ทางรอดของ "คนไทย" อย่าเป็นแค่ความหวัง
ประเทศไทยยังไม่มีการคลายล็อกดาวน์ในระดับที่ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ แต่มีการผ่อนคลายมากขึ้นเมื่อเทียบกับหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนกำลังรอความหวังที่จะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ
ตัวชี้วัดที่สำคัญประการหนึ่งที่จะชี้อนาคตของรัฐบาลว่าจะได้อยู่ต่ออีกนานแค่ไหน คือ สถานการณ์เศรษฐกิจ โดยการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสถานการณ์วิกฤติที่ไม่น้อยไปกว่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง โดยล่าสุดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมายอมรับอีกครั้งในงานประชุมประจำปีของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า จีดีพีในปี 2564 จะติดลบมากที่สุดในรอบ 22 ปี เป็นรองแค่ปี 2541
ในสถานการณ์ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันชะลอตัวลงมาอยู่ระดับ 10,000 คน เศษ เมื่อพิจารณาจากตัวเลขได้สร้างความหวังกับหลายคนทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเมื่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) มีมติคลายมาตรการการกักตัวสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ รวมถึงมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 สำหรับพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) ซึ่งแม้จะยังไม่มีมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์เพิ่มเติม แต่สะท้อนว่าสถานการณ์การระบาดอาจจะมีแนวโน้มดีขึ้น
ที่ผ่านมาหลายประเทศประกาศเปิดประเทศและใช้นโยบายอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 โดยสิงคโปร์ดำเนินการบนแนวคิดให้โรคโควิด-19 เหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดาที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวต้องการให้ประชาชนออกมาใช้ชีวิตตามปกติ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินการไปต่อได้ และล่าสุดสิงคโปร์กลับมาทบทวนนโยบายดังกล่าวหลังจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้น โดยกังวลว่าจะมีผู้ติดเชื้อสูงเกินวันละ 1,000 คน ทำให้ต้องตรวจเชิงรุกมากขึ้น แต่ยืนยันว่าจะไม่กลับไปสู่มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง
การดำเนินการของรัฐบาลทุกประเทศจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ซึ่งในสถานการณ์ลักษณะนี้แม้จะมีข้อมูลรอบด้านแต่ก็มีโอกาสตัดสินใจผิดพลาดได้ เพราะมีตัวแปรที่ควบคุมได้ลำบาก โดยเฉพาะการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ที่ระบาดได้รวดเร็วและรุนแรง และการที่ประเทศสิงคโปร์จะขอความร่วมมือให้ประชาชนและการร่วมกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อก็เป็นเรื่องที่ควรดำเนินการ ซึ่งเมื่อควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ก็กลับมาเข้าสู่แผนการเดิม
สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการคลายล็อกดาวน์ในระดับที่ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ แต่มีการผ่อนคลายมากขึ้นเมื่อเทียบกับหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนกำลังรอความหวังที่จะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ทำให้ทุกคนต่างหาทางรอดของตัวเองทั้งระดับประชาชนและภาคธุรกิจ แต่รัฐบาลอย่าปล่อยให้แต่ละคนต้องหาทางรอดด้วยตัวเอง โดยรัฐบาลต้องรองรับและอุดหนุนการฟื้นตัวของประเทศ เพื่อให้ทุกคนได้รับโอกาสการฟื้นตัวใกล้เคียงกันบนการตัดสินใจของรัฐบาลที่มองประโยชน์สาธารณะ