"เอริกา เมษินทรีย์" คิกออฟ Youth In Charge
D-Day วันเสาร์ 18 ก.ย.คิกออฟ แพลตฟอร์ม Youth In Charge เวทีพัฒนาเยาวชนผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเวทีเยาวชนใน World Economic Forum
เอริกา เมษินทรีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิน เดอะ ลีด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม Youth In Charge ร่วมด้วยองค์กรพันธมิตรได้ฤกษ์วันนี้ (18 ก.ย.) คิกออฟแพลตฟอร์มอย่างเป็นทางการ กับภารกิจการพัฒนาเยาวชนให้เป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ผ่านการกิจกรรมโครงการในชื่อ Youth in Charge Leadership Academy โดยได้คัดเลือกเยาวชนอายุระหว่าง 16-26 ปี จำนวน 85 คน ที่เข้าเกณฑ์การพิจารณาทั้งด้านความสนใจ ความหลากหลายทางเพศและอื่นๆ เพื่อให้ทุกคนที่เข้าร่วมได้รับมุมมองความคิดที่แตกต่างในสังคม โดยจะเริ่มต้นทำกิจกรรมในวันที่ 2 ต.ค.2564 รวมระยะเวลา 24 สัปดาห์
ทั้งนี้ Youth In Charge เป็นแพลตฟอร์มที่เอริกาและบิดา “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” อดีต รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวง อว.) ได้รับแรงบันดาลใจจากเวที World Economic Forum ที่มีโอกาสเข้าร่วมเมื่อช่วงต้นปี 2563 โดยมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่ที่เยาวชนมีโอกาสปฏิสัมพันธ์และทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ในภาคส่วนต่างๆ ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อออกแบบอนาคตและกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมทั้งเป็นเวทีสำหรับการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเจเนอเรชั่น บางส่วนให้เยาวชนได้เรียนรู้จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของผู้ใหญ่ บางส่วนมาให้ความคิดและมุมมองใหม่ๆ
เอริกา กล่าวว่า สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่วิกฤติโควิด 19 ในครั้งนี้อาจเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ครั้งแรกที่พวกเขาต้องเผชิญกับผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ ช่วงเวลาที่ควรเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด มีความสุขที่สุดในชีวิต เป็นเวลาที่เขาได้เปิดโลกกว้าง ได้พบคนใหม่ๆได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ กลับกลายเป็นช่วงเวลาเกือบ 2 ปีเต็มๆ ที่สูญหายไปและไม่สามารถทวงกลับคืนมาได้
การที่ครอบครัวเขาต้องเดือดร้อน ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจปากท้องและรายได้ การศึกษาของเขาแทบจะหยุดชะงักและขาดความต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหรือการที่อัตราการว่างงานมีแต่แนวโน้มสูงขึ้นและสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้เยาวชนสมัยนี้ไม่สามารถอยู่แต่ในส่วนของเด็ก เพราะเขาต้องเผชิญปัญหาและความเดือดร้อนเช่นเดียวกับที่ผู้ใหญ่ต้องเผชิญ ดังนั้น ในเมื่อเยาวชนเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและได้รับผลกระทบ ก็ควรได้รับสิทธิและโอกาสในการเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ การเป็นเยาวชน Generation ในยุคโควิด จำเป็นต้องมีความตื่นตัวและตื่นรู้ในประเด็นปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันต้องตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ความขัดแย้งของกลุ่มคนต่างๆในสังคม การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ความล้มเหลวและล้าหลังของระบบการศึกษาไทย หรือเรื่องของการขาดความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤติปัญหาต่างๆ
เอริกา กล่าวอีกว่า เหล่านี้เป็นตัวชี้วัดว่า แนวคิดและแนวทางแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆไม่เคยได้ผลในอดีตและคงไม่ได้ผลงานอนาคตเช่นเดียวกัน ทำไมเราไม่ดึงพลังของคนรุ่นใหม่ไอเดียใหม่ๆ มาร่วมเป็นพันธมิตรของเราและทำงานร่วมกับพวกเขาที่กำลังเป็นเยาวชนช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของชีวิต เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงวัยนี้จะเป็นภาพจำที่ติดตัวไปตลอดชีวิต เราคงไม่อยากให้เยาวชน Generation นี้มีความรู้สึกว่าสิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาพูดในสิ่งที่อยากทำ ไม่เคยได้รับความเชื่อมั่น ไม่เคยถูกรับฟัง
ด้วยเหตุนี้ Youth In Charge จึงเป็นพื้นที่ให้เยาวชนจากหลากหลายพื้นที่ สาขาการศึกษาและความสนใจ ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำงานร่วมกันทั้งกับคน Generation เดียวกันและกับผู้ใหญ่จากภาคส่วนต่างๆ เกิดการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคต ไม่ว่าจะเป็นทักษะการคิดวิเคราะห์ที่ฉับไว ทักษะการร่วมมือกันทำงานและการแบ่งปัน ทักษะการสื่อสาร ตลอดจนทักษะการคิดอย่างมีเหตุมีผลและความคิดสร้างสรรค์ แต่ที่สำคัญที่สุดคือทักษะแห่งความเป็นผู้ประกอบการ หรือ entrepreneurs กระทั่งสามารถที่จะเป็นตัวคูณที่นำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจและขยายโอกาสให้กับเยาวชนกลุ่มอื่นๆในสังคมไทยต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกิจกรรมการเปิดตัวครั้งนี้ผ่านระบบออนไลน์ กล่าวว่า วช.เป็นหน่วยงานดูแลการบริหารการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นท้าทายทางสังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นมุมมองทางเดียวกับอีกหลายองค์กรที่มองว่า เยาวชนกลุ่มที่เป็นความหวังในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามคำกล่าวที่ว่าเยาวชนคืออนาคตของชาติ
สำหรับกิจกรรมในโครงการนี้ถือเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ Action Research ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการในการวางแผนการค้นคว้าและการเตรียมเนื้อหาหลักสูตรต่างๆ ทำให้เห็นกระบวนการประเมินเยาวชนระหว่างจบหลักสูตร รวมไปถึงมีการสร้างกระบวนการเรียนรู้สภาวะแวดล้อมจากกิจกรรมโครงการต่างๆ ที่มีการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อพัฒนามาเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่สามารถนำไปขยายผลในวงกว้าง
ถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ทำให้ทางทีมวิจัยต้องปรับรูปแบบของกิจกรรมในหลายส่วนเป็นแบบออนไลน์ แต่ผลการดำเนินการของโครงการนี้สามารถนำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาการเรียนการสอนแบบ New Normal ในยุคต่อไปได้อีกด้วย ทาง วช.ภายใต้กระทรวง อว.มีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการวางรากฐานของระบบการศึกษาของไทยในอนาคตที่เชื่อมต่อการขับเคลื่อน และยังเป็นการสร้างผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาวางอนาคตประเทศไทย