"ทุนพัฒนาอาชีพ"ป้องกันเด็กหลุดนอกระบบกว่า5 หมื่นคน
ยุคโควิด-19 สังคมเปลี่ยนสู่ชุมชน "ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมชุมชนเป็นฐาน" ชู Lifelong Learning ยึดวิถีชุมชนเป็นฐาน ช่วยพัฒนาผู้ด้อยโอกาสอยู่รอดสร้างงานสร้างอาชีพ
วิกฤตโควิด-19 และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้แรงงานนับพันนับหมื่นคนต้องตกงานชั่วข้ามคืน
อีกทั้งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้ 86%ของแรงงานไทย กว่า 16 ล้านคน เป็นแรงงานขาดทักษะฝีมือ มีวุฒิการศึกษาไม่เกินมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมีกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง ทั้งหมดนี้ คือ ที่มาของการจัดตั้ง “ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน”
วันนี้ (15 ก.ย.2564)ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) จัดงานเสวนาออนไลน์ Little Big Communities Talks EP.6 “Lifelong Learningเรียนรู้ตลอดชีวิต วิถีการพึ่งพาตนเองจากฐานชุมชน”
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า Lifelong Learning เรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นประเด็นสำคัญของกสศ. ในการก้าวไปข้างหน้าอีก 3 ปี และเป็นคำสำคัญที่ทำให้คนด้อยโอกาส เด็กและเยาวชนที่ออกนอกระบบมีพื้นที่การเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานการณ์ ทุกเรื่องราวที่เขาสนใจ
- "การเรียนรู้" เป็นสมบัติชีวิตสู้โควิด-19
Lifelong Learning การเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เป็นทุนทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งการเรียนรู้เหล่านี้จะแตกต่างกับการศึกษาในระบบโรงเรียน ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีการสอบ ไม่มีกรอบ ไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ ทุกคนเรียนรู้เท่ากัน เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้มนุษย์สมบูรณ์ ผู้ด้อยโอกาสไม่ว่าจะผู้ใหญ่ หรือเด็กจะได้กลับมาเห็นคุณค่าตัวเอง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
"การใช้ชุมชนเป็นฐานพวกเขาได้นำองค์ความรู้ ต้นทุนในชุมชนมาต่อยอด สร้างคนรุ่นใหม่ ยิ่งในยุคโควิด-19 การเรียนรู้เป็นสมบัติชีวิตที่ตอบโจทย์เรื่องภาวะโควิด-19 ได้มาก"ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
การใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอยู่ร่วมกัน ปัจจุบันทุกคนกำลังกลับไปบ้านเกิด ตกงาน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชน การสร้างวัฒนธรรมใหม่ เกิดวิชาทำมาหากิน และอื่นๆ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานจะเป็นการเรียนรู้ เป็นคำตอบให้คนตัวเล็กตัวน้อยในยุคโควิด-19 ได้มีอาชีพ มีรายได้ และมีความสามารถมากขึ้น
- ยุคโควิด ทำสังคมไทยเปลี่ยนกลับสู่ชุมชน
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า แนวโน้มของสังคมไทย คนจะไม่เข้าสู่กระแสหลัก ไม่มาเป็นผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรม ไม่เข้ามาในเมืองเพื่อใช้ชีวิตอย่างแข่งขัน แต่จะกลับไปสู่ชุมชน ไปใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ ที่เรียนรู้แบบเอ็กซ์ทีฟ เลินนิ่ง
โดยใช้ชุนชนเป็นฐาน มีการขยายเนื้องานจากส่วนกลางสู่ชุมชนมากขึ้น ซึ่งในโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ทำให้เกิดการเรียนรู้ ผลิตภัณฑ์สีเขียว จำนวนมากมาย เป็นวงจรการใช้พื้นที่สีเขียว ดูแลสิ่งแวดล้อม
นอกจากนั้น หลังจากนี้ต้องเตรียมการ เรื่องอีโค้ ทัวร์ หรือการท่องเที่ยววิถีชีวิต นักท่องเที่ยวยุคใหม่จะสนใจท่องเที่ยวในแหล่งภูมิปัญญาที่ชาวบ้านดำเนินการเอง ตามลักษณะของแต่ละชุมชน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบอยากสัมผัสความหลากหลายและความแตกต่างเชิงวัฒนธรรม เป็นนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสความเป็นธรรมชาติ
การใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งแวดล้อม ป่าเขาเป็นหลัก การทำผลิตภัณฑ์สินค้าๆ ต่าง จึงไม่ได้ซื้อตามทุนนิยมแต่จะซื้อด้วยการเห็นคุณค่าของมัน และทำให้ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้หญิง เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา คนว่างงาน ได้มีอาชีพ มีรายได้ มีสวัสดิการ เรื่องการดูแล ให้ท้องถิ่นชุมชนกลับมาเข็มแข็ง
- เด็กหลุดระบบการศึกษากว่า 5 หมื่นคน
จากการสำรวจเบื้องต้น พบว่า เด็กในระบบกำลังจะหลุดออกนอกระบบจำนวนมาก กว่า 57,000 คน ซึ่งถ้าเด็กกลุ่มนี้ออกจากระบบการศึกษาประมาณ 3 เดือน จะกลายเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงที่สุด เข้าสู่สังคมสีเทา ดังนั้น ในชุมชนจะต้องมีการเตรียมการรองรับเด็กนอกระบบเหล่านี้ด้วย ซึ่งทุกพัฒนาอาชัพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน จะช่วยเด็กกลุ่มนี้ได้
"อยากฝากเด็กและคนในสังคมตั้งแต่อายุ 18- 60 ปี อยากให้ขยายชุมชนกลุ่มนี้กลายเป็นอาสาสมัคร ปราชญ์ชาวบ้าน และเริ่มเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อสานต่องาน ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทุกกลุ่ม รวมถึงควรมีการเพิ่มตลาดให้กว้างขึ้น พยายามทำให้เกิดตลาดมีชีวิต กินได้ ขายได้ และมีตลาดออนไลน์ เป็นเรื่องท้าทายในการใช้ชุมชนเป็นฐานที่หน่วยงานเกี่ยวข้องต้องดำเนินการในเรื่องนี้” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว