'สปสช.' ยกระดับ 'ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง' หนุน 'เครื่องล้างไตอัตโนมัติ' ใช้ที่บ้าน
'สปสช.' ยกระดับ 'ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง' สิทธิ 'บัตรทอง' หนุน 'เครื่องล้างไตอัตโนมัติ' ให้ใช้ที่บ้าน ส่งน้ำยาผ่านไปรษณีย์ฟรีทุกเดือน หวังเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย-ผู้ดูแล พร้อมตั้งเป้านำร่อง 500 ราย
วันนี้ (11 มิ.ย.64) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผอ.สำนักสนับสนุนระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ และนางพนิต มโนการ รอง ผอ.สปสช. เขต 4 สระบุรี ลงพื้นที่ รพ.ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ ต.องครักษ์ อ.องครักษ์ จ.นครนายก เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.64 เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินโครงการนำร่อง 'ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง' สิทธิ 'บัตรทอง' ล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) เพิ่มคุณภาพชีวิต 'ล้างไต' วิธีใหม่ในเวลากลางคืน
นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับการล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ('บัตรทอง') ที่ขยายเพิ่มขึ้นแก่ 'ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง' ระยะสุดท้าย ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการ 'ล้างไต' โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน โดยผู้ป่วยสามารถตั้งเวลาการทำงานของเครื่องไว้ได้ล่วงหน้า ไม่ต้องตื่นมากลางดึกเพื่อเติมน้ำยาล้าง ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้ดูแลนั้นดีขึ้น ส่วนตัวเชื่อว่าผู้ป่วยก็จะสบายใจขึ้น และไม่คิดว่าตนนั้นเป็นภาระของผู้ดูแล
“นโยบายนี้เป็นหนึ่งในการยกระดับ'บัตรทอง' ซึ่งไม่ได้เกิดกับคนมีฐานะ แต่ต้องจัดระบบเพื่อให้คนมีโอกาสเข้าถึง 'เครื่องล้างไตอัตโนมัติ' APD โดยเบื้องต้นกำหนดเป้าหมายนำร่องไว้ที่ 500 ราย” เลขาธิการ 'สปสช.' กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ส่งน้ำยาล้าง ทางไปรษณีย์
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า 'เครื่องล้างไตอัตโนมัติ' ตามระบบของ 'สปสช.' นั้นให้กับประชาชนโดยไม่มีค่าเครื่อง ส่วนในเรื่องของน้ำยาล้างนั้นจะส่งผ่านทางไปรษณีย์ไปให้กับผู้ป่วยที่บ้านทุกเดือน รวมไปถึงมีทีมพยาบาลคอยเข้าอบรมเรื่องของการใช้งานเครื่อง APD
นอกจากนี้ ทาง สปสช. จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้ได้มากที่สุดให้กับทุกคน ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีฐานะดีก็สามารถได้รับบริการที่ดี ในส่วนนี้น่าจะเป็นคำตอบว่า แม้จะเป็นโรคร้ายแรงหรือโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ก็สามารถปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้ป่วย และทำให้ผู้ป่วยนั้นมีความสุขกับการดำรชีวิตต่อไป
“ถ้าเราเริ่มต้นได้ และมีรูปแบบ คิดว่าต่อไปก็อาจจะมีความรวดเร็วมากขึ้น 'สปสช.' ก็จะรับนโยบาย อาจจะมีการเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อยกระดับครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในเรื่องของ 'โรคไต' ต้องเรียนก่อนว่าไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายนั้นยังมีการล้างทางเลือด และอีกหลายทาง ซึ่งเราก็จะดูทั้งหมดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุง และก็จะเสนอให้คณะกรรมการหลักฯ ได้ตัดสินใจอีกครั้ง” นพ.จเด็จ กล่าว
- ลดการติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วย 'โรคไต'
รศ.พญ.สิริภา ช้างศิริกุลชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไต หัวหน้าสาขาวิชา'โรคไต' โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ได้รับเครื่อง APD ทางโรงพยาบาลจะมีพยาบาลประจำดูแลคอยให้คำปรึกษาตลอด และมีการจัดส่งน้ำยาอย่างต่อเนื่อง จึงมีความสะดวกสบายและลดความเสี่ยงจากติดเชื้อโควิด-19
ทั้งนี้ โรงพยาบาลมีเกณฑ์คัดเลือกผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ'บัตรทอง'ที่จะได้รับเครื่อง APD ด้วย 2 ปัจจัย ได้แก่ 1. ปัจจัยทางการแพทย์ โดยพิจารณาจากความพร้อมของผู้ป่วย อาทิ ผู้ป่วยมีภาวะน้ำท่วมปอดบ่อย มีโรคร่วม เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และส่งผลต่อภาวะทุพโภชนาการ ฯลฯ 2. ปัจจัยทางสังคม ซึ่งจะพิจารณาผลกระทบของญาติที่ดูแลเป็นสำคัญ
ด้าน น.ส.สมควร ศรีมูล บุตรสาวที่ดูแลมารดาที่ได้ใช้เครื่อง APD กล่าวว่า มารดาของตนเริ่มการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) ตั้งแต่ปี 2560 โดยตนนั้นต้องเป็นผู้ดูแลเนื่องจากอยู่กับมารดาเพียงลำพัง ซึ่งที่ผ่านมามารดามีภาวะแทรกซ้อน ประกอบกับมีโรคประจำตัวโรคหัวใจ ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอดอยู่บ่อยครั้ง และต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา แต่ในปี 2564 นี้ได้รับเครื่อง APD จากการใช้สิทธิ'บัตรทอง'
อย่างไรก็ตาม มารดาของตนเองนั้นเริ่มใช้เครื่อง APD มาได้เกือบ 1 เดือน โดยในช่วงแรกมารดายังมีความกังวลในเรื่องของการเข้าห้องน้ำ เพราะต้องใช้ 'เครื่องล้างไตอัตโนมัติ' ในช่วงกลางคืน ซึ่งตรงนี้ตนเองได้มีการพูดคุยกับมารดาทำให้คลายความกังวลได้
น.ส.สมควร กล่าวต่อว่า การใช้เครื่อง APD นั้นสะดวกกว่าเดิมมาก และเตรียมขั้นตอนไม่ยุ่งยาก โดยพยาบาลจะสอนการใช้เครื่องให้ตนเองนั้นได้รู้ถึงวิธีการใช้ที่ถูกต้อง ส่วนในกรณีที่เครื่องมีปัญหานั้น ก็สามารถโทรติดต่อกับทางสายด่วนได้ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาตลอด
ขณะเดียวกันการใช้เครื่อง APD ยังทำให้การดำรงชีวิตของตนเองและมารดานั้นดีขึ้น ไม่ต้องคอยอดหลับอดนอนในช่วงกลางคืน ส่งผลให้ชีวิตในปัจจุบันของตนและมารดามีความสะดวกสบายมากขึ้น ลดความกังวลในขณะไปทำงานประจำ และสามารถทำอาชีพเสริมอื่นๆ ได้ โดยหลังได้รับเครื่อง APD มารดาก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รับประทานอาหารได้มากขึ้น สามารถกินยาได้ครบถ้วนตามแพทย์สั่ง
“ขอบคุณทาง 'สปสช.' ที่ได้ให้เครื่อง APD มา ซึ่งตรงเป็นโอกาสสำหรับผู้ป่วยจริงๆ เพราะผู้ป่วยไม่สามารถเลือกได้ว่าจะป่วยหรือไม่ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องหาวิธีการดูแลรักษาให้ดีที่สุด จนในที่สุด 'สปสช.' ก็ได้ให้เครื่อง APD มา ส่วนตัวรู้สึกว่าตรงนี้ทำให้ผู้ป่วยนั้นได้รับการรักษาที่เท่าเทียมกันอย่างที่ควรจะเป็น” น.ส.สมควร กล่าว