โรงเรียนแพทย์ ปรับตัวอย่างไร ในยุค โควิด-19
โควิด-19 ไม่เพียงเป็นความท้าทายของระบบสาธารณสุขทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังถือเป็นความท้าทายของ โรงเรียนแพทย์ ในการปรับตัว เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน ภายใต้ข้อจำกัดของโรคระบาดเช่นในปัจจุบัน
แม้ว่า โควิด-19 จะไม่ใช่ความท้าทายเดียวของ รร.แพทย์ เพราะที่ผ่านมา แวดวงการแพทย์มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้นักศึกษา อาจารย์ และการสอนต้องปรับเปลี่ยน ปรับตัว เพิ่มเติมความรู้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ก้าวกระโดดโดยเฉพาะทางคลินิก ซึ่งเดิมต้องใช้ความใกล้ชิดระหว่างนักศึกษา อาจารย์ คนไข้ ทำให้ในปัจจุบันทำได้ยากขึ้น
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็น คณะแพทยศาสตร์ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2508 โดยรุ่นแรกรับนักศึกษา 60 คน ปัจจุบัน จากความพร้อมที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สามารถรับนักศึกษาได้ราว 180 คนต่อปี โดยตลอดเกือบ 60 ปีที่ผ่านมา ผลิตแพทย์ไปแล้วมากกว่า 5,500 คน
อ่านข่าว-ด่วน! ยอด โควิด-19 วันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 14,176 ราย ตาย 228 ราย พบ ATK อีก 2,372 ราย
พร้อมกันนี้ยังจัดตั้งโรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เพื่อดูแลอาจารย์ที่ทำการเรียนการสอน ณ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา
- โควิด ความท้าทายการเรียนด้านคลินิก
“รศ.นพ.อาทิตย์ อังกานนท์” ผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า ที่ผ่านมา การเรียนการสอนโดยเฉพาะด้านคลินิกมีปัญหามาก ต้องใช้หลากหลายวิธีการรับมือ ไม่ว่าจะการลดจำนวนคนไข้ลง หรือ ต้องคอยสังเกตดูการระบาดเป็นระยะ หากช่วงไหนที่การระบาดเริ่มสงบ จะให้นักศึกษาขึ้นไปดูแลผู้ป่วยบนหอผู้ป่วยได้ แต่หากมีการระบาดหนักขึ้น ก็ต้องให้นักศึกษากลับไปเรียนทฤษฎี เรียนออนไลน์ ใช้เทคโนโลยีดูคนไข้ผ่านระบบทางไกล ซักประวัติผ่านเทเลคอนเฟอเรนซ์โดยมีอาจารย์คอยดูแล
- อาจารย์แพทย์กับภารกิจโควิด
นอกจากความเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนของนักเรียนแพทย์แล้ว ในส่วนของอาจารย์แพทย์เอง ซึ่งเรียกได้ว่ามีภาระหน้าที่ที่มากขึ้นในการดูแลคนไข้โควิด-19 ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือกันจากทีมแพทย์หลายทีม ไม่ว่าจะเป็น ทีมแพทย์อายุรศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ วิสัญญีวิทยา รวมถึงแพทย์ผ่าตัด อย่างไรก็ตาม แม้สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะดูเป็นความกังวลในการเรียนการสอนโดยเฉพาะภาคปฏิบัติของนักเรียนแพทย์ รวมถึงความกังวลด้านความปลอดภัยของนักศึกษาเองและคนไข้
รศ.นพ.อาทิตย์ กล่าวว่า แม้จะมีความกังวล แต่จะไม่ทำให้นักศึกษาจบช้าลง ปกติเรียน 6 ปี จะพยายามทำทุกอย่างให้นักศึกษาใช้เวลา 6 ปี ในการใช้ความรู้ความสามารถ เพื่อจบไปเป็นแพทย์ให้ได้ ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดความปลอดภัยทั้งตัวนักศึกษาและคนไข้
- “CNMI Sandbox”
ขณะเดียวกัน อยู่ระหว่างจัดทำโครงการ “CNMI Sandbox” ที่ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จากการเล็งเห็นว่า ในช่วงที่เรียนออนไลน์นักศึกษามีผลกระทบ ถึงแม้จะมีความพยายามอย่างเต็มที่ แต่นักศึกษาก็ยังคงมีความเครียด เนื่องจากการเรียนที่บ้าน บรรยากาศของการเรียนรู้ไม่เหมือนในชั้นเรียน ดังนั้น จะเรียนออนไซต์อย่างไรให้ปลอดภัย
“เนื่องจาก สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เป็นแคมปัสที่อยู่ใน จ.สมุทรปราการ ห่างไกลจาก กทม. ราว 50 กม. การเดินทางเข้าออกอาจจะไม่สะดวก ร้านอาหาร ความเจริญยังไม่มาก หากนักศึกษามาอยู่ที่นี่ก็คล้ายๆ เข้าแคมป์ มีหอพักให้อยู่ประจำ จึงมองว่าที่นี่น่าจะเหมาะที่จะเริ่มทดลองในการนำนักศึกษากลับเข้ามาเรียนออนไซต์ เหมือนเป็น Sandbox อย่างหนึ่ง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งนักศึกษาและอาจารย์”
“วิธีการอาจจะให้นักศึกษาโดยเฉพาะที่ได้รับวัคซีนครบกลับเข้ามาเรียน มีการตรวจคัดกรองก่อนจะเข้าแคมปัส เรามีความพร้อมในการทำ RT-PCR ให้กับนักศึกษาทุกคน มีการตรวจสกรีนนิ่งสุ่มตรวจทุก 1-2 สัปดาห์ และดูว่าหากทำตามแนวทาง COVID-Free setting การเรียนการสอนแบบออนไซต์ จะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ หวังว่าแนวทางนี้จะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ของการปรับนโยบายของรัฐบาลในการนำนักศึกษากลับเข้ามาเรียนในออนไซต์มากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นเรื่องไปที่ จ.สมุทรปราการ”
- เสริมหลักสูตรเข้มข้น แพทย์จบใหม่
พร้อมกันนี้ ยังเสริมความรู้หลักสูตรเข้มข้น (Intensive course) ให้กับนักศึกษาแพทย์ในชั้นปีที่ 6 ที่จะจบออกไปเป็นบุคลากรด่านหน้า ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และตอนนี้เริ่มทำงานในหลายที่ ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อีกด้วย
รศ.นพ.อาทิตย์ เผยว่า จากการพูดคุยกับนักศึกษา พบว่าโควิด-19 เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เดิมเราไม่เคยคิดว่าแพทย์ พยาบาล จะเป็นอาชีพที่เสี่ยงภัยจนกระทั่งโควิด แต่นักศึกษากลับมองว่าเรื่องแบบนี้ไม่ได้ทำให้ท้อถอย หรือเปลี่ยนใจในการเป็นแพทย์ แต่กลับทำให้เขาอาจจะอยากเป็นแพทย์มากขึ้น เพราะชีวิตดูมีความหมาย มีคุณค่า ตรงนี้ในฐานะอาจารย์ รู้สึกดีใจมากที่คนรุ่นใหม่รู้สึกแบบนี้
- รร.แพทย์ เจอความท้าทายอะไรบ้าง
“ส่วนตัวมองว่า ต่อไปก็ยังจะต้องเจอความท้าทายใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ โควิดก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เจอ เพียงแต่ว่าจะหนักพอสมควร ที่ผ่านมา วงการการศึกษาด้านการแพทย์เจอความท้าทายมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรู้ด้านเทคโนโลยีที่มากขึ้น ปัจจุบัน ความรู้ที่เกี่ยวข้องด้านการแพทย์มีเยอะมากกว่าสมัยก่อนหลายสิบเท่า แต่นักศึกษาก็ยังต้องใช้เวลาแค่ 6 ปีเหมือนเดิมในการเรียน นี่ก็ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง”
“เทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ เข้ามาเยอะ เราจะสอนนักศึกษาได้อย่างไรให้สามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์และไม่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยี แต่เป็นนายของมัน นี่ก็เป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่ง ขณะเดียวกัน เรื่องของการเงิน การคลังด้านสุขภาพ ก็เป็นอีกความท้าทายเพราะปัจจุบันการรักษาใหม่ๆ มีราคาค่ารักษาที่สูงขึ้น เราจะสอนนักศึกษาอย่างไร ให้เขาสามารถดูแลผู้ป่วยได้โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด”
รศ.นพ.อาทิตย์ กล่าวต่อไปว่า การเป็นแพทย์ เป็นชีวิตอีกแบบหนึ่ง ต้องคิดถึงคนอื่นค่อนข้างเยอะ จะต้องทำให้ตัวเองมีคุณค่าให้สมกับความไว้วางใจของคนที่มารับบริการจากเรา ความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวงการแพทย์มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเวลา สิ่งที่เรารู้หรือเคยคิดว่าถูกต้องในวันนี้ อีก 5 ปีข้างหน้า อาจจะได้รับการพิสูจน์ว่ามันไม่ใช่ ดังนั้น การเรียนแพทย์จะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ
“คาดหวังว่าเด็กของเราจบไปจะเป็นแพทย์ที่เก่ง มีความสามารถ ได้รับการยอมรับจากวงการและสังคมในความสามารถของเขาว่าเขาเป็นแพทย์ที่ดี มีวิจารณญาณ และเป็นคนที่จะสามารถใช้ความรู้ สร้างความตระหนักรู้ของสังคมได้” รศ.นพ.อาทิตย์ กล่าวทิ้งท้าย
- มูลนิธิรามาฯ สนับสนุนทุน
นอกจากนี้ ในช่วงโควิด-19 ซึ่งอาจสร้างความลำบากในด้านเศรษฐกิจของครอบครัวนักศึกษาหลายคน ทางมูลนิธิรามาธิบดี ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนทุนการศึกษา และค่าบำรุงหอพักแพทย์ ตามหลักสูตรปี 2563-2564 ให้แก่หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต 74 ทุน หลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิต 120 ทุน และ หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต 75 ทุน รวม 269 ทุน
รวมถึงสนับสนุนด้านการเรียนการสอน อุปกรณ์ เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการพัฒนานักศึกษาแพทย์ อาทิ หุ่นจำลองที่ใช้ในการเรียนการสอนในรูปแบบ Simulation เพื่อให้นักศึกษาแพทย์มีประสบการณ์ในการฝึกแบบเสมือนจริง ทั้งเจาะเลือด ผ่าตัด ทำคลอด ฯลฯ
- หลักสูตรแพทย์ยุคใหม่
ล่าสุด คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิด 2 หลักสูตรพิเศษ ได้แก่ “หลักสูตรร่วม หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต-วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วิศวกรรมชีวการแพทย์)” ใช้เวลาเรียน 7 ปี ได้ปริญญา 2 ใบ คือ แพทย์ศาสตร์บัณฑิต และวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต เป็นแพทย์ที่มีแนวคิดในการสร้างนวัตกรรมทางด้านวิศวกรรมได้ เช่น ประดิษฐ์เครื่องมือใหม่ๆ ด้านการแพทย์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เกี่ยวกับด้านการแพทย์ เปิดรับ 20 คน ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 2
และ “หลักสูตรร่วม หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต-การจัดการมหาบัณฑิต (นานาชาติ)” ใช้เวลาเรียน 7 ปี และได้ใบปริญญา 2 ใบเช่นกัน โดยนักศึกษาที่จบมา จะนับว่าเป็นแพทย์ ที่มีความรู้ด้านการบริหารมากขึ้นกว่าแพทย์ทั่วไป โดยเริ่มสอนปีนี้เป็นปีแรก รับนักศึกษาจำนวน 20 คน”