รู้จัก ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด สิทธิในชีวิต-สุขภาพประชาชน

รู้จัก ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด สิทธิในชีวิต-สุขภาพประชาชน

ที่ผ่านมา เราได้ยินคำว่า ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งผลักดันโดย เครือข่ายอากาศสะอาด เป้าหมายให้ประชาชนไทย ได้มีอากาศที่ปลอดภัยต่อชีวิต และ สุขภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิเบื้องต้นที่ประชาชนควรจะได้รับ

ร่าง "พ.ร.บ.อากาศสะอาด” ซึ่งประกอบด้วย 124 มาตรา 8 หมวด เป็นร่างกฎหมายฉบับประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา โดย “เครือข่ายอากาศสะอาด” การรวมตัวของกลุ่มคนจิตอาสาทั้งนักวิชาการสาขาต่างๆ และกลุ่มภาคประชาชน ในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศ และหาสาเหตุต้นตอในเรื่องนี้

 

ทั้งนี้ เครือข่ายอากาศสะอาด มีกลุ่มสมาชิกกว่าหลายร้อยคนที่เข้ามาทางานทั้งด้านวิชาการ และการเคลื่อนไหวทางสังคม ร่วมกับภาครัฐ และเอกชน เพื่อหาทางออกที่จะจัดการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย

 

“รศ.ดร.คนึงนิจ  ศรีบัวเอี่ยม” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าทีมยกร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแล การจัดการอากาศเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ กล่าวในงาน เสวนาออนไลน์ “กฎหมายอากาศสะอาดและการเชื่อมโยงกับความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม” ผ่านเฟซบุ๊ก สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด เกิดจากการเล็งเห็นช่องว่างของกฎหมายเดิมที่มีอยู่ไม่สามารถตอบโจทย์บางอย่างได้ จากการทบทวนพบว่ามีช่องโหว่หลายเรื่องในกฎหมายเดิมที่ยังไม่ครอบคลุม และการบังคับใช้กฎหมายในไทย มีความอ่อนแอในหลายจุด เนื่องจากระบบหลายอย่างที่ไม่เอื้อ

 

“ร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นเชิงปฏิรูป ที่ไม่ได้ยืนอยู่บนฐานเดิมที่มีอยู่ เพราะโครงสร้างเดิมหลายเรื่องไม่ได้เปิดช่องให้บางสิ่ง เช่น นวัตกรรม คำว่าปฏิรูปไม่ได้หมายความว่าปฏิรูปทั้งหมด แต่เป็นเฉพาะมุมของอากาศสะอาด ขณะที่บางมุมต้องคว้านลึกเพราะมีปัญหาสั่งสมมานาน การออกแบบโครงสร้างเดิมบางเรื่องจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน” รศ.ดร.คนึงนิจ กล่าว

ทั้งนี้ ภายใต้ ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ..... หรือ “ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด” หนึ่งในบทบัญญัติ 8 ประการของ ร่าง พ.ร.บ. นี้ ได้แก่ สิทธิของประชาชน ที่จะหายใจอากาศสะอาด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญและเป็นหมวดหนึ่งที่ถูกเขียนขึ้นมาและถือเป็นความชัดเจนที่สุดที่มีการกำหนดเรื่องสิทธิในกฎหมาย

 

  • สิทธิเชิงเนื้อหา

 

“ดนัยภัทร โภควณิช” นักกฎหมายมหาชนด้านสิทธิเสรีภาพ และผู้ประสานงานคณะทำงานด้านกฎหมาย เครือข่ายอากาศสะอาด อธิบายว่า สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ของระดับสากล แต่ในไทยถือเป็นครั้งแรกที่เขียนขึ้นมาอย่างเป็นกิจลักษณะ อย่างไรก็ตามสิทธิดังกล่าวมีมิติในการมองทั้ง “สิทธิเชิงเนื้อหา” ได้แก่ สิทธิในชีวิต และ สิทธิในสุขภาพ เราไม่สามารถมีชีวิตที่ดีและสุขภาพที่ดีได้ หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ทั้งสองสิทธิเป็นสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

 

ดังนั้น สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด เป็นสิทธิที่ทำให้บุคคลดำรงชีวิตด้วยอากาศสะอาดที่ไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ และไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยในร่าง พ.ร.บ. ได้กำหนดคำว่า “อากาศสะอาด” หมายถึง อากาศที่ปลอดสารมลพิษ หรือมีสารมลพิษเจือปนในปริมาณที่สูงกว่าปกติเป็นเวลานานพอที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินต่างๆ

 

กลุ่มหนึ่งที่ต้องได้รับการปกป้องจากกฎหมายนี้เป็นพิเศษ คือ “กลุ่มเปราะบาง” ซึ่งหมายถึง บุคคลที่มีความอ่อนแอทางร่างกาย มีภูมิคุ้มกันและความทนทานต่ำกว่าคนทั่วไป เช่น เด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยทางเดินหายใจ และผู้ทำงานกลางแจ้ง ซึ่งควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ แก่การได้รับการตรวจสุขภาพจาก รพ.ของรัฐ หรือสถานพยาบาลซึ่งรัฐจัดให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

  • สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด ในต่างประเทศ

 

เรื่องสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด เป็นเรื่องใหม่ของไทยก็จริง แต่ระดับสากลถูกพูดถึงมาในระดับหนึ่ง โดยในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ปี 2019 สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด ถูกเสนอแนะว่าควรถูกรับรองให้เป็นสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับ สิทธิในน้ำ (Right to River) ซึ่งได้รับการรับรองมาหลายสิบปี

 

ขณะเดียวกัน กฎหมายสิ่งแวดล้อมบางประเทศได้บัญญัติ “สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด” ไว้ในกฎหมายโดยตรง เช่น The Philippines Clean Air ประเทศฟิลิปปินส์ , The Environmental Code of France ประเทศฝรั่งเศส , The General Law on the Environment and Natural Resources 2000 of the Dominican Republic สาธารณรัฐโดมินิกัน โดยศาลภายในประเทศบางประเทศยืนยันว่า สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด เป้นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เช่น อินเดีย ปากีสถาน เป็นต้น

 

  • สิทธิเชิงกระบวนการ

 

สำหรับในมิติ “สิทธิเชิงกระบวนการ” ได้แก่ สิทธิที่จะรู้ข้อมูลข่าวสารด้านอากาศสะอาด รู้ข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพ รวมทั้งวิธีป้องกัน อาทิ ดัชนีคุณภาพอากาศ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพประชาชน และมาตรการเยียวยาสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่อีกหนึ่งไฮไลท์ คือ สิทธิที่จะรู้ข้อมูล บุคคลมีสิทธิที่จะร้องขอให้มี ระบบการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ รวมทั้งการบังคับใช้ระบบการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม

 

ถัดมา คือ สิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐ บุคคลมีสิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการกำหนดนโยบาย จัดทำกฎหมาย และกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ เช่น การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและแผนแม่บทอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ จัดทำกฎหมายเกี่ยวกับอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ เป็นต้น สุดท้าย คือ สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม บุคคลทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงและได้รับความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม โดยการช่วยเหลือจากองค์กร ในกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพและมีความรู้ความเข้าใจ

 

“ทั้งหมดนี้ นำไปสู่บทสรุปหน้าที่ของรัฐในภาพรวม กล่าวคือ เมื่อประชาชนมีสิทธิ รัฐมีหน้าที่ปกป้อง และทำให้สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด เกิดขึ้นจริงได้อย่างสมบูรณ์ โดยรัฐต้องอำนวยการและกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพอย่างบูรณาการ ทำอย่างไรก็ได้ที่ทำให้สิทธิหายใจอากาศสะอาดของประชาชนเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ทั้งหมดคือหัวใจสำคัญหรือเรียกว่ากระดูกสันหลังของร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ว่าได้ คือ เรื่องของสิทธิประชาชน” ดนัยภัทร กล่าว

 

รู้จัก ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด สิทธิในชีวิต-สุขภาพประชาชน

 

  • 6 เครื่องมือดันอากาศสะอาด

 

“ดร.ธีระวุฒิ เต็มสิริวัฒนกุล” นักกฎหมายภาษีอากร และ กฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มักจะเลือกเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ อะไรที่ทำให้เกิดหมอกควันพิษ จะต้องทำให้ประชาชนลดการใช้ให้ได้มากที่สุด ใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์มาผลักดันให้หันมาใช้เครื่องมือ หรือ รถยนต์ที่สะอาดแทน

 

ในกฎหมายอากาศสะอาด เบื้องต้นใช้ 6 เครื่องมือ ซึ่งดีไซน์โดยนักเศรษฐศาสตร์ ได้แก่ 

1.ภาษี จัดเก็บเพิ่มจากเครื่องจักร เครื่องยนต์ที่ไม่เป็นมิตรเพื่อให้ลดปริมาณการใช้ รวมถึงบุหรี่ สุรา 

2. ค่าทำเนียม ประเภทที่ใช้บำบัดและจัดการอากาศสะอาด 

3.ระบบฝากไว้ได้คืน เช่น ยางรถยนต์ ซื้อมา 1,1000 บาท ในจำนวนนี้ 1,000 เป็นค่าจำกัดอย่างถูกวิธี หากจำกัดไม่เป็นเอายางรถยนต์เก่ามาแลก 1,000 บาท เพื่อให้หน่วยงานนำไปใช้หรือกำจัดอย่างถูกวิธี

4. การปล่อยก๊าซหรืออากาศที่ไม่สะอาด โดยกำหนดเป็นพื้นที่ว่าผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่สามารถปล่อยหมอกควันพิษเท่าไหร่ในปริมาณที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

5.ประกันภัย เช่น ของเสียอันตราย รถยนต์ เครื่องจักรอันตราย ที่ทำให้เกิดหมอกควันพิษ

6. มาตรการสนับสนุน เช่น หาเทคโนโลยีช่วยเพาะปลูก เก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรกรในราคาที่คุ้มทุนลดการเผา