สปสช. ส่งน้ำยา ล้างไต ถึงบ้าน รักษาต่อเนื่องผู้ป่วยพื้นที่ประสบอุทกภัย

สปสช. ส่งน้ำยา ล้างไต ถึงบ้าน รักษาต่อเนื่องผู้ป่วยพื้นที่ประสบอุทกภัย

สปสช. ห่วงผู้ป่วยสิทธิ บัตรทอง ในพื้นที่ประสบอุทกภัย จัดระบบรักษาต่อเนื่อง เตรียมงบช่วย รพ.ได้รับผลกระทบ พร้อมจัดส่งน้ำยา ล้างไต ถึงบ้านผู้ป่วยได้ตามปกติ

วันนี้ (14 ก.ย. 64) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดในหลายจังหวัดขณะนี้ ทั้งการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้ 'สปสช.' เตรียมข้อมูลการให้ความช่วยเหลือประชาชนและโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งคงต้องดูในส่วนของค่าใช้จ่ายงบฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ให้สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ ได้ และกำชับให้จัดระบบเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการต่อเนื่อง 

  • ส่งน้ำยา 'ล้างไต' ถึงบ้าน 'ผู้ประสบอุทกภัย' 

 

ในส่วนผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องนั้น สปสช.มีระบบส่งน้ำยา 'ล้างไต' ถึงบ้านและมีจำนวนเก็บสำรองได้มากเพียงพอ จากการติดตามสถานการณ์ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม และบริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด ยังไม่พบปัญหาผู้ป่วยขาดน้ำยาล้างไตและยังไม่มีหน่วยบริการใดแจ้งปัญหาเข้ามา ซึ่งน้ำยาล้างไตที่บ้านผู้ป่วยยังมีเพียงพอ และผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งต้องไปฟอกที่ รพ. สปสช.ได้จัดระบบเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากที่ไหนมีปัญหาก็สามารถหา รพ.สำรองให้ได้ทันที

  • ให้บริการโดยไม่คิดค่าบริการ

 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า สำหรับประชาชนทั่วไปนั้น ตามหลักเกณฑ์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติผู้ป่วยจะต้องรับบริการยังหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ในกรณีภาวะฉุกเฉิน บอร์ด สปสช.ได้เคยมีมติร่วมกันให้ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่สามารถรับบริการรักษายังหน่วยบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหน่วยบริการที่ให้บริการสามารถทำเรื่องเบิกค่าใช้จ่ายมาที่ สปสช.ได้ตามเกณฑ์ฉุกเฉิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องรักษาดูแลต่อเนื่องสามารถเข้าถึงบริการได้ ซึ่ง สปสช. ในแต่ละเขตพื้นที่ได้ประสานงานกองทุนสุขภาพตำบลของแต่ละ อบต.และเทศบาล ประสานเรื่องการรับส่งผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องแล้ว 

 

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น สปสช.ได้แจ้งหน่วยบริการทั้งภายในและภายนอกระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ให้บริการผู้ป่วยในช่วงน้ำท่วม ให้บริการโดยไม่คิดมูลค่า และสามารถเบิกงบประมาณจาก สปสช.ได้ ขณะที่การส่งข้อมูลชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ผ่านระบบ E-Claim นั้น สำหรับหน่วยบริการในพื้นที่ประสบอุทกภัย ไม่ต้องกังวลว่าจะส่งข้อมูลไม่ทันตามที่กำหนด สปสช.ได้แจ้งผ่อนผันการส่งข้อมูล โดยไม่ถือว่าเป็นข้อมูลล่าช้า