โควิด-19 จุดเปลี่ยนเทคโนโลยี เทเลเมดิซีน - พบแพทย์ผ่านวิดีโอ มาแรง
โควิด-19 เข้ามาเป็นตัวเร่งการใช้เทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ไม่เพียงแค่ เทเลเมดิซีน เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการพัฒนายาและวัคซีนเพื่อควบคุมการระบาด
เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ซึ่งในประเทศไทย เริ่มถูกใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก ในปี 2563 ที่ผ่านมา เพื่อลดความแออัดใน รพ. และในปีนี้ ได้ถูกนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย Home Isolation รวมถึงการพบแพทย์แบบเสมือนจริงผ่านทางวิดีโอ ซึ่ง ดีลอยท์ คาดการณ์ว่า การพบแพทย์ผ่านทางวิดีโอจะเพิ่มขึ้น 5% ทั่วโลกปีนี้
เรียกได้ว่า เมื่อพูดถึง “เทเลเมดิซีน” ในปีที่ผ่านมา จากบทความ ส่องเทรนด์โลก: ทำความรู้จัก Telemedicine…เทรนด์ธุรกิจเติบโตดีหลัง COVID-19 ขึ้น โดย “ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย” ได้อธิบายในประเด็นเรื่อง บริการแพทย์ทางไกลที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น หลังวิกฤตโควิด-19 ไว้ว่า
การปรึกษาแพทย์ทางไกลมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases NCDs) อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหัวใจ ที่จะต้องพบแพทย์เป็นประจำเพื่อติดตามอาการและต้องรับประทานยาต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลานั่งรอรับบริการ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และที่สำคัญยังเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วย NCDs จะได้รับเชื้อโรคอื่นๆ ระหว่างเดินทางมาพบแพทย์ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้อาการที่เป็นอยู่ทรุดลงอย่างได้ผล
ส่วนการติดตามผู้ป่วยระยะไกล เป็นอีกหนึ่งวิทยาการทางการแพทย์ผ่านเทคโนโลยีเทเลเมดิซีน ที่ช่วยยกระดับการติดตามผลการรักษา หรือติดตามอาการอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการอุปกรณ์ตรวจวัดการทำงานของร่างกาย อาทิ ค่าความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิร่างกาย ไปติดตั้งที่สถานที่พัก หรือพกติดตัว โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะส่งผลการตรวจวัดให้แพทย์รับทราบตามช่วงเวลา ผู้ป่วยจึงไม่ต้องเดินทางมาสถานพยาบาลบ่อยครั้งเพื่อตรวจวัดค่าต่างๆ
รวมถึง การผ่าตัดทางไกล (Telesurgery) นวัตกรรมทางการแพทย์ล้ำยุค ที่สามารถนำมาให้บริการใน ธุรกิจเทเลเมดิซีน โดยทีมบุคลากรทางการแพทย์จะมีหุ่นยนต์และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นผู้ช่วย ทำให้แพทย์สามารถผ่าตัดผู้ป่วยได้แม้จะอยู่ต่างสถานที่กัน
- เทเลเมดิซีน ดูแลผู้ป่วย Home Isolation
ขณะเดียวกัน ในช่วงการระบาดของ โควิด-19 ระลอก 3 และ ระลอก 4 ที่เรียกได้ว่าเป็นวิกฤติของประเทศไทย มีผู้ป่วยสูงสุดมากกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน สถานการณ์เตียงไม่เพียงพอ มีการนำเทเลเมดิซีน มาใช้ในกระบวนการดูแลผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) เพื่อคัดกรอง และประเมินอาการผู้ป่วยทางโทรศัพท์
อาทิ “สภากาชาดไทย” ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ระดมแพทย์ พยาบาลจิตอาสา ร่วมทีมเทเลเมดิซีน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย สามารถแยกกักตัวเองที่บ้านได้ และลงทะเบียนเข้าระบบ Home Isolation ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และจะได้รับอาหาร ยา เวชภัณฑ์ และการดูแลรักษา ผ่านทางเทเลเมดิซีน ซึ่งเป็นการสื่อสารสองทาง สามารถเข้าถึงการตรวจรักษาและวินิจฉัยจากแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว
ผู้ป่วยสามารถติดตามการรักษาได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล สามารถแลกเปลี่ยนความรู้และคำแนะนำจากแพทย์ได้โดยตรง และได้รับการสั่งยาพื้นฐาน และยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ และไม่กระทบต่อการจองเตียงในโรงพยาบาลของผู้ป่วยสีเหลือง หรือสีแดง ทำให้รับคนไข้ได้ในปริมาณที่มากขึ้น
“นพ.พิชิต ศิริวรรณ” รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า การดูแลรักษาผ่านทาง Telemedicine มีความสำคัญอย่างยิ่ง การระดมทีมแพทย์และพยาบาลจิตอาสาจากทุกภาคส่วน ทุกพื้นที่ ในการร่วมกันทำงานด้านเทเลเมดิซีน จะเป็นทางออกในการลดภาระของสถานพยาบาล และสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ในเวลานี้
- ดีลอยท์ เผยเทเลเมดิซีนเติบโตก้าวกระโดด
ขณะเดียวกัน ในปีนี้เอง “ดีลอยท์” ได้เผยรายงานการคาดการณ์ด้านเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม (Technology, Media & Telecommunications (TMT) Predictions report) เน้นนำเสนอผลกระทบจากเทรนด์ดังกล่าว ที่อาจส่งผลต่อธุรกิจและผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะเทรนด์ที่ถูกขับเคลื่อนโดยผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ที่ส่งผลให้เกิดการเติบโตสูงขึ้นในสื่อวิดีโอ เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (virtual) และระบบคลาวด์ (Cloud)
“เอเรียน บูคายย์” ผู้นำในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม ประจำดีลอยท์ โกลบอล เผยว่า โควิด-19 ส่งผลให้เทรนด์การรักษาระยะไกล (Telemedicine) เติบโตก้าวกระโดด รวมถึงการพบแพทย์ผ่านทางวิดีโอด้วย โดยผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ได้ทำความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากการสื่อสารด้วยวิดีโอผ่านแอปพลิเคชั่นมากขึ้น
- พบแพทย์เสมือนจริง โต 5%
ทั้งนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของผู้บริโภค รวมถึงแพทย์ ที่ต้องการเปลี่ยนแนวทางการพบแพทย์แบบเดิมเป็นการนัดพบเสมือนจริง ดีลอยท์ คาดการณ์ว่า การพบแพทย์แบบเสมือนจริงผ่านทางวิดีโอจะเพิ่มขึ้น 5% ทั่วโลกปีนี้ จากที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 1% ปีที่แล้ว
แม้เปอร์เซ็นต์ของตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจะดูเล็กน้อย แต่เท่ากับการเข้าพบแพทย์ผ่านวิดีโอถึง 8.5 พันล้านครั้ง คิดเป็นมูลค่าทั้งหมดประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์จาก 36 ประเทศที่เข้าร่วมองค์การเพื่อความร่วมมือ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) ในปี 2562
สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การพบแพทย์ผ่านทางวิดีโอ และรายรับของผู้นำตลาดก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงกลุ่มตลาดประเทศที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ยังรวมถึงกลุ่มตลาดประเทศที่กำลังพัฒนาด้วย
- เทคโนโลยีเปลี่ยนวงการแพทย์
สอดคล้องกับ “นิโคลัส วิลค็อกซ์” ผู้จัดการกองทุน จาก JP Morgan Asset Management ซึ่งกล่าวในงาน สัมมนาหัวข้อ “Health is Wealth” จัดโดย ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า การแพทย์ที่มีการนำโทรเวชกรรม (Telemedicine) หรือ การนําเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกันได้แบบ Real-time ทางไกลเกิดขึ้น เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง (Mega trend) และรูปแบบธุรกิจครั้งใหญ่ (Disruption) ที่เกิดขึ้น
การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขยายบริการทางการแพทย์ไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา ถือเป็นแรงหนุนที่สำคัญในระยะยาวต่อไป โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเติบโตมากขึ้น
- “เทเลเมดิซีน” เพิ่มเข้าถึง ต้องได้คุณภาพ
การปรึกษาแพทย์ทางไกล หรือ เทเลเมดิซีน นำมาใช้ในช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะการลดความแออัด ของโรงพยาบาล ป้องกันการติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะใช้ในกลุ่มคนป่วยเก่า ที่มีประวัติในโรงพยาบาล กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และมีอาการคงที่ โดยปรึกษา ปรับยา ติดตามอาการ
นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้เทเลเมดิซีน ว่า มี 2 ส่วน คือ แพทย์กับแพทย์คุยกันเองในโรงพยาบาล ส่วนเทเลเมดิซีนที่พบว่าใช้กันบ่อย คือ การปรึกษาแพทย์ ปวดหัว ตัวร้อน ลักษณะนี้ค่อยๆ เริ่มเข้ามาในไทย แต่คีย์เวิร์ด คือ ในช่วงโควิดส่วนใหญ่ยังใช้ในกลุ่มคนไข้เก่า ที่มีความคุ้นเคยกับแพทย์ ติดตามอาการ ปรับยาส่วนผู้ป่วยที่ไม่เคยเจอหน้ากันเลย จะลำบาก ในประเทศไทยและทั่วโลกท้ายที่สุดการประกอบอาชีพเวชกรรม ก็ต้องเจอตัวผู้ป่วย
กล่าวคือ ในไทยโควิดทำให้ คนไข้เก่าสามารถใช้เทเลเมดิซีนได้ ส่งยาตามบ้านได้ และปลอดภัย ไม่ต้องเสียเวลามาโรงพยาบาล ส่วนคนไข้ใหม่แม้มาพบแพทย์ด้วยตัวเองก็ยังต้องวินิจฉัยละเอียด ดังนั้น การเจอแค่ภาพและเสียงอาจจะตอบไม่ได้ว่าเป็นโรคอะไร หากต้องตรวจแล็บ เอ็กซเรย์ร่างกาย ยังต้องมาที่โรงพยาบาลอยู่
“การวินิจฉัยเบื้องต้นผ่านระบบเทเลเมดิซีนสามารถทำได้ เช่น ป่วยตอนตี 3 เทเลเมดิซีน สามารถช่วยให้คำแนะนำว่าจะไปโรงพยาบาลหรือไม่ต้องไป อย่างไรก็ตาม การเจาะเลือด ผลแล็บ ต้องเอ็กซเรย์ส่วนไหนบ้าง ไม่สามารถใช้เทเลเมดิซีนได้ ดังนั้น เทเลเมดิซีนในคนไข้ใหม่ ขณะนี้จะเป็นลักษณะวินิจฉัยเบื้องต้น”
นพ.ธนาธิป กล่าวต่อไปว่า คีย์เวิร์ดของเทเลเมดิซีน คือ เพิ่มการเข้าถึงอย่างไร โดยที่ไม่ลดคุณภาพ ดังนั้น การใช้งานจึงมีอยู่ในไม่กี่สถานการณ์ เช่น การแยกกลุ่มคนไข้ ส่วนคนไข้ใหม่ก็ยังจำเป็นต้องเจอตัว โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการทำเทเลเมดิซีนในกลุ่มโรคจำเพาะ คือ ให้คำปรึกษากลุ่มผู้ป่วยโรคที่มีข้อมูลอยู่แล้ว เป็นต้น
“นอกจากนี้ ที่ผ่านมา มีการนำเทเลเมดิซีนมาใช้ ในการพูดคุย ระหว่างโรงพยาบาลในเครือที่ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นลักษณะการปรึกษาระหว่าง โรงพยาบาล กับ โรงพยาบาล โดยมีแพทย์ และคนไข้ ร่วมพูดคุยด้วย” นพ.ธนาธิป กล่าว