ส่องแนวคิด "คนรุ่นใหม่" ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ "ความยั่งยืน"
"คนรุ่นใหม่" นับเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในด้านต่างๆ รวมไปถึงด้าน "สิ่งแวดล้อม" การรับฟังมุมมองจากคนรุ่นใหม่ จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เปิดโอกาสให้พวกเขา ได้ออกแบบชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคต รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง "ความยั่งยืน"
อีเลคโทรลักซ์ เผยผลสำรวจเชิงลึก โดยทำการศึกษาในกลุ่มเยาวชนเกือบ 14,000 คนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย พบว่า คนรุ่นใหม่ ไม่เพียงเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างจริงจังเพื่อโลกที่ดีขึ้น แต่ยังเชื่อมั่นว่าตนเองมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้สนับสนุนและผู้นำเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น
การสำรวจครั้งนี้จัดทำโดยบริษัทวิเคราะห์ United Minds ในนามของอีเลคโทรลักซ์ ประกอบด้วย การสำรวจเชิงปริมาณและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสำรวจเชิงปริมาณจัดทำขึ้นแบบออนไลน์ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-20 ปีใน 13 ประเทศ (อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล ชิลี ฝรั่งเศส เยอรมนี อิสราเอล โปแลนด์ สวีเดน ไทย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เวียดนาม) โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 1,000 คนในแต่ละตลาด (ทั้งหมดรวม 13,886 คน) ผู้ตอบแบบสอบถามได้รับแบบสอบถามจาก CINT ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทำแบบสำรวจ มีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก 17 ครั้งกับกลุ่มเยาวชนอายุ 15–20 ปี ในทั้ง 13 ประเทศ การเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจัดทำขึ้นระหว่าง 19 กุมภาพันธ์ - 16 มีนาคม 2564
การสำรวจดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของอีเลคโทรลักซ์ที่จะบรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายสำหรับปี 2030 (พ.ศ. 2573) ในการสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยั่งยืนยิ่งขึ้นให้กับผู้คนทั่วโลก โดยการสอบถามมุมมองของเยาวชนคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยได้ชวนเยาวชนทั่วโลกมาทำงานร่วมกับทีมวิจัยและออกแบบ ซึ่งมีภารกิจในการเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงสู่ ความยั่งยืน ตลอดจนผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงชั้นนำของโลก ที่ศูนย์สร้างสรรค์ นวัตกรรม ของอีเลคโทรลักซ์ เพื่อสรรหา โซลูชั่น ที่ลงตัวสำหรับการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น
- คนไทยรุ่นใหม่ สนับสนุนความยั่งยืน
สำหรับในประเทศไทย ผลการศึกษาจากเยาวชนไทย 1,127 คนที่ร่วมตอบแบบสอบถาม พบว่า คนรุ่นใหม่ไม่เพียงมองว่าตนเองจะเติบโตเป็นผู้นำในอนาคตเท่านั้น แต่ 54% ยังเชื่อว่าตนเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านความยั่งยืนอย่างแข็งขัน และได้พยายามโน้มน้าวผู้อื่นให้มีหันมาใช้ชีวิตที่ยั่งยืนมากขึ้นแล้วในปัจจุบัน ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ หรือ 62% เต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างจริงจังเพื่อโลกที่ดีขึ้น
ในขณะที่เยาวชนไทยมีความเต็มใจทำในส่วนที่ทำได้แล้ว แต่กลับรู้สึกท้อแท้กับความล้มเหลวของคนรุ่นก่อน โดย 6 ใน 10 คนมีความเห็นว่าคนรุ่นใหม่ต้องเข้ามาดูแลแก้ไขสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำพลาดไป และส่วนใหญ่ถึง 58% รู้สึกว่าเยาวชนได้พยายามส่งเสียงเรียกร้องแล้วแต่กลับไม่มีผู้ใหญ่รับฟัง
- กุญแจสู่ความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน ในมุมมองคนรุ่นใหม่
ผลการสำรวจพบว่า คนไทยรุ่นใหม่ เห็นว่าการศึกษาเกี่ยวกับประเด็น ความยั่งยืน (69%) และนวัตกรรมที่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (67%) เป็นทางออกที่สำคัญที่สุดเพื่อเปลี่ยนไปสู่สังคมที่ยั่งยืนมากขึ้น เมื่อพูดถึงบ้านในอนาคต คนรุ่นใหม่ให้ความใส่ใจกับการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในเรื่องอาหาร น้ำ และพลังงาน ซึ่งมีความสำคัญต่อพวกเขามากกว่าเทคโนโลยีอัจฉริยะในบ้านซึ่งไม่มีความยั่งยืนที่ชัดเจน
- อนาคตของการบริโภคและประกอบอาหาร
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ คนไทยรุ่นใหม่ อยากทำที่บ้านในอนาคต คือ การผลิตอาหารขึ้นเอง (31%) ปรุงอาหารจากพืชให้มีรสชาติอร่อย (28%) และแปรสภาพเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยหรือรีไซเคิลเศษอาหารได้ทั้งหมด (27%) มีเพียง 16% เท่านั้นที่ต้องการบริโภคอาหารสำเร็จรูปแทนการปรุงอาหารกินเอง ขณะที่ 10% เชื่อว่าจะได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ผลิตขึ้นในห้องปฏิบัติการ 9% เชื่อว่าจะได้บริโภคโปรตีนจากแมลง และมีเพียง 10% เท่านั้นที่เชื่อว่าตนจะไม่ต้องทำอาหารเลยในอนาคต
- อนาคตของการใช้และดูแลเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม
สำหรับความเห็นเกี่ยวกับการใช้เสื้อผ้าอย่างยั่งยืนในอนาคต คนไทยรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการดูแลและซ่อมแซมเสื้อผ้าเพื่อให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น (67%) และลงทุนในเสื้อผ้าคุณภาพสูง (59%) ขณะที่ 43% เชื่อว่าตนจะสวมเสื้อผ้าเสมือนจริงภายในปี 2573 และ 36% เห็นว่าการเช่าเสื้อผ้าจะกลายเป็นพฤติกรรมเพื่อความยั่งยืนที่ผู้คนนิยมกันภายในปี 2573
- อนาคตของความเป็นอยู่อากาศที่ดีภายในบ้าน
เมื่อพูดถึงความเป็นอยู่และอากาศหายใจที่ดีภายในบ้านในอนาคต คนไทยรุ่นใหม่มองว่าระบบอัจฉริยะในบ้านเป็นเครื่องมือสำคัญในการให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน และอยากได้ระบบที่สามารถให้คำแนะนำด้านสุขภาพ (29%) ให้คำแนะนำด้านการกินอาหาร (29%) บอกแนวทางและคำแนะนำเพื่อชีวิตที่ยั่งยืน (28%) รวมถึงกิจวัตรการออกกำลังกาย (24%) นอกจากนั้น ยังเห็นว่าระบบเหล่านี้จะสามารถช่วยปกป้องคนจากมลภาวะสารพิษภายนอกบ้านได้ (34%)
- ตัวแทนเยาวชนไทย แชร์ไอเดียทั่วโลก
ชมพู่ - เบญญาภา แช่มช้อย อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นหนึ่งในตัวแทนทีมเยาวชนไทย และหนึ่งในสองตัวแทนเยาวชนของภูมิภาคภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และตะวันออกกลาง (APMEA) ที่มีโอกาสได้เข้าร่วมเวิร์กช้อปออนไลน์กับตัวแทนเยาวชนจาก 20 ประเทศทั่วโลก เพื่อแชร์มุมมองของตัวเองในการทำบ้านให้น่าอยู่ รวมถึงทำให้ตัวเองและสิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืนมากขึ้น
ชมพู่ เล่าว่า แรงบันดาลใจในการหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเราปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน เราเองก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ซึ่งนอกจากจะกระทบต่อเราแล้ว ยังส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และสัตว์ ทำให้รู้สึกอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง จึงมาคิดว่าถ้าอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เราต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาด้วย
"แน่นอนว่าเราต้องหาทางแก้ปัญหาให้ได้เพราะเราเป็นคนสร้างมันขึ้นมา ด้วยเหตุผลดังกล่าว กลายเป็นความตั้งใจในการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะอยากจะเสนอไอเดีย โดยมองในเรื่องสิ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษและขยะให้น้อยที่สุด รวมถึงมีโซลูชั่นในการทำให้เราปรับตัวได้มากขึ้น"
“ตอนที่สัมภาษณ์ เราแชร์ปัญหาเรื่องขยะ เพราะคิดว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ใช่แค่เรา แต่ส่งผลกระทบทั่วโลกและสิ่งแวดล้อม ถ้าปัญหานี้ได้รับการแก้ไข ถ้าปัญหาหมดไป ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็จะหมดไป มองว่าปัญหาเหล่านี้ มาจากพฤติกรรมของเรา ถ้าเริ่มในการปรับพฤติกรรมเล็ก จะช่วยลดความรุนแรงของปัญหาในปัจจุบันได้ เช่น ไม่เปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อยเกินไป ลดการใช้พลาสติก เชื่อว่าทุกคนทำได้”
- ประสบการณ์ร่วมกับตัวแทนจากทั่วโลก
ทั้งนี้ แต่เดิมหากไม่มีสถานการณ์โควิด-19 เหล่าตัวแทนจาก 20 ประเทศจะต้องได้เดินทางไปร่วมเวิร์กช้อปที่ประเทศสวีเดน แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเวิร์กช้อปต้องเปลี่ยนมาเป็นผ่านระบบออนไลน์แทน แต่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่เยาวชนได้รับจากการรับฟังไอเดียซึ่งกันและกัน
ชมพู่ เล่าต่อไปว่า สิ่งที่ทำในตอนนี้ คือ การเวิร์กช้อปตัวแทนทั่วโลกผ่านระบบออนไลน์ มาแชร์ไอเดียร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง สำหรับไอเดียที่น่าสนใจจากเพื่อนๆ ตัวแทนประเทศอื่นๆ อาทิ ไอเดียจาก บราซิล เขาบอกว่าอยากให้ใช้เครื่องซักผ้าใช้น้ำจากน้ำฝนได้ จึงคิดว่าน่าสนใจเหมือนกัน เพราะประเทศเราก็ฝนตกบ่อย น่าจะดีถ้าได้ใช้น้ำจากน้ำฝนมาซักผ้าได้
ขณะที่ส่วนตัว ในชีวิตประจำวันพยายามลดการใช้พลาสติกให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ที่เกิดขึ้นมากในยุคโควิด เพราะถือว่ามีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม เราต้องหันมาใส่ใจการแยกขยะมากขึ้น สิ่งที่ลดไม่ได้ก็ต้องหันมาใส่ใจให้กำจัดถูกวิธี เกิดมลพิษให้น้อยสุด ปรับพฤติกรรมใกล้ตัว แพลนสิ่งที่ซื้อมาไม่ให้เกิดขยะ ลด Fast fashion ทานอาหารให้หมด ทำปุ๋ยจากอาหาร ใช้ทุกอย่างไม่ให้เหลือทิ้ง
รวมถึงเพื่อนๆ และคนรอบตัวก็เริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยที่มหาวิทยาลัย มีโครงการ Chula Zero Waste เป็นโครงการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แยกขยะ แก้วน้ำ หลอด ในโรงอาหาร ก่อนทิ้ง ใช้จุลินทรีย่อยสลาย นอกจากนี้ ยังพบว่าคนรอบตัวพยายามลดขยะ เปลี่ยนไลฟ์สไตลมากขึ้น
- ทุกปัญหาแก้ได้ เริ่มจากตัวเรา
"ปัญหาด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมหลายๆ อย่างนั้น แก้ไขได้แค่เริ่มจากตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านขยะ ถ้าได้มีการแก้ไขปัญหานี้ในประเทศไทย ปัญหาหลายๆ อย่างจะดีขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการกิน การดูแลบ้าน การรักษาของใช้ให้อยู่ได้นาน เช่น เสื้อผ้า ชมพู่เลือกใช้ผ้าที่คงอยู่ได้นาน ลดการใช้ Fast Fashion อีกทั้ง ยังลดการใช้แก้วพลาสติก โดยชมพู่จะมีกระบอกน้ำติดตัวตลอด แล้วก็เริ่มใช้ยาสีฟันเม็ดเพื่อลดขยะจากหลอดยาสีฟัน" ชมพู่ กล่าวทิ้งท้าย