‘ครูสามเส้า’ เมื่อครูอยู่รอบตัวเรา และการศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องของโรงเรียน
เมื่อเด็กยุคใหม่ไม่ได้เรียนรู้เพียงในห้องเรียน แต่โลกทั้งใบกลายเป็นตำราเล่มใหญ่ที่มี “ครูสามเส้า” จากบ้าน ชุมชน โรงเรียน จับมือกันร่วมเป็นคนดูแล และให้เด็กๆ เป็นผู้สร้างสรรค์สูตรความสำเร็จด้วยตัวเอง
เมื่อโควิด-19 เปรียบเสมือนสึนามิทางการศึกษา เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ ทำให้การศึกษาแบบเก่าอาจจะเท่ากับการย่ำอยู่กับที่ นาทีนี้ครูในโรงเรียนอาจไม่พอ ได้เวลา ครูพ่อแม่ และ ครูชุมชน ร่วมใจกันเป็น ครูสามเส้า พาพวกเขาไปถึงฝั่งฝัน
โรงเรียนอนุบาลสตูล และ โรงเรียนบ้านเขาจีน เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการนำวิธี “ครูสามเส้า” มาใช้ภายใต้บริบทของพื้นที่และสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของระบบและรูปแบบการศึกษา
ในงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์' ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 บทเรียนครูสามเส้า กรณีศึกษา เครือข่ายโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล ตัวแทนจากสองโรงเรียนมาร่วมถอดรหัส “ครูสามเส้า” ให้เห็นว่าเมื่อครูยังไม่ตอบโจทย์เด็กรอบด้าน ครูพ่อแม่และครูชุมชนต้องมาช่วย เป็นส่วนเติมเต็มนอกเหนือจากคาบเรียนซึ่งเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของชีวิตเด็กๆ เพราะระบบการศึกษาไม่ใช่แค่กระทรวงศึกษา แต่เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคน
- จาก “นาฬิกาชีวิต” สู่ “ครูสามเส้า”
การเป็นโรงเรียนสอนคน ไม่ใช่สอนหนังสือ ของโรงเรียนอนุบาลสตูล ชัดเจนมากในสถานการณ์โควิด-19 ยงยุทธ ยืนยง ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล ชวนคิดว่า โดยปกติแล้วไม่ว่าจะโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรแกนกลาง 51 หรือหลักสูตรฐานสมรรถนะ นักเรียนมีเวลาเรียนจริงๆ ในระดับประถมศึกษาไม่เกินปีละ 1,200 ชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลืออีก 6,360 ชั่วโมง คำถามคือใครเป็นผู้รับผิดชอบการเรียนรู้ของเด็ก?
“ถ้าเราต้องการให้เด็กเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ตัวเลขนี้จะไม่ตอบโจทย์กับคำถามดังกล่าว สำหรับหลักสูตรของโรงเรียนอนุบาลสตูลเราแบ่งเป็น ภาคเช้าเป็นวิชาพื้นฐาน ภาคบ่ายเป็นวิชาบูรณาการ เราจัดการเรียนรู้ด้วยโครงงานฐานวิจัย (RBL) แต่ในสถานการณ์โควิดเราเป็นออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ ลงพื้นที่ไม่ได้”
เมื่อเป็นการเรียนการสอนออนไลน์ จึงมีปัญหาหลายอย่าง เช่น ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลลูกหลาน, ผู้ปกครองช่วยสอนไม่ได้, ใช้เครื่องมือไม่เป็น, เด็กอยู่หน้าจอมากเกินไป ฯลฯ จากปัญหาดังกล่าวสู่การ PLC เพื่อจัดกระบวนการเรียนการสอนใหม่ ทั้งหลักสูตรฐานสมรรถนะ, ครูสามเส้า, โครงงานฐานวิจัย 14 ขั้นตอน และเครื่องมือสำคัญอย่าง นาฬิกาชีวิต
ผอ.ยงยุทธ อธิบายว่า “นาฬิกาชีวิต” คือตารางกิจวัตรประจำวันของนักเรียนใน 24 ชั่วโมง ซึ่งเกิดจากการ PLC แล้วพบประเด็นว่าใน 24 ชั่วโมงเด็กๆ จะใช้อย่างไม่มีคุณภาพและไม่หลากหลาย ดังนั้นกิจวัตรประจำวันจึงเป็นสิ่งที่จะนำมาต่อยอดสู่การพัฒนาตัวเองของเด็กๆ
“นาฬิกาชีวิตทำให้นักเรียนวิเคราะห์กิจวัตรประจำวันของตัวเองตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนอีกครั้งหนึ่งว่าวิถีชีวิตของตัวเองนั้นต้องทำอะไรบ้าง ขณะเดียวกันต้องวิเคราะห์กิจวัตรประจำวันของผู้ปกครองด้วย พอได้ตารางนาฬิกาชีวิตแล้ว นักเรียนจะมีนาฬิกาชีวิตเป็นของตัวเอง ไม่เหมือนกันตามบริบทของตัวเอง”
สิ่งที่โรงเรียนอนุบาลสตูลต้องการติดตั้งกระบวนการโครงงานฐานวิจัย (RBL) ให้เป็นอาวุธติดตัวเด็ก ในสถานการณ์โควิด-19 ในหลายขั้นตอนทำไม่ได้ เช่นการลงพื้นที่ ผอ.ยงยุทธบอกว่าจึงต้องออกแบบใหม่จากเดิม 1 ห้อง 1 โจทย์ เป็น 1 ห้องมากกว่า 1 โจทย์ และนักเรียนหลายกลุ่ม แล้วเข้าสู่กระบวนการพัฒนาโจทย์ให้เกี่ยวข้องกับตัวนักเรียน ครอบครัว และชุมชน เพื่อให้นักเรียนลงพื้นที่ทดลองและปฏิบัติได้
ด้าน ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ประธานคณะกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ขยายความถึงกระบวนการโครงงานฐานวิจัย (RBL) ว่าแตกต่างจากโครงงานทั่วไปอย่างไร
“จะเห็นเลยว่าโครงงานเดิมๆ ที่เราทำมา เราจะเน้นเรื่อง Active Learning คือให้เด็กลุกขึ้นมารับผิดชอบโครงงานของตัวเอง แต่สำหรับโครงงานฐานวิจัย จะมีกระบวนการวิทยาศาสตร์เข้ามาตลอดเส้นทาง เข้ามาตั้งแต่เรื่องการให้เด็กสืบค้นความรู้ด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้ความรู้ Input กับการทำงาน เด็กต้องตั้งคำถามก่อนว่าความรู้อะไรที่เขาไม่มี แล้วเขาจะต้องไปหาความรู้จากไหน มีการเก็บข้อมูล ข้อมูลนั้นเป็นตัวเลข เป็นวิทยาศาสตร์ มีการเฝ้าสังเกต แล้วเอาข้อมูลที่เก็บได้ตลอดทางมาวิเคราะห์ เอาข้อมูลที่วิเคราะห์กลับมาสังเคราะห์ได้เป็นชุดความรู้ใหม่ของเด็กเอง สุดท้ายแล้วอาจจะได้ผลที่ต้องการหรืออาจไม่ได้เลย นั่นคือ Output
กระบวนการ RBL ความสำคัญอยู่ที่ตลอดเส้นทาง เด็กมีสมรรถนะในการไปหาความรู้ มีสมรรถนะในการเก็บข้อมูล มีสมรรถนะในการสังเกต มีสมรรถนะในการวิเคราะห์ผล และมีสมรรถนะในการสังเคราะห์ข้อมูล ความสามารถแบบนี้ไม่ว่าจะเป็นโจทย์วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคม เศรษฐศาสตร์ เด็กเอาสมรรถนะนี้ไปใช้ได้หมด นี่คือความหมายของการเรียนรู้จากโครงงานฐานวิจัย”
“ครูสวย” นัฐญา ไหมฉิม ครูโรงเรียนอนุบาลสตูล ฉายภาพการเรียนในกระบวนการโครงงานฐานวิจัยว่าเป้าหมายคือการลงพื้นที่จริง ลงมือปฏิบัติจริง แต่เมื่อต้องเรียนออนไลน์เป้าหมายก็เปลี่ยนเป็นนักเรียนต้องได้ทักษะและสมรรถนะติดตัว โดยมีผู้ปกครองเป็น “ครูสามเส้า”
“ครูอยากเพิ่มบทบาทให้ผู้ปกครอง และอยากให้ผู้ปกครองพานักเรียนเดินไปด้วยกัน ครูเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามาในห้องเรียนออนไลน์ได้ ยกตัวอย่างโจทย์ปลากัด ของครอบครัวนักเรียนที่เลี้ยงปลากัด เป็นเรื่องใกล้ตัว ลักษณะของโจทย์คือลงมือปฏิบัติและเรียนร่วมกับครอบครัว เมื่อ 6 ครอบครัว ต้องเรียนด้วยกัน ครูทลายกำแพงห้องเรียน ด้วยการที่เด็กดึงผู้ปกครอง ดึงเพื่อน ดึงเพื่อนต่างโรงเรียน หลังจากนั้นครูก็เพิ่มบทบาทให้ผู้ปกครอง ร่วมตั้งประเด็นระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ผู้ปกครองจึงได้มาร่วมเป็นเจ้าของโจทย์”
หนึ่งในตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอนุบาลสตูล กล่าวถึงความรู้สึกหลังจากเป็นหนึ่งในครูสามเส้าและเห็นการเรียนของลูกผ่านโครงงานฐานวิจัยต่างๆ หนึ่งในนั้นคือโครงงานปลากัด ว่าดีใจและภูมิใจในการเปลี่ยนแปลงของลูกมาก
“จากเดิมที่ลูกเป็นเด็กนักเรียนหลังห้อง เขาไม่มีความมั่นใจ ตั้งแต่มาเรียนออนไลน์ ครูมีอะไรก็เรียกถามเขา เหมือนพอเขาได้ตอบคำถาม ได้เรียนรู้ไป เขาก็ไม่กลัวค่ะ เขาอยากจะเรียน เขาสนุก แม่เดินผ่านไปผ่านมาเห็นลูกมีความสุขก็ดีใจค่ะ ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก ตื่นมาตอนเช้าก็เห็นเขาอยากเรียน คนเป็นแม่ก็ภูมิใจ เห็นลูกอยากเรียนหนังสือ
แม่เองก็ช่วยลูกทุกอย่างค่ะ ร่วมทำกิจกรรมกับลูก ถามลูกทุกวันว่าวันนี้มีอะไรให้แม่ช่วยได้ไหม ครูสั่งงานอะไรที่คุณแม่ช่วยได้ก็จะช่วยทุกอย่างเลยค่ะ ถ้าคุณแม่ไม่เข้าใจก็จะปรึกษาคุณครูตลอดค่ะ ตอนที่ยังไม่มีโควิด ลูกไปลงพื้นที่น่าจะเกี่ยวกับเรื่องเมล็ดกาแฟ คุณแม่ก็ไปคอย อยากเห็นลูกทำ เขาก็มาถามว่าเมล็ดกาแฟเป็นอย่างไร ก็บอกลูกว่าต้นเป็นแบบนี้ ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม เขาเอาเมล็ดมาคั่ว คือเอาความรู้ของคุณแม่ที่เคยเห็นมาสอนเขา คุยกันว่าเหมือนกันไหมที่ลูกไปเรียน”
สิ่งที่ผู้ปกครองกล่าวมา ครูสวยอธิบายว่าตรงกับบทบาทของ “ครูสามเส้า” ที่วางกันไว้ คือ ครูมีบทบาทออกแบบการเรียนรู้และเป็นโค้ช, ผู้ปกครองเป็นคนร่วมคิด ร่วมทำ พาทำ และนักเรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติและจัดการตัวเอง