อัพเดท! สูตร 'วัคซีนโควิด-19'ในไทย 'วัคซีนไขว้' ใครได้ฉีด?
ทางออกที่ดีที่สุดในการหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ ประชาชนในประเทศต้องได้รับการฉีด 'วัคซีนโควิด-19'
ทว่าประเทศไทย มีข้อจำกัดในเรื่องของการสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากไม่สามารถหาซื้อวัคซีนโควิด-19 ได้ในบางยี่ห้อ หรือสั่งซื้อแล้วต้องรอไตรมาส 4 หรือได้ปี2565 ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรับผิดชอบในการจัดหาวัคซีนมาฉีดให้แก่ประชาชนต้องหาทางออกในเรื่องดังกล่าว
- 2 สูตรวัคซีนสูตรไขว้ในไทย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2564 คณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคโควิด19(ศปก.สธ.) ซึ่งมีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากหน่วยงานต่างๆ มีมติอนุมัติสูตรการฉีดวัคซีนโควิด -19ของประเทศไทย
โดยได้รับคำแนะนำจากคณะอนุกรรมกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการนำข้อมูลทางวิชาการใหม่ ๆ ทั้งผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ และการศึกษาในประเทศไทยมาพิจารณา
สรุป ขณะนี้สูตรวัคซีนไขว้ที่ฉีดให้แก่ประชาชนคนไทย จะมีทั้งหมด 2 สูตร ได้แก่
สูตรแรก เข็มที่ 1 ซิโนแวค เข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เป็นวัคซีนหลักของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ใช้ในผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในทุกกลุ่ม
สูตรสอง เข็มที่ 1 แอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ไฟเซอร์ ห่างกัน 4-12 สัปดาห์ กลุ่มเป้าหมายหลักผู้มีอายุ18 ปีขึ้นไปในทุกกลุ่ม
ทั้งนี้ ในส่วนของสูตรสอง คาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนได้ในเดือนต.ค.2564 หลังจากที่มีวัคซีนไฟเซอร์เพียงพอแล้วในประเทศ (ใน 3 เดือนหลังตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค. 2564 จะมีไฟเซอร์เข้าไทยเดือนละ 10 ล้านโดส)
- ใคร?จะได้ฉีด 'วัคซีนไขว้' สูตรสอง
สำหรับผู้ที่จะได้รับวัคซีนไขว้ สูตรสอง เข็มที่1 แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยเข็มที่2 ไฟเซอร์นั้น ไม่ใช่เพียงผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน แต่ ผู้สูงอายุที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 1 ไปก่อนหน้านี้ก็สามารถรับไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 ได้เช่นกัน รวมถึงประชาชนที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 ด้วย
ส่วนผู้ที่ได้รับซิโนแวคแล้ว 2 เข็มลง จะได้แอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์เพื่อบูสเตอร์เข็ม 3 แต่เบื้องต้นกรณีนี้บุคลากรทางการแพทย์จะได้ก่อน
ขณะที่ ผู้ป่วยโควิด ที่หายดีแล้ว 1-3 เดือน ก็ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ ซึ่งต้องมีคุณลักษณะ คือ เป็นผู้ไม่เคยได้รับไฟเซอร์มาก่อน ได้รับวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม หรือได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว แต่เข็ม 2 ยังไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนติดเชื้อ
- เยอรมนี -ญี่ปุ่น ฉีด 'วัคซีนไขว้'
กรณีการฉีด วัคซีนไขว้ นั้น ไม่ใช่เพียงในประเทศไทย ประเทศเดียวที่มีการใช้สูตรวัคซีนไขว์ เข็มที่ 1แอสตร้าเซนเนก้า และเข็มที่ 2 ไฟเซอร์ แต่มีประเทศเยอรมนี และญี่ปุ่น ก็มีประกาศว่าจะใช้วัคซีนไขว์สูตรนี้เช่นเดียวกัน
คณะกรรมการวัคซีนแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (STIKO) พร้อม เยนส์ สปาห์น รัฐมนตรีสาธารณสุขเยอรมนี ได้ประกาศแผนมาตรการวัคซีนใหม่ของประเทศ เพื่อกระตุ้นประสิทธิภาพของโครงการฉีดวัคซีนในประเทศ และพร้อมรับมือกับความเสี่ยงท่ามกลางการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตา (พันธุ์อินเดีย) ซึ่งกำลังระบาดในสหราชอาณาจักร และคาดว่าอาจเข้ามาแพร่ระบาดในยุโรป
สปาห์น กล่าวว่า เพื่อเตรียมพร้อมกับความเสี่ยงดังกล่าวในอนาคต มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลเยอรมนีจะจัดสรรให้มีการฉีดวัคซีนแบบผสมแก่ประชาชนในวงกว้าง เข็มที่ 1 จะใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนแบบไวรัลเวกเตอร์ที่ใช้อะดีโนไวรัสเป็นพาหะ จากนั้นตามด้วยเข็มที่ 2 เป็นวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ซึ่งการฉีดลักษณะนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาได้ยิ่งขึ้น แทนที่การใช้วัคซีนแบบแอสตร้าเซนเนก้า ทั้ง 2 โดส
โดยเยอรมนียังคงมีวัคซีนชนิด mRNA เพียงพอต่อการใช้งานโดยรวม ขณะเดียวกันยังมีแผนเตรียมฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็มที่ที่เป็นชนิด mRNA แก่ประชาชนที่รับแอสตร้าเซนเนก้า ครบ 2 เข็มแล้วในช่วงฤดูใบไม้ร่วง
ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานการให้สัมภาษณ์ของ ทาโร โคโนะ รัฐมนตรีด้านปฏิรูปการบริหาร ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการฉีดวัคซีนภายในประเทศ เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาที่จะนำวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของ แอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตภายในประเทศ มาใช้ร่วมกับวัคซีนที่ฉีดอยู่อย่าง ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา
เดิมทีญี่ปุ่นอนุญาตให้มีการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในกลุ่มผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีที่ต้องการฉีดเท่านั้น แต่จากการที่กลุ่มผู้ที่มีอายุน้อย กำลังได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดระลอกล่าสุด ทำให้ญี่ปุ่นอาจนำวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่มีอยู่ในมือจำนวน 2 ล้านโดสมาใช้งาน
ปกติแล้ววัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าจะต้องเว้นระยะห่าง 8 สัปดาห์ ระหว่างเข็ม 1 และ 2 แต่หากนำมาฉีดร่วมกับยี่ห้ออื่น ก็อาจจะมีการลดระยะห่างเหล่านั้นลงเพื่อให้การฉีดวัคซีนครบ 2 โดสทำได้รวดเร็วขึ้น
- 'วัคซีนไขว้' ภูมิสูงกว่าแอสตร้าฯ2เข็ม
คณะกรรมการวัคซีนแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (STIKO) ออกมาเปิดเผยว่า มีงานวิจัยระบุชัดเจนถึงการฉีดวัคซีนแบบผสมว่า การฉีดวัคซีนแบบเวกเตอร์โดสแรก แล้วตามด้วยวัคซีน mRNA นั้น ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมา "เหนือกว่าอย่างชัดเจน" หากเทียบกับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ครบทั้ง 2 โดส
ในทางเทคนิคผู้เชี่ยวชาญเรียกการฉีดลักษณะนี้ว่า “การฉีดวัคซีนแบบไขว้ชนิด (heterologous vaccination regimens / Heterologes Impfschema)“ ซึ่งก่อนหน้านี้ Stiko ได้แนะนำการฉีดลักษณะนี้กับกลุ่มคนที่อายุน้อยที่ได้รับการฉีดวัคซีนโดสแรกของแอสตร้าฯ ไปก่อนที่วัคซีนนี้จะถูกปรับคำแนะนำให้ฉีดสำหรับผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญ STIKO กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาถึงไวรัสพันธุ์เดลตาที่สามารถติดต่อได้ง่ายกว่าอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งสำคัญคือการ "รับวัคซีนครั้งที่สองในเวลาที่เหมาะสม" เนื่องจากหลังจากฉีดวัคซีนเพียงโดสเดียว การป้องกันจากตัวเดลต้าดูเหมือนจะ "ลดลงเป็นอย่างมาก" อย่างไรก็ตาม การป้องกันการมีอาการโรคที่รุนแรงที่เกิดจากเดลต้านั้น หากฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันครบสองโดสแล้ว ให้ผลของการป้องกันก็ดีพอๆ กับเมื่อเทียบกับการป้องกันโคโรนาสายพันธุ์อื่นๆ อ้างอิงข้อมูลรายงานจากการทดลองโดยสหราชอาณาจักร
ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นบางประเทศในยุโรปที่ใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ได้เปลี่ยนไปฉีดวัคซีนชนิด mRNA ให้แก่ประชาชนเป็นเข็มที่ 2 แล้ว แต่เป็นเพราะด้วยเหตุผลด้านกังวลเรื่องผลข้างเคียงภาวะลิ่มเลือดอุดตันมากกว่าจะเน้นประสิทธิภาพ โดยเยอรมนีและสเปนนับเป็นสองชาติแรกๆ ที่ออกคำแนะนำอย่างเป็นทางการแก่ประชาชนที่อายุต่ำกว่า 60 ปี และฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรก เปลี่ยนไปรับวัคซีน mRNA เป็นเข็มที่ 2
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ไทยใช้วัคซีนไขว้ 'แอสตร้าเซนเนก้า + ไฟเซอร์' เริ่ม ต.ค.นี้
คร.เผยคนฉีด'วัคซีนไขว้'แล้วกว่า 1 ล้านคน เสียชีวิต 1 คน
แพทย์ยืนยัน ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้
- ไทม์ไลน์ ‘วัคซีนไขว้’ ในประเทศ
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูตรต่างๆ สำหรับคนไทยในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย มีดังนี้
- กลุ่มเป้าหมายประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป, ผู้สูงอายุ, ผู้มีกลุ่มโรคเรื้อรัง 7 โรค สตรีมีครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป กลุ่มนี้จะได้รับการจัดสรรวัคซีน ดังนี
เข็มที่ 1 ซิโนแวค เข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า ห่างกัน 3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นสูตรหลักที่ใช้แก่ประชาชนทั่วไป
แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์ ในบางกรณี
- กลุ่มเป้าหมายเด็ก และวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรค รวมทั้งสตรีมีครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์
- กลุ่มเป้าหมายบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้าจะได้รับการจัดสรรวัคซีน ดังนี้
ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือวัคซีนซิโนฟาร์มครบ 2 เข็ม ให้วัคซีนไฟเซอร์ หรือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากระตุ้น 1 เข็ม
ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค วัคซีนซิโนฟาร์ม หรือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ให้วัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 โดยกำหนดระยะห่างระหว่างโดสตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลัก
ผู้ที่ได้วัคซีนซิโนแวคเข็มแรก จะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์
วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์
- กลุ่มเป้าหมายผู้ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ในทุกกลุ่ม ได้รับการฉีดวัคซีนไขว้
1.ผู้ที่จะได้รับวัคซีนไขว้ เข็มที่ 1 ซิโนแวค เข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์
2.ผู้ที่ได้รับวัคซีนไขว้ สูตรสอง เข็มที่ 1 แอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ไฟเซอร์ ระยะห่าง 4-12 สัปดาห์ คาดเริ่มฉีดเดือนต.ค.นี้
- ผลการศึกษาภูมิคุ้มกันสูตร'วัคซีนไขว้'
ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ มีการเปิดเผยข้อมูลจากการศึกษาภูมิคุ้มกันต่อการยับยั้งเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา ในกลุ่มผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ห่างกัน 3 สัปดาห์ พบว่า มีระดับภูมิคุ้มกันสูง 78.65 สูงระดับเดียวกันกับแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มที่ได้ภูมิคุ้มกัน 76.52
ส่วนการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้าในบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนพบว่าภูมิคุ้มกันสูงถึง 271.17 ซึ่งแอสตร้าเซนเนก้าจะเร่งส่งมอบวัคซีนให้ครบ 61 ล้านโดส ภายในปีนี้ ไทยจึงนำเข้าซิโนแวคอีก 12 ล้านโดส เพื่อนำมาฉีดไขว้เป็นสูตรไขว้ มีระยะห่างระหว่างเข็ม 3 สัปดาห์ และใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์ จะมีภูมิคุ้มกันระดับสูงที่ต้านเชื้อเดลต้าได้
กระทรวงสาธารณสุขจึงปรับมาฉีดสูตรนี้ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในเวลาอันรวดเร็ว โดยจากการฉีดที่ผ่านมาพบอาการไม่พึงประสงค์ ไม่แตกต่างจากการฉีดวัคซีนตัวอื่น
- ย้ำจำเป็นต้องฉีด 'วัคซีนไขว้' ต้านเดลตา
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบไขว้ชนิดวัคซีน ว่า การฉีดวัคซีนไขว้ด้วยซิโนแวค เป็นเข็มที่ 1 ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มที่ 2 ฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์ ผลการศึกษาวิจัย พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นสูงเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็มที่จะต้องฉีดห่างกัน 10-12 สัปดาห์ และต้องรอให้ภูมิคุ้มกันขึ้นในระดับที่สามารถป้องกันโรคได้อีก 2 สัปดาห์รวมเป็น 14 สัปดาห์
สำหรับการที่บอกว่า ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เพียงเข็มแรก ก็สามารถป้องกันโรคได้ นั่นเป็นข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับสายพันธุ์อัลฟา แต่กับเดลตาไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ซึ่งงานวิจัยต่างประเทศก็ออกมาพูดเรื่องนี้กันเยอะว่า เข็มเดียวไม่เพียงพอต้องฉีด 2 เข็ม ที่สำคัญคือเมื่อเวลาผ่านไปภูมิฯ ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนจะลดลง หากไม่กระตุ้นให้ทัน ก่อนที่จะลดต่ำมาถึงจุดที่ไม่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ ก็จะเกิดอันตรายได้
"เรามีข้อมูลผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เข็มแรก ยังไม่ได้รับเข็มที่ 2 แต่เกิดการติดเชื้อจนเสียชีวิต ดังนั้น ระบบการจัดการบริหารวัคซีนที่ดี คือ เร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้สูง ให้เร็ว เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะติดเชื้อเมื่อไหร่ จึงเป็นเหตุผลหลักที่เรานำสูตรไขว้มาใช้" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
อ้างอิง: กระทรวงสาธารณสุข,Brusselstimes ,CNN,ม.มหิดล