ไอซียู "รพ.สนาม" หนึ่งปัจจัยสำคัญ ฝ่าวิกฤติ "โควิด-19"
มีการคาดการณ์ว่า "โควิด-19" จะอยู่กับเราไปอีก 1-2 ปี ไอซียู "รพ.สนาม" จึงถือว่ายังมีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง ซึ่งขณะนี้ เรียกว่าระบบสาธารณสุข มีความพร้อมมากขึ้น รพ.สนาม สามารถรองรับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวได้
ปัจจุบัน แม้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นจากเคยมีผู้ป่วยพุ่งกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน ขณะนี้ อยู่ที่ราว 1 หมื่นกว่ารายต่อวัน อย่างไรก็ตาม ยังต้องเตรียมความพร้อมขั้นสูงสุดโดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยสีเหลืองและเตียงผู้ป่วยสีแดงอยู่ โดยเฝ้าระวังและจะดูสถานการณ์จนถึงสิ้น ก.ย. เผื่อว่าสถานการณ์ระบาดกลับมาอีกจะได้สามารถรองรับได้ “ รพ.สนาม หรือไอซียูสนาม” จึงยังมีความจำเป็นที่ยังต้องมีอยู่
รพ.สนาม มทบ.11 เรียกได้ว่าเป็นไอซียู สนามแห่งแรก ให้การดูแลผู้ป่วยวิกฤติระดับสีเหลืองและ ผู้ป่วยสีแดง มี 3 เฟส รวม 494 เตียง เฟส 1 เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 2 ก.ค.จำนวน 154 เตียง เฟส 2 เปิดดำเนินการ 12 ส.ค. จำนวน 152 เตียง และ เฟส 3 เปิดดำเนินการ 1 ก.ย.จำนวน 188 เตียง เป็นศูนย์พักคอยระดับสูง (CI Plus)
รพ.สนาม แห่งนี้ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มณฑลทหารบกที่ 11 กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร และ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) : THG มีอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) 36 เครื่อง เครื่อง High flow 126 เครื่อง และรองรับผู้ป่วยระดับ Oxygen Cannula 144 เตียง
ในกรณีจำเป็น สามารถเพิ่มศักยภาพเพื่อรองรับเครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) ได้สูงสุดถึง 118 เครื่อง เตรียมเครื่อง High flow ไว้ถึง 160 เครื่อง รวมถึงเปิดบริการการล้างไตในห้องความดันลบให้แก่ผู้ป่วย โควิด-19 สีเขียว ซึ่งอาจไม่สามารถหาศูนย์ล้างไตที่ปลอดภัยได้
“นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงเม.ย. 64 สถานการณ์โควิดที่มีผู้ป่วยกว่าหมื่นรายต่อวัน ส่งผลให้สถานการณ์เตียงใน รพ.ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องขยายเตียงนอก รพ. เครือ THG ได้เปิดฮอสพิเทล 1 ใน 7 ฮอสพิเทลแรกที่เปิดในกทม. และพบว่าผู้ป่วยที่มาอยู่ฮอสพิเทล 10% จำเป็นต้องใช้ออกซิเจน ขณะที่ปัจจุบัน การที่มีผู้ติดเชื้อวันละหลักหมื่นราย มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ราว 1.4 แสนราย ในจำนวนนั้น เป็นผู้ป่วยอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจเกือบ 5 พันราย
จึงเป็นที่มาของการดำเนินการ "รพ.สนาม มทบ.11" ถือว่าเป็นศูนย์ดูแลรักษาโควิด-19 แบบครบวงจร ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ
1.ห้องรักษาพยาบาล และ ICU สนาม เสมือนจำลองห้อง ICU ของ รพ.ขนาดใหญ่ แบ่งพื้นที่ควบคุมเป็นสัดส่วนและมีห้องความดันลบที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งมีการติดตั้งแทงค์ผลิตออกซิเจนสำหรับใช้ภายใน รพ. ที่สามารถผลิตสำหรับเติมเข้าระบบเพื่อดูแลผู้ป่วยจำนวน 300 เตียงได้ตลอดทั้งวัน
การดูแลรักษาผู้ป่วยใช้ระบบ Non Touching แพทย์และพยาบาล สามารถดูแลติดตามอาการผู้ป่วยผ่านจอมอนิเตอร์ รวมถึงสื่อสารกับผู้ป่วยผ่านห้อง Control Room แบบเรียลไทม์ โดยไม่ต้องมีการสัมผัส มีการสร้างห้องน้ำ ห้องอาบน้ำความดันลบ นอกจากแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย ยังมีทีมพยาบาล 50 คน (สลับ 2 กะเช้า/ดึก รอบละ 50 คน) เจ้าหน้าที่ทั่วไป อีก 50 คน อาทิ เจ้าหน้าที่ห้องแล็บ ห้อง x-ray เจ้าหน้าที่คีย์ข้อมูล เจ้าหน้าที่เวรเปล แม่บ้าน เพื่อดูคนไข้ประมาณ 150 คนต่อเฟส
ทุกเตียงติดตั้งเครื่องมอนิเตอร์สัญญาชีพ สำหรับวัดความดัน ชีพจร ระดับออกซิเจน และบางเตียงมีเครื่องวัดคลื่นหัวใจ (ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการ) โดยข้อมูลต่างๆ จะถูกนำส่งเข้ามาผ่านจอมอนิเตอร์เพื่อสามารถติดตามดูแลผู้ป่วยแต่ละรายตลอด 24 ชม. ถือเป็น ICU สนาม และ Command Room ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
2. ห้องปฏิบัติการสำหรับตรวจผลเลือด ทั้งในขั้นตอนแรกรับ – ตรวจตามระยะอาการ หรือ ตามคำสั่งแพทย์ เพื่อหาค่าการติดเชื้อ ค่าความสมดุลสารน้ำและเกลือแร่
3. ศูนย์ฝึกอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในห้อง ICU จำลองเสมือนจริงแห่งแรกของประเทศไทย เนื่องจาก รพ.สนามแห่งนี้มีพยาบาลถูกส่งมาจากหลาย รพ. หรือเป็นผู้ช่วยในคลินิกเสริมความงาม หรือคลินิกทันตกรรมที่ว่างงาน จึงจำเป็นต้องนำมาเรียนรู้ อบรมเพื่อสร้างความเข้าใจและคุ้นเคยก่อนปฏิบัติงานจริง และยังเปิดกว้างเพื่อฝึกสอนให้บุคลากรจากโรงพยาบาลอื่น เข้ามาเรียนรู้เพื่อให้พร้อมปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิด
นอกจากนี้ ภายในศูนย์ฯ ยังเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไป ผู้ว่างงานที่มีทักษะ อาทิ แอร์โฮสเตส สจ๊วต นักศึกษาจบใหม่ เข้าฝึกอบรม เพื่อปฏิบัติงานสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ System Data Input หรือ การฝึกคีย์ข้อมูลระบบโรงพยาบาล การอ่าน Vital Sign ซึ่งเป็นอีกช่องทางสนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพแก่ผู้ว่างงานที่รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกทางหนึ่ง
“นพ.ธนาธิป” กล่าวต่อไปว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่คนไข้หนัก ในกลุ่ม รร.แพทย์ลดลง ดังนั้น เป็นการดีที่ รพ.หลักๆ จะได้กลับมาดำเนินการรักษาคนไข้ทั่วไปที่ไม่ใช่โควิด เช่น มะเร็ง หัวใจ สมอง กระดูก ผ่าตัด ฯลฯ ส่วนผู้ป่วยโควิดจะได้อยู่ นอก รพ. ไม่ปะปนกัน ขณะนี้ เป็นช่วงปรับมาตรการ ทุกคนก็ยังจับตามองกันอยู่ มีหลายสำนักบอกว่าจะกลับมา 2-3 หมื่นรายต่อวัน เราก็ต้องรอดูสถานการณ์ว่าจะเป็นอย่างไร
แต่เชื่อว่าโควิดจะอยู่กับเราอย่างน้อยปีถึงสองปีแน่ๆ คาดว่าไอซียู รพ.สนาม ต้องใช้ไปอีกถึงกลางปีหน้า ยังคงมีผู้ป่วยโควิดอาการหนัก ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งอยู่ในไอซียูสนาม เพื่อให้ รพ.สามารถรับคนไข้ได้ปกติ จะได้ไม่ต้องปะปนกัน แยกชุดบุคลากรเป็นเรื่องที่ดีของระบบ
“การรักษาคนไข้ที่ดีที่สุด คือ การทำให้แพทย์ พยาบาล บุคลากรด่านหน้ารู้สึกปลอดภัย หากเขารู้สึกปลอดภัย เขามีตัวช่วยเยอะ จะเพิ่มประสิทธิภาพในงาน หากระบบไม่ดีจะเกิดความหวาดระแวงเพราะทุกคนก็รักชีวิต และบุคลากรด่านหน้าคือคนที่เสี่ยง คีย์เวิร์ด คือ ต้องมองโควิดเป็นสงคราม นักรบของเราคือแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด่านหน้า ต้องทำให้เขาปลอดภัย และอาวุธครบมือ” นพ.ธนาธิป กล่าวทิ้งท้าย
- THG ดูแลผู้ป่วยโควิด
ตั้งแต่ 15 เม.ย. 64 ดูแลผู้ป่วยมากกว่า 15,000 ราย โดย “รพ.เครือ THG ทั้งในกทม. และต่างจังหวัด” มีผู้ป่วยสีเขียว 53 เตียง สีเหลือง 166 เตียง สีแดง 30 เตียง “รพ.เฉพาะกิจที่จัดตั้งใหม่” จำนวน 3 แห่ง รวมกว่า 800 เตียง ได้แก่ รพ.สนาม มทบ.11 รพ.สนามราชพิพัฒน์ 2 รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ขณะนี้ดูแลผู้ป่วยวิกฤติสีเหลือง 312 เตียง และสีแดง 240 เตียง
“ฮอสพิเทล” 10 แห่ง ดูแลผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง 2,256 ราย รวมทั้ง ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อกลาง กทม. โรงซ่อมบำรุงรถไฟ สถานีกลางบางซื่อ เขตจตุจักร และ ศูนย์พักคอย ประปาแม้นศรี เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ล่าสุดข้อมูล ณ วันที่ 6 ก.ย. 64 ดูแลผู้ป่วยโควิด 3,057 ราย