ภูเก็ตยอดโควิด-19เพิ่ม เกิดอะไรขึ้นที่“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”

ภูเก็ตยอดโควิด-19เพิ่ม เกิดอะไรขึ้นที่“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”

เกิดอะไรขึ้นในจ.ภูเก็ต? ต้นแบบการเปิดเมือง“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังเดินมาราว 2เดือน กลับมีผู้ติดโควิด-19 เพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่เมืองอื่นๆควรต้องเรียนรู้ก่อนตามรอยแผนเปิดเมือง เพื่อป้องกันไม่เกิดเหตุซ้ำรอย โดยเฉพาะ “กรุงเทพแซนด์บ็อกซ์”

ยอดจองเข้าพักกว่า  5 แสนคืน
        เมื่อวันที่  23 ก.ย.2564 ข้อมูลเกี่ยวกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ภูเก็ต สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 ตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานภูเก็ต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ระบุว่า จำนวนคืนของผู้เข้าพักSHA+ ยอดการจองก.ค.-ก.ย.2564 จำนวน 541,760 คืน แยกเป็น เดือนก.ค. 190,860 คืน เดือนส.ค. 176,121 คืน และเดือนก.ย. 174,779 คืน ส่วนช่วงต.ค.2564-ก.พ.2565 มีการจองแล้ว 127,047 คืน
          ขณะที่ จำนวนนักท่องเที่ยวสะสม 85 วัน ตั้งแต่ 1 ก.ค.-23 ก.ย. 2564 จำนวน 35,905 คน ไม่พบผู้ติดเชื้อ 35,804 คน คัดกรองพบเชื้อ 101 คน  ตรวจครั้งที่ 2  จำนวน 34,025 คน ไม่พบเชื้อ 33,993 คน คัดกรองพบ 32 คน ตรวจครั้งที่ 3 จำนวน 22,833 คน ไม่พบเชื้อ 22,826 คน คัดกรองพบ 7 คน 

อ่านข่าว : ท่องเที่ยวเชียงใหม่ ‘ขานรับ’ เลื่อนเปิดเมือง

เหลือเตียงรองรับ 452
        สำหรับสถานการณ์โควิด-19ในจ.ภูเก็ต ผู้ติดเชื้อรายใหม่วันที่ 23 ก.ย. 2564 จำนวน 228 ราย  เสียชีวิต 3 ราย  ติดเชื้อสะสมระลอกเม.ย.2564 จำนวน 9,725 ราย รักษาหาย 5,789 ราย และคงรักษา 4,080 ราย
      ส่วนสถานการณ์การใช้เตียงของจังหวัดภูเก็ต  เตียงระดับ 3 รองรับผู้ป่วยสีแดง  รวม 49 เตียง  ครองเตียงรวม 35 เตียง คิดเป็น 71.43 % ว่าง 14 เตียง คิดเป็น 28.57 % 
       เตียงระดับ 2 ดูแลผู้ป่วยสีเหลือง รวม 418 เตียง  ครองเตียง 347 เตียง คิดเป็น 83.1 % ว่าง 71 เตียง คิดเป็น 16.99 %
และเตียงระดับ 1 ดูแลผู้ปวยสีเขียว รวม 1,943 เตียง แยกเป็นรพ.สนามครองเตียง 364 เตียง  คิดเป็น 78.11% ว่าง 102   เตียง คิดเป็น 21.89 %  และฮอสพิเทล ครองเตียง 1,212 เตียง คิดเป็น 82.06 % ว่าง 265  เตียง คิดเป็น 17.94 %  

   ภาพรวมจำนวนเตียงในจังหวัด ทั้งหมด 2,410 เตียง  ครองเตียง  1,958 เตียง คิดเป็น 81.24 % เตียงว่าง 452 เตียง คิดเป็น 18.76 %

      ช่องโหว่ที่ทำให้ระบาด

    นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงการถอดบทเรียนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ว่า ได้เรียนรู้ว่ามาตรการสามารถป้องกันเชื้อโรคจากต่างประเทศมาภูเก็ตได้ค่อนข้างดี แต่ปัญหาที่เกิด คือ คนในพื้นที่เอง อาจมีการนำแรงงานทั้งที่ถูกและผิดกฎหมายกลับเข้ามา โดยที่แรงงานกลุ่มดังกล่าวยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมถึง ไม่ได้เค่รงครัดในการดำเนินการตามมาตรการต่างๆที่กำหนดวางไว้  

      “ต้องเรียนว่า ไม่ใช่เพียงมาตรการสาธารณสุข แต่วินัยของทุกคนสำคัญที่สุด อย่างที่ท่านนายกฯ กล่าวในระหว่างการตรวจเยี่ยม จ.เพชรบุรี ว่า วินัยกับการจัดการของคนในพื้นที่สำคัญมาก หากทุกคนไม่ช่วยกัน คิดว่าปล่อยให้เข้ามา 1-2 คน ไม่เป็นอะไร แต่ถ้ารวมกันหลายคนก็เกิดปัญหาระบาดได้ ดังนั้น การจัดการกับความร่วมมือของคนในพื้นที่ ผู้ประกอบการในพื้นที่สำคัญที่สุด”นพ.โอภาสกล่าว

       สิ่งที่ 5 จ.เป้าเปิดเมืองต้องพร้อม

       นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า คนใน 5 จังหวัดนำร่องเปิดการท่องเที่ยว จะต้องเตรียมความพร้อมด้วยการดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ซึ่งที่ผ่านมามีการผ่อนคลายพอสมควร โดยสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น คือ การรับแรงงานต่างชาติที่ไม่ฉีดวัคซีนเข้ามาทำงาน หากจะรับแรงงานต้องตรวจสอบ แยกกักก่อน และฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน รวมถึง มาตรการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ก็ต้องทำให้ครบถ้วนด้วย อย่างร้านอาหารบางที่เรากำหนดให้นั่งรับประทานได้ 50% ของพื้นที่ แต่ก็เปิดให้นั่งเกือบ 100%

      “ต้องร่วมมือทุกฝ่าย ลำพังจะให้เจ้าหน้าที่รัฐไปตรวจสอบทุกที่คงไม่ได้ ขอให้อดทนซักนิด หากสถานการณ์ดีขึ้น ก็จะค่อยๆ ผ่อนคลาย ร่วมกับการฉีดวัคซีนที่ค่อยๆ มากขึ้น ซึ่งท่านนายกก็เร่งการฉีดวัคซีนโควิด-19ให้ได้ตามแผน ขณะนี้จะเห็นว่าเราฉีดวัคซีนได้เร็วกว่าแผน คือ เดิมสิ้นเดือนก.ย. ต้องฉีดวัคซีนได้ 40 ล้านโดส แต่ตอนนี้ฉีดได้กว่า 46 ล้านโดส เมื่อถึงสิ้นเดือนก็คาดว่าจะได้ 50 ล้านโดส ถือว่าเร็วกว่าแผนถึง 10 ล้านโดส ก็อาจจะทำให้สามารถผ่อนคลายมาตรการและเปิดเมือง เปิดประเทศได้เร็วขึ้น” นพ.โอภาส กล่าว

        ลดวันกักตัวรับเดินทางเข้าไทย
       ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2564 คณะกรรมการฯมีมติเห็นชอบการลดระยะเวลาการกักกันผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ได้รับการกักตัวในสถานที่กักกัน หรือลดวันกักตัว จากเดิมที่ต้องกักกัน 14 วัน  โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่  1.ลดเหลือ 7 วัน  สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดส ตรวจหาเชื้อด้วยวิธีมาตรฐานRT-PCRก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย และเมื่อมาถึงประเทศไทยจะต้องตรวจหาเชื้ออีก 2 ครั้งในวันที่ 0 และวันที่ออกจากสถานที่กักกัน ทกช่องทางเข้าออกประเทศ
    2. ลดเหลือ 10 วัน  ในผู้ที่ไม่มีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนครบโดส  เมื่อถึงไทยต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธีRT-PCR  2 ครั้ง ในวันที่ 0-1 และวันที่ออกจากสถานที่กักกัน  ในส่วนของการเดินทางอากาศ

และ3.กักตัวอย่างน้อย 14 วัน  ในผู้ที่ไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธีRT-PCR 2 ครั้ง ในวันแรกที่มาถึงประเทศไทย และวันที่ 12-13  สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าทางบก เนื่องจากไม่มีการตรวจหาเชื้อมาก่อนและมีอัตราการติดเชื้อมากกว่าทางอากาศ โดยจะมีการเสนอศบค.เพื่อพิจารณาต่อไป  โดยหลักจะใช้เกณฑ์เดียวกันในทุกประเทศ เว้นแต่จะมีเหตุการณ์อื่นๆเพิ่มเติม จะใช้อำนาจของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเพิ่มเติมได้