"สยามไบโอไซเอนซ์" จากจุดเริ่มต้นเข้าถึงยา สู่การผลิต "วัคซีนโควิด-19"

"สยามไบโอไซเอนซ์" จากจุดเริ่มต้นเข้าถึงยา สู่การผลิต "วัคซีนโควิด-19"

คณบดีคณะแพทย์ ศิริราชฯ กล่าวปาฐกถา หัวข้อ บทบาท "สยามไบโอไซเอนซ์" ในฐานะผู้ผลิต วัคซีนโควิด-19 เนื่องใน "วันมหิดล" ปี 2564 จากจุดเริ่มต้นคนไทยเข้าถึงยาคุณภาพ สู่การพัฒนาผลิตวัคซีน "แอสตร้าเซนเนก้า"

วันนี้ (24 ก.ย. 64) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปาฐกถาเทิดพระเกียรติ เนื่องใน วันมหิดล ประจำปี 2564 ในหัวข้อ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กับบาทบาทผู้ผลิต วัคซีนโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ Sirirajpr โดยระบุว่า เมื่อเกิดวิกฤติ โควิด-19 ในประเทศไทย ทางรัฐบาลไทยมีแนวทางจัดหาวัคซีน เพื่อคนไทย เช่นเดียวกับในหลายประเทศ โดยในประเทศไทยดำเนินการใน 3 ลักษณะ ได้แก่ การวิจัยและพัฒนาในประเทศ ความร่วมมือกับต่างประเทศ นำเทคโนโลยีมาใช้ผลิตให้ทันกับสถานการณ์ และจัดซื้อ จัดหา วัคซีนมาใช้ในประเทศ

 

เวลาพูดถึงวิกฤติโควิด-19 เราต้องแข่งกับเวลา ของบางอย่างเราผลิตอย่างเดียวอาจจะไม่ทัน เบื้องต้นต้องจัดหามาก่อน แต่ขณะเดียวกันเมื่อจัดทำผลิต ซึ่งนำเทคโนโลยีเข้ามา ต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้รองรับ และมากไปกว่านั้น การวิจัยเพื่อสร้างวัคซีนต่อไปในอนาคต

 

  • รู้จัก "สยามไบโอไซเอนซ์" 

 

บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด มาจากพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงพระราชทานพระราชดำรัสเรื่องสุขภาพของประชาชน ด้วยทรงเห็นว่า 'คน' เป็นปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาประเทศ สร้างความพอมี พอกิน และทรงให้ความสำคัญในกาฟื้นฟูปัญหาสุขภาพของประชาชน เพื่อการพัฒนาประโยชน์สุขให้เกิดกับส่วนรวมและประเทศชาติ

 

ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2552 โดยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถือหุ้น 100% ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 บริษัทหลักคือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และบริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด เพื่อให้คนไทย สามารถเข้าถึงยาที่มีคุณภาพ (สูง) ในราคาที่เหมาะสม (ไม่สูง) เนื่องจากไทยนำเข้ายาจากต่างประเทศไม่น้อยและผู้ป่วยด้อยโอกาสไม่สามารถเข้าถึง

ดำเนินการ วิจัย พัฒนา และผลิตยา เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ มีการวิจัยพัฒนาและผลิตครบวงจร ตั้งแต่ตัวยาสำคัญและสารออกฤทธิ์ จนถึง ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

 

ขณะที่ บริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2553 เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการตลาดและการ ขายทั้งในประเทศและส่งออก รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจสร้างเครือข่ายพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งสองบริษัททำงานประสานกันเพื่อให้คนไทยเข้าถึงยา

 

ในปี 2560 เครือสยามไบโอไซเอนซ์ ได้มีการจัดตั้งบริษัทลูกอีก 2 บริษัท เพื่อต่อขยายธุรกิจ คือ "บริษัท เอบินิส จำกัด" เพื่อวิจัย พัฒนา ผลิตและส่งออกยาชีววัตถุอย่างครบวงจร เน้นยารักษาโรคมะเร็ง โรคโลหิตจาง และ โรคแพ้ภูมิตนเอง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ สะเก็ดเงิน เป็นต้น โดยเป็นบริษัทร่วมทุน กับ CIMAB รัฐวิสาหกิจยาอันดับหนึ่งของคิวบา

 

บริษัท อินโนไบโอคอสเมด จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่าย ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ชีวเวชสำอาง ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากงานวิจัยและพัฒนาของเครือฯ

 

  • สู่การผลิตวัคซีนโควิด-19

 

วันที่ 12 ต.ค.2563 กระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ได้ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 AZD1222 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด โดยในหนังสือแสดงเจตจำนงระบุว่า

 

"ข้อตกลงในวันนั้น คือ ทุกฝ่ายตกลงจะทำงานร่วมกัน เพื่อเสริมศักยภาพด้านกำลังการผลิตของ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ให้พร้อมรองรับการผลิตวัคซีนจำนวนมากเพื่อให้ประเทศไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและทันเวลา ทั้งนี้ แอสตร้าเซนเนก้า มีโรงงานผลิตวัคซีนทั่วโลกกว่า 20 แห่ง แต่ในประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนดังกล่าวได้สำเร็จเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น การผลิตต้องครอบคลุมภูมภาคอาเซียน"

 

  • ทำไมสยามไบโอไซเอนซ์ ต้องผลิตวัคซีนโควิด

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ในวันที่มีการลงนามความร่วมมือ 12 ต.ค. 63 สถานการณ์ในไทยยังค่อนข้างดีมาก อัตราการติดเชื้อใหม่ 1-2 หลัก อัตราเสียชีวิตน้อยมาก แต่ในวันนั้นสถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากกว่า 3 แสนรายต่อวัน รัฐบาลไทยเริ่มมอง ขณะเดียวกัน การจัดหาวัคซีนในเวลานั้น หลายบริษัทถูกจองไปเรียบร้อยแล้ว และยากที่จะหาได้ทัน

 

รัฐบาลดำเนินการคู่ขนานไปทันที และพยายามจัดหาวัคซีนที่จัดหาได้ให้ทัน ขณะเดียวกัน ดำเนินการเตรียมความพร้อมผลิตวัคซีนเอง โดยบริษัทที่จับมือ คือ แอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากข้อมูลการวิจัยในเวลานั้น เป็นวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และราคาที่สามารถจัดหาได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่สยามไบโอไซเอนซ์ เข้ามาเกี่ยวข้องกับการผลิตวัคซีนให้กับสังคมไทย

 

  • การดำเนินการหาวัคซีนของไทย

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ในการดำเนินการจัดหาวัคซีนทั้งสามรูปแบบ ในช่วงต้นเป็นการวัคซีนเชื้อตายเข้ามา ได้แก่ ซิโนแวค และตอนนี้มีซิโนฟาร์ม และประเทศไทยมีการผลิตวัคซีน Egg-based Vaccine คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล และองค์การเภสัชกรรม ขณะเดียวกัน มีการพัฒนาวัคซีนใบยาเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดซับยูนิตวัคซีน (subunit vaccine) โดยการทำงานร่วมกันระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด รวมถึง วัคซีน Viral Vector จับมือกับ แอสตร้าเซนเนก้า พัฒนาองค์ความรู้ต่อไปในอนาคต และวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งพัฒนาในไทย คือ คณะแพทย์ จุฬาฯ และ Bionet-Asia

 

  • เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต "แอสตร้าเซนเนก้า"

 

เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิด Viral Vector ใช้กระบวนการ Recombinant Technology โดยใช้ Mammalian Cells เป็นเซลล์ผู้ผลิต สำหรับแอสตร้าเซนเนก้า ใช้ไวรัสที่มาจากลิงชิมแปนซี ที่ก่อโรคหวัดในลิง และนำพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสไปรส์โปรตีนเข้าไป และฉีดวัคซีนเข้าไปในตัวเรา สุดท้ายจะมีการสร้างภูมิคุ้มกัน

 

สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่สามารถผลิตชีววัตถุโดยใช้ Recombinant Technology จาก Bacteria และ Mammalian Cells ได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในประเทศ และต่างประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561

 

ที่ผ่านมา มีการเริ่มสร้างโรงงานสำหรับการผลิตชีววัตถุโดยใช้ Mammalian Cells ในปี 2559 โดยมีกำลังการผลิตหลักจาก Bioreactor ขนาด 2,000 ลิตร จำนวน 2 สายการผลิต ซึ่งโรงงานนี้ ได้นำมาปรับใช้เพื่อการผลิตวัคซีนโควิด-19

 

ทุกขั้นตอนการผลิต ถูกประเมินตรวจสอบเข้มงวด และต้องประเมินในต่างประเทศ มีการส่งมอบในเดือนมิ.ย. 64 และขณะนี้ยังมีการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายเริ่มจัดสรรวัคซีนสำหรับประชาชนชาวไทยได้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ซึ่งก็เป็นไปตามเป้าหมาย ถึงแม้จะช้าไปบ้าง ขณะนี้ แอสตร้าเซนเนก้า ถูกใช้ไปกล่า 130 ประเทศทั่วโลก เหตุผลหนึ่งคือราคาที่ไม่ได้แพงมากนัก และคุณภาพเป็นที่ยอมรับ และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ COVAX ในการกระจายวัคซีนไปประเทศต่างๆ

 

ทั้งนี้ นับว่าสยามไบโอไซเอนซ์ ใช้ความพร้อมและประสบการณ์ที่มีในด้านการผลิตชีววัตถุโดยใช้ recombinant technology จากเซลล์สัตว์ ซึ่งเดิมใช้กับการผลิตยาชีววัตถุ มาใช้กับการผลิตวัคซีนประเภท Viral Vector แบบของวัคซีน AstraZeneca

 

“วัคซีนที่ผลิตได้ช่วยลดความรุนแรงของการระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึง การถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก Astrazeneca เสริมให้บุคลากรในประเทศไทย สามารถมีความรู้ และประสบการณ์จริงในการผลิตวัคซีนประเภท Viral Vector เป็นฐานความรู้และประสบการณ์การผลิตวัคซีนประเกท Viral Vector สามารถช่วยให้ องค์กรอื่น ๆ ในประเทศที่ต้องการพัฒนา และขยายกำลังการผลิตวัคซีนประเภทนี้ ให้สามารถทำได้ในระดับอุตสาหกรรม และมาตรฐานระดับโลก” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย