กทม.ตั้งเป้าฉีด "วัคซีนไฟเซอร์" นักเรียน ม.1-6 ครบ 2 เข็มก่อนเปิดเทอม
กทม.คาดฉีด "วัคซีนโควิด" กลุ่มครบ 2 เข็มเกินยอดประชากร 70 % เดือน ต.ค. ตั้งเป้าฉีด "วัคซีนไฟเซอร์" เด็กนักเรียนชั้น ม.1-6 และ ปวช./ปวส.ครบ 2 เข็มก่อนเปิดเทอม
วันที่ 13 ก.ย. ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.) พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กทม. ครั้งที่ 15/2564 โดยมีคณะอนุกรรมการฯ ร่วมประชุมผ่านระบบทางไกล
ทั้งนี้ ในที่ประชุมสำนักอนามัย รายงานผลการให้บริการวัคซีนโควิด จากจำนวนประชากรกรุงเทพฯ 7,699,174 คน มีผู้ที่ได้รับวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.-12 ก.ย.แบ่งเป็น
เข็มที่ 1 จำนวน 10,285,747 ราย (คิดเป็นร้อยละ 95.47)
เข็มที่ 2 จำนวน 2,723,759 ราย (คิดเป็นร้อยละ 35.38)
เข็มที่ 3 จำนวน 184,874 ราย
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์จะสามารถให้บริการวัคซีนเข็มที่ 2 ครบร้อยละ 70 ได้ภายในเดือน ต.ค.นี้
สำหรับแผนการให้วัคซีนเดือน ก.ย.ในสถานพยาบาลจะเป็นการให้บริการสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ โดยในกลุ่มของหญิงตั้งครรภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับน้อมเกล้าฯ ถวายวัคซีนซิโนฟาร์มจากผู้แทนสภากาชาดจีน จำนวน 100,000 โดสเพื่อใช้ในกิจการของสภากาชาดไทย และสภากาชาดไทยได้จัดสรรให้ กทม.เพื่อให้บริการกับหญิงตั้งครรภ์และสามี จำนวน 10,000 โดส โดยจะเร่งประชาสัมพันธ์และจัดฉีดให้แก่กลุ่มเป้าหมายต่อไป
นอกจากนี้ในที่ประชุม ได้รายงานการฉีดวัคซีนในหน่วยความร่วมมือ ไทยร่วมใจฯ ทั้ง 25 แห่ง ได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวน 120,000 โดส เพื่อให้บริการแก่ประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ระหว่างวันที่ 14-15 ก.ย.นี้ มาจากประชาชนที่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้าเมื่อวันที่ 9 -11 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยจะทำการฉีดตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมเข้มงวดสูงสุด แบ่งเป็นเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค และเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อให้การฉีดเข็มที่ 2 สามารถทำได้เร็วขึ้น
ในที่ประชุมยังได้พิจารณาแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับเด็กอายุ 12-17 ปี เป็นกลุ่มเป้าหมายนักเรียน นักศึกษาที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช./ปวส.) หรือเทียบเท่า คาดว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีกลุ่มเป้าหมายในสถานศึกษาทุกสังกัดประมาณ 400,000 คน แบ่งกลุ่มเป้าหมายการให้วัคซีนเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย
1.ระยะแรก เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 หรือปวช./ปวส.
2.ระยะสอง เป็นนักเรียนในระดับชั้นอื่น โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ควบคุมบริหารจัดการทั้งหมด
ในส่วนของ กทม.จะสำรวจกลุ่มเป้าหมายซึ่งผู้ปกครองต้องให้ความยินยอมในการรับวัคซีน จากนั้นจะจัดทำแผนจัดสรรและช่วงเวลาในการรับวัคซีน ขณะที่สถานศึกษาต้องเร่งประสานสถานพยาบาลเพื่อให้บริการวัคซีน พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ปกครองกลุ่มเป้าหมาย และแจ้งจำนวนนักเรียนที่จะเข้ารับวัคซีนโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ระมัดระวังการควบคุมคุณภาพวัคซีน เนื่องจาก "วัคซีนไฟเซอร์" ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิที่กำหนด โดยให้จัดระบบการบริหารจัดการที่ชัดเจน หากเป็นการฉีดที่สถานพยาบาลคาดว่าจะไม่มีปัญหา แต่หากเป็นการนำออกไปฉีด ที่โรงเรียน ต้องเป็นการฉีดในที่ร่มและไม่มีแสงแดด เพื่อให้วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค รวมทั้งให้เร่งจัดการระบบการฉีดให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. เพื่อให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายแรกได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มก่อนเปิดเทอม
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามรายงานทางวิชาการเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนไฟเซอร์และให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนในการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง อาทิ การงดออกกำลังกายหนักภายหลังรับวัคซีน รวมทั้งเตรียมพร้อมสถานพยาบาลในการดูแลหากมีผู้ได้รับผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนไฟเซอร์