‘รุ่งอรุณโมเดล’ อรุณรุ่งแห่งการเรียนรู้ สร้างทุกคนให้เป็นครู เด็กกล้าเรียนรู้ด้วยตนเอง
ถอดรหัสการสอนที่ปฏิวัติจากครูมอบโจทย์ให้ผู้เรียนไปทำ สู่การสอนที่รีดสมรรถนะของเด็กๆ ออกมา กระบวนการเหล่านี้คืออะไร ครู “โรงเรียนรุ่งอรุณ” ทำอย่างไรให้เด็กประสบความสำเร็จได้แม้ “ล็อกดาวน์”
สถานการณ์ โควิด-19 ไม่ได้ทำลายวิถีชีวิตแบบเดิมเพียงอย่างเดียว แต่ยังสร้างการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่เกิดจากการปรับตัวให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและจากทุกคน
โรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นหนึ่งในต้นแบบของการปฏิวัติกระบวนการเรียนการสอนในภาวะวิกฤตด้วยแนวทาง Learn from Home บนการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ที่มองสถานการณ์ “โควิด-19” ในเชิงบวก หาโอกาสสร้างคุณภาพการเรียนรู้ยุคใหม่ที่เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Learner Person)
- Learn from Home บ้านคือฐานการเรียนรู้ได้เหมือนกัน
ในงานเสวนาออนไลน์ “ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้” EP.2 ในหัวข้อ: สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างทุกคนให้เป็นครู กล้าเรียนรู้ด้วยตนเอง - Inclusive Education บทเรียนจากโรงเรียนรุ่งอรุณและโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง “ครูต้อย” สุวรรณา ชีวพฤกษ์ ผู้บริหารโรงเรียนรุ่งอรุณ นิยามวิธีการเหล่านี้ว่าเป็นการ “สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างทุกคนให้เป็นครู กล้าเรียนรู้ด้วยตัวเอง” ซึ่งเป็นบทเรียนหลังจากทุกคนเผชิญ โควิด มาร่วม 2 ปี จนตกผลึกเป็นความกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ รวมถึงการพึ่งพาตนเองโดยเฉพาะในการเรียนการสอน
“เราเริ่มพบว่าการเรียนรู้จริงๆ เราสร้างทุกคนให้มีส่วนร่วมกับเรา จึงเกิดคำว่าสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และทุกคนเป็นครูได้ เราชวนผู้ปกครองและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เข้ามามีส่วนในการเป็นครู สถานการณ์โควิดครั้งนี้จึงสร้างสิ่งนี้ให้ปรากฏชัดขึ้น
เราใช้คำว่า Learn from Home โดยเราให้นิยามคำว่า Home ว่าบ้านก็เป็นที่เรียนรู้ได้เช่นกัน ฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ที่บ้าน เพราะเด็กนักเรียนต้องอยู่บ้าน จึงเป็นบทบาทของครูต้องเปิดใจตัวเอง สร้างแผนการเรียนรู้ให้เด็กเรียนรู้ได้ที่บ้าน โดยอยู่บนฐานสมรรถนะ ซึ่งเราใช้ทำงานมาตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน”
แนวคิดหลัก (Concept) ของแนวทางนี้คือ “เรียนเองที่บ้าน ผสานกับเพื่อน ครูและผู้ปกครอง” ที่เน้นการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจ เพื่อนำไปประยุกต์ให้อย่างสร้างสรรค์ เพิ่มประสิทธิภาพให้การเรียนในเวลาจำกัด แต่ไม่จำกัดรูปแบบ และให้ผลสัมฤทธิ์สูงสุด
ครูต้อยบอกว่าโรงเรียนและผู้ปกครองต้องรื้อชุดความคิด (Mindset) ใหม่หมด ให้เป็น “ปิดโรงสอน ย้อนคืนการเรียนรู้กลับสู่เด็ก”
“สิ่งที่เราดำเนินการกันมา มีหลายครั้งหลายคราที่เราทำโรงเรียนเป็นโรงสอน ครูเคยชินกับการที่ครูสอนเด็ก แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เด็กต้องเรียนรู้อยู่ที่บ้าน เราจะทำอย่างไรให้ที่บ้านเป็นโรงเรียนของเด็กได้ เลยเป็นที่มาของ Mindset ที่เราเปิดใจผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง ให้ปิดโรงสอน ย้อนคืนการเรียนรู้กลับสู่เด็ก
เรากำลังสร้างผู้เรียนให้เป็น Learner Person ที่เรียนรู้อยู่ที่บ้านได้ ซึ่งการจะเรียนรู้อยู่ที่บ้านได้นั่นย่อมนำไปสู่กระบวนการที่เขาใช้การเรียนรู้เหล่านี้ได้ในทุกที่ มีรูปแบบวิธีการการเรียนรู้เปิดขึ้นมาอีกมากมายจากสถานการณ์นี้ มนุษย์ไม่หยุดเรียนรู้ ฉะนั้นการจัดการเรียนรู้ให้อยู่ที่บ้าน เรายังคงคุณภาพของการที่เด็กยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำงานร่วมกับเพื่อน กับครู และผู้ปกครองก็เป็นหุ้นส่วนสำคัญในการเรียนรู้ครั้งนี้”
- Reskill & Upskill สร้างและเสริมทักษะเพื่อการฐานสมรรถนะในยุค New Normal
จากการเริ่มพลิกวิกฤตเป็นโอกาส สู่การสร้างโอกาสต่อมาคือนำการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ “ครูจิ๋ว” สกุณี บุญญะบัญชา ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ อธิบายว่าจะทำให้เกิดสมรรถนะตามที่โรงเรียนรุ่งอรุณวางไว้ 6 ข้อ ซึ่งแผนสมรรถนะช่วยให้ออกแบบ หากลวิธี ที่จะทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ที่บ้าน และการเรียนรู้เป็นของผู้เรียนได้จริงๆ
สมรรถนะที่ 1 : การเข้าถึงระบบคุณค่าชีวิต ตื่นรู้ตามแนวพุทธรรม ศีล สมาธิ ปัญญา ดำรงมงคลชีวิต มีจิตสาธารณะ
สมรรถนะที่ 2 : การคิดด้วยระบบคุณค่าและสื่อสารด้วยภาษาอย่างฉลาดรู้ ไทย อังกฤษ คณิตศาสตร์ และดิจิทัล
สมรรถนะที่ 3 : ฉลาดรู้ระบบธรรมชาติ วิทยาการและเทคโนโลยี ใฝ่รู้ด้วยตนเอง และเท่าทันสถานการณ์
สมรรถนะที่ 4 : ฉลาดรู้การประกอบการสัมมาชีพ เข้าใจระบบเศรษฐศาสตร์การเงิน การจัดการ ที่มีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพในยุคใหม่ เพื่อความอยู่รอดของตนเองและสังคม
สมรรถนะที่ 5 : การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง เข้าใจระบบความสัมพันธ์ของโลกและมนุษย์ ระเบียบสังคมและวัฒนธรรม เพื่อร่วมสร้างสันติสุข
สมรรถนะที่ 6 : สมดุลภาวะกาย-จิต ด้วยศิลปะ-ดนตรี-กีฬา เป็นผู้มีสุนทรียธรรม มีความมั่นคง เบิกบานทั้งกายและใจ
จากสมรรถนะทั้ง 6 โรงเรียนรุ่งอรุณต้องออกแบบภายใต้สถานการณ์โควิด-19 จึงเกิดเป็นทั้งการเรียนรู้ทักษะใหม่ (Reskill) และทำให้ดีขึ้น (Upskill) ซึ่งเป็นทักษะและเครื่องใหม่ที่ครู นักเรียน และผู้ปกครองต้องใช้
“การนำสมรรถนะมาเป็นเป้าหมายการออกแบบการเรียนรู้และการประเมินผล ในการออกแบบการเรียนรู้เชิงสมรรถนะ เราใช้วงประชุมเป็นการทำงานเพื่อการเรียนรู้ของครู เป็นวงประชุม PLC เป็นแพลตฟอร์มหลัก มีทั้งการประชุมกลุ่มย่อย กลุ่มระดับชั้น กลุ่มสายวิชา หรือว่าเป็นกลุ่มใหญ่ เพื่อทำความเข้าใจการการออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญมากในการประชุม PLC เพราะจะทำให้ได้ประเด็นใหม่ๆ ที่แหลมคมมากขึ้น
การออกแบบการเรียนรู้ฐานสมรรถนะในช่วงที่นักเรียนอยู่ที่บ้าน นักเรียนจำเป็นต้องพึ่งพาตัวเองให้มาก เพราะไม่มีทางอื่น เราจึงต้องออกแบบว่าต้องเอานักเรียนเป็นตัวตั้งจริงๆ แล้วดูว่าถ้าเราให้โจทย์นี้ ทำกิจกรรมแบบนี้ นักเรียนจะเข้าใจอย่างไร
โจทย์หรืองานที่ครูเป็นผู้ให้เด็กจึงจำเป็นที่จะต้องมีจุดประสงค์ชัดเจนว่าเราจะเรียนรู้บนฐานสมรรถนะเป็นความรู้อะไร ทักษะอะไร ทัศนคติหรือคุณค่าอะไรที่ควรจะออกแบบให้เด็กเกิดผลจริงๆ เลยต้องดูว่าสิ่งที่ให้เด็กทำ ต้องเน้นการเกิดการ Output ของเด็กให้มาก เพราะวิธีที่จะดูว่าสมรรถนะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ต้องดูผ่านตัวเด็ก ผ่านการทำงาน ผ่านการพูดคุย”
- คุยกันมากขึ้นผ่าน PLC แค่ทุกคนปรับโจทย์ คำตอบก็เปลี่ยน
การให้โจทย์การตั้งคำถามเป็นสิ่งที่ครูทุกคนต้องฝึกฝนกันอย่างหนัก ครูจิ๋วบอกว่าวง PLC เป็นตัวช่วยให้ครูร่วมกันหาวิธีทำงานในสถานการณ์ที่การเรียนรู้ต้องเกิดขึ้นที่บ้าน ซึ่งครูมีระยะเวลาในการพบนักเรียนน้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ไม่ควรอยู่กับหน้าจอนาน
ครูจึงต้องปรับวิธีการตั้งโจทย์และคำถามให้กระชับ ตรงประเด็น และตอบจุดประสงค์เชิงสมรรถนะและคุณค่าได้ชัดเจน
“ครูจะออกแบบอย่างไรก็ตาม มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเด็ก การตั้งโจทย์ที่ดี งานที่ตึงมือ ท้าทายความคิด มีความหมายต่อชีวิตของเขา หรืออะไรต่อมิอะไร จะทำให้ผลไปสู่สมรรถนะที่แท้จริง โจทย์ที่ยากสำหรับเราอีกอย่างคือเรื่องการเรียนออนไลน์ แต่เราก็พยายามทำให้ความยากนี้เปลี่ยนเป็นความท้าทายมากที่สุด เพราะถ้าคิดไม่ได้มันมีผลจริงๆ
ยกตัวอย่างกรณีเด็กพิเศษคนหนึ่ง ตอนสอนออนไลน์ ครูพูดไม่เท่าไรเลย เขาบอกว่าเขาเหนื่อยแล้ว แล้วเขาก็ไม่เรียนเลย ก็เป็นตัวชี้วัดว่าสิ่งที่ครูทำ ไม่ได้ผล ครูต้องไปประชุมกันใหม่”
ครูจิ๋วบอกว่าเด็กจะต้อง "Upskill" เหล่านี้เพื่อให้การเรียนแบบ Learn from Home เกิดประสิทธิภาพ
- บริหารจัดการชีวิต เนื่องจากการเรียนที่บ้านทำให้การจัดการทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมด ในเด็กโตต้องช่วยงานบ้าน ซึ่งต้องเลือกจัดตารางเรียนและเข้าเรียนด้วยตนเองตามเวลา ส่วนเด็กเล็กจัดเวลาร่วมกับผู้ปกครอง เกิดเป็นทักษะใหม่ที่ไม่ได้จากการเรียนที่โรงเรียน
- อ่านและทำความเข้าใจ คู่มือกิจกรรมการเรียนที่ส่งไปพร้อมชุดการเรียนรู้ และลงมือทำได้ด้วยตนเองในเวลาที่ไม่ได้พบกับครู
- ใช้แอปพลิเคชันและโปรแกรมการเรียน การส่งงาน และการพบกับครูออนไลน์
- การเรียนรู้แบบกลุ่มใหญ่ กลุ่มย่อย ด้วยการประชุมเสมือนเรียนห้องเรียนจริง (Virtual Classroom)
- บริหารจัดการการทำงานร่วมกับกลุ่มเพื่อน และสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการนัดหมาย ประชุม อภิปราย หาข้อสรุปร่วมกัน เป็นต้น
- ออกแบบและนำเสนอความรู้ร่วมกับเพื่อนทางออนไลน์
ส่วนการ "Reskill" ที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ครูจิ๋วอธิบายว่ามีหลายประการ อาทิ การจัดเวลาทำงานให้เสร็จและส่งตามกำหนดด้วยตนเอง, การจัดระบบเอกสาร อุปกรณ์ การเรียน หนังสือ เพื่อเตรียมในการเรียนรู้ด้วยตนเอง, การสืบค้นข้อมูลผ่านผู้เชี่ยวชาญ อินเทอร์เน็ต หนังสือ และประมวลความเข้าใจด้วยตนเอง และการจัดทำสื่อเพื่อนำเสนอข้อมูลผ่านระบบออนไลน์
ฝั่งผู้ปกครองก็มีการ "Reskill & Upskill" เช่นกัน เนื่องจากผู้ปกครองก็คือหุ้นส่วนสำคัญของ “Learn from Home” ที่สำเร็จ ครูต้อย กล่าวว่า ผู้ปกครองต้องปรับ Mindset โดยการชวนคุยด้วยวงคล้ายๆ PLC แต่จะพบกับผู้ปกครองบ่อยขึ้น การทำงานกับผู้ปกครองต้องมากขึ้น และหากลวิธีต่างๆ ที่จะให้ผู้ปกครองเข้าใจการเรียนรู้ของนักเรียนผ่านการปฐมนิเทศออนไลน์, การใช้คู่มือ, การปรึกษาออนไลน์ และความร่วมมือกับความสัมพันธ์ ซึ่ง Mindset นี้ไม่ได้เปลี่ยนในครั้งเดียว แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง
“การ Reskill & Upskill ของผู้ปกครอง จะทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ ทั้งเรื่องพัฒนาการของลูกหลานตามวัย ถ้าลูกอยู่อนุบาลเรียนรู้อย่างไร ประถมเรียนรู้อย่างไร มัธยมเรียนรู้อย่างไร สำหรับบทบาทของพ่อแม่คือจัดตารางชีวิตการเรียนที่บ้านให้คล้ายกับที่โรงเรียน เป็นส่วนหนึ่งของการปรับเลาในชีวิตประจำวัน จัดพื้นที่ให้เขาได้เรียนรู้ (Learning Space)”