าแทบจะไม่มีรายได้เลย แต่ยังคงต้องเสียเงินค่าเช่าร้านเดือนละประมาณ 5,000 บาท จนต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารไทยเครดิต ในการระบาดระลอกแรก

ทั้งนี้ ในวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเริ่มเปิดร้าน ตนและพนักงานจึงเดินทางไปตรวจ ATK ที่ศูนย์ราชการ และได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มเรียบร้อย โดยลงทะเบียนฉีดร่วมกับกลุ่มหมอนวด อย่างไรก็ตาม การเปิดร้านใหม่ในครั้งนี้ จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม ซื้อแอลกอฮอล์ ปรับปรุงร้านใหม่เพราะทิ้งร้างนานจนข้าวของบางส่วนเสียหาย รวมถึง Antigen Test KIT (ATK)

163059249452

“รัฐบาลให้ทำอะไรเราทำหมดแล้ว ในการเปิดร้านครั้งนี้ต้องกู้เงินนอกระบบมาเพื่อให้เปิดร้านได้ เพราะการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ยังไม่สามารถทำได้ง่าย ได้ติดต่อไปยังธนาคารหลายครั้งแต่ได้รับการตอบกลับมาว่า ไม่เข้าเกณฑ์ และไม่มีสเตจเมนท์ ความคาดหวังในตอนนี้ คือ อยากให้รัฐบาลออกนโยบาย ให้กู้โดยไม่มีเงื่อนไข เราไม่มีหลักทรัพย์ แต่เรามีร้าน มีสัญญาเช่า ใบอนุญาตทุกอย่าง เหลือแค่เงินทุน อยากให้มีทุนไปใช้หนี้นอกระบบ และเปลี่ยนมาใช้หนี้ในระบบแทน อยากให้รัฐบาลลงให้ถึงกลุ่มคนเล็ก”

ปัจจุบันการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ซึ่งเปิดให้เพียงนวดเท้า คณิศร กล่าวว่า โดยปกตินวดเท้า ชั่วโมงละ 200 บาท ซึ่งยังดีที่เขาเปิดให้บริการได้คนละ 2 ชั่วโมง แต่ความจริงแล้วคนทั่วไปนิยมนวดตัวมากกว่า เช่น พนักงานออฟฟิศ แต่ก็ทำตามนโยบาย ขอแค่ให้ได้เปิด