เปิดหลักสูตรออนไลน์ จัดตั้ง "ศูนย์แยกกักตัวในชุมชน" อย่างไรให้ถูกวิธี
"ศูนย์แยกกักตัวในชุมชน" เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้คนในชุมชน หรือผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที ซึ่งการจัดทำศูนย์แยกกักตัวในชุมชน หรือ CI ปัจจุบันยังมีความจำเป็น เพราะโควิด 19 ยังระบาดหนัก และผู้ติดเชื้อสูงต่อวัน
สำหรับผู้นำชุมชน อาสาสมัคร และ ประชาชนทั่วไป ที่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร? สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แนะวิธีจัดตั้ง “ศูนย์แยกกักตัวในชุมชน” หรือ CI อย่างง่ายผ่านระบบ “อีเลิร์นนิ่ง” ที่เรียนรู้ได้ตลอดเวลา
รศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สสส. กล่าวว่า สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ มีพันธกิจพัฒนาศักยภาพ ให้คำปรึกษาภาคีเครือข่าย เพื่อยกระดับความสามารถนักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ การพัฒนาวิจัย และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ โดยร่วมกับวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต (CMU School of Lifelong Education) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขยายผลการอบรมออนไลน์สู่หลักสูตรแนวทางการจัดตั้ง ศูนย์แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation : CI) เป็นหลักสูตรการเรียนรู้ระยะสั้น ใช้เวลา 1 สัปดาห์ เรียนรู้และฝึกปฏิบัติทุกวัน มุ่งให้ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ฯ และเครือข่ายในพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในการจัดทำศูนย์แยกกักตัวในชุมชน หรือศูนย์พักคอย เปิดโอกาสให้ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร จิตอาสาในชุมชน บุคลากรในศูนย์พักคอย และนักสังคมสงเคราะห์ เข้ามาเรียนรู้ ผ่านระบบอีเลิร์นนิง ในเว็บไซต์ www.lifelong.cmu.ac.th ไม่มีค่าใช้จ่าย เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา เมื่อสำเร็จหลักสูตรจะได้รับใบประกาศนียบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ( e-certification)
“ในช่วง 3-6 เดือนนี้ ศูนย์แยกกักตัวในชุมชน มีความจำเป็น เพราะโควิด 19 ยังระบาดหนัก มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่แพร่เชื้อง่าย หลักสูตรการจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน จึงสำคัญและจำเป็นอย่างมาก เพื่อสนับสนุนระบบบริการสาธารณสุข ทั้งผู้ป่วยโควิด 19 หรือโรคไม่ติดต่อต่างๆ โดย สสส. ได้จัดอบรมนำร่องให้กับทางมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กลุ่มแรก 70 คน ได้ผลน่าพอใจ ทุกคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะไปทำงานในพื้นที่ และสามารถทบทวนบทเรียน มีที่ปรึกษาเป็นผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” รศ.ดร.นพ.นันทวัช กล่าว
นอกจากนี้ สสส. ได้ทำคลิปวิดีโอขั้นตอนการตั้งศูนย์แยกกักตัว คู่มือการจัดตั้ง ศูนย์แยกกักตัวในชุมชน Community Isolation (ฉบับปฏิบัติการ) ที่เข้าใจได้ง่าย มีคลิปวิดีโอสาธิตวิธีใส่-ถอดชุดป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment : PPE) วิดีโอสาธิตวิธีการใช้ชุดตรวจแอนติเจน (Antigen Test Kit : ATK) ในการตรวจคัดกรองการติดเชื้อโควิด 19 ที่สำคัญได้อัปเดตข้อมูลใหม่ๆ อยู่ตลอด ทั้งยังเตรียมแปลคลิปวิดีโอการตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชนเพื่อกลุ่มคนเปราะบางโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นภาษาอูรักลาโว้ย และภาษาไทใหญ่ เพื่อขยายผลต่อไปด้วย
หลักสูตรแนวทางการจัดตั้ง ศูนย์แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation : CI) สามารถเข้าไปดูรายละเอียด https://www.lifelong.cmu.ac.th/ หรือ ดาวน์โหลดคู่มือการจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน Community Isolation (ฉบับปฏิบัติการ) ได้ที่ http://ssss.network/w15nq