เช็กอาการแบบไหนเรียกว่า "Long COVID" เกิดหลังหายป่วย

เช็กอาการแบบไหนเรียกว่า "Long COVID" เกิดหลังหายป่วย

"ผู้หายป่วยโควิด-19" หลายคนรู้สึกว่าร่างกายไม่กระชุ่มกระชวยเหมือนเดิม หรือยังหลงเหลืออาการเหนื่อยหอบ นั่นเป็นเพราะภาวะ "Long COVID" ที่ต่อเนื่องจากอาการป่วย แล้วเราจะมีวิธีสังเกตและรักษาอย่างไร

ผู้ป่วยโควิด-19 หลายราย แม้จะหายป่วยและตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในร่างกายแล้ว อาจจะยังมีอาการหลงเหลืออยู่ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) เรียกอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่าภาวะ "ลอง โควิด” (Long COVID) หรืออาการหลงเหลือของเชื้อโควิด 19 ระยะยาว ภาวะ “Long COVID”  สามารถพบได้ทั่วโลก ส่วนใหญ่จะมีอาการหลังจากหายป่วยในช่วง 1-3 เดือนแรก พบได้ร้อยละ 30-50 ของผู้ป่วยโรคโควิด 19

 

  • แม้หายป่วย แต่กระทบอวัยวะบางส่วน 

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยว่า มีการศึกษาโดยรวบรวมข้อมูลผู้ป่วย 186,000 ราย ในประเทศอังกฤษ พบว่า 1 ใน 5 จะมีอาการโรคโควิด-19 ต่อเนื่องถึง 12 สัปดาห์ โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่ อ่อนเพลีย, ไอ, ปวดศีรษะ และมีผู้ป่วยราว 9.9 % ที่มีอาการอยู่หลังจาก 12 สัปดาห์ไปแล้ว

 

เช่นเดียวกับ รายงานการศึกษาทางการแพทย์จากหลายประเทศ ที่ติดตามผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงจนถึงกลุ่มอาการหนักต้องเข้ารักษาในรพ.โรงพยาบาล พบว่า หลังจากผู้ป่วยหายแล้ว อวัยวะบางส่วน มีความเสียหาย หรือ ถูกทำลายอย่างถาวร เช่น อาการปอดบวม หรือ เนื้อปอดถูกทำลาย โดยระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการเข้ารับการรักษา และการกำจัดเชื้อโควิดในร่างกายว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

 

นอกจากนี้ เชื้อโควิดยังส่งผลให้ โรคประจำตัว ของผู้ป่วยที่มีอยู่เดิมเกิด อาการรุนแรงมากขึ้น หลังหายจากโควิด-19 แล้ว เช่น โรคหัวใจ, โรคไต, ภาวะสมองเสื่อม คล้ายคลึงกับภาวะที่เกิดขึ้นตามหลังการติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ ที่เรียกว่า ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome) อาจมีความแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกันโดยที่อาจมีไวรัสซ่อนหลบอยู่ เป็นต้น

  • อาการของ “Long COVID” 

 

ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า อาการของ “Long COVID” แสดงออกได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกัน ไม่มีลักษณะตายตัว เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ได้แก่ 

  

  • ไอ มีไข้ ปวดศีรษะ
  • การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง
  • เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม
  • เหนื่อยล้า
  • ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ
  • ท้องเสีย
  • บางรายอาจมีอาการทางจิตใจ เช่น วิตกกังวล สมาธิสั้นลง หรือซึมเศร้าร่วมด้วย

 

โดย ผู้ป่วยโควิด 19 กลุ่มสีแดงหรือผู้ป่วยที่มีอาการป่วยรุนแรง จะมีโอกาสเกิดภาวะลองโควิดสูงกว่าผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการน้อย เนื่องจากอาจมีปัจจัยเรื่องความเครียดที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงป่วยเป็นโรคโควิด 19 จึงส่งผลต่อเนื่องอาจยาวนาน 3-6 เดือนได้กว่าจะกลับมาเป็นปกติ

 

  • ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิด “Long COVID” 

 

1. อายุ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ

2. เพศ โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

3. ผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ด้วย เช่น โรคหอบหืด และผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

  • หากพบอาการดังกล่าว ควรทำอย่างไร

 

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา แนะว่า หาก "ผู้หายป่วยโควิด-19" แล้วยังมีอาการที่กล่าวมา แนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากบางรายอาจเป็นผลจากตัวยาที่ใช้ในการรักษา หรือบางรายอาจจะมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย

 

"จึงต้องมีการตรวจเพิ่มเติมและทำการรักษาให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น และยังมีความเป็นไปได้ในผู้หายป่วยแล้ว บางรายอาจจะติดเชื้อ "โควิด 19" ซ้ำได้ โดยเฉพาะการติดเชื้อที่ต่างไปจากสายพันธุ์เดิม  แต่อาจไม่แสดงอาการชัดเจน"

  • ต้องทำการรักษาอย่างไร 

 

พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก อธิบายว่า การรักษา Long COVID รักษาตามอาการเป็นหลัก ผู้ป่วยสามารถรอให้หายเองได้หากรู้สึกถึงอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง เช่น มีอาการไอ เหนื่อย หอบมากขึ้น หรือมีอาการทางระบบประสาทที่มีมากกว่าปกติ เช่น รู้สึกสับสน

 

  • ฟื้นฟูสุขภาพกาย ใจ เมื่อหายป่วย

 

"ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและหาแนวทางการรักษาต่อไป การออกกำลังกายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การกลับมาทำงานของร่างกายได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ นอกจากนี้ป่วยต้องอาศัยกำลังใจทั้งจากตนเองและคนรอบข้าง อย่างเช่นการพูดคุย สื่อสาร ทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เพื่อบรรเทาความเครียด ก็สามารถช่วยให้สุขภาพจิตที่ย่ำแย่อันเนื่องมาจากภาวะLong COVID ดีขึ้นได้" พญ.เปี่ยมลาภ กล่าว