ตัวแรกที่เข้าวิน "วัคซีนโควิด-19"สัญชาติไทย
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ อัพเดตความคืบหน้า 6 วัคซีนโควิด-19ไทยทำ เร็วที่สุดได้ใช้ปี 65 หลังผ่านดำเนินการมา 1 ปี 6 เดือน ตั้งแต่ ก.พ.2563 มีหลากหลายแพลตฟอร์มและวิธีการนำวัคซีนเข้าร่างกาย รวมถึง รองรับการกลายพันธุ์และ 1 วัคซีนป้องกัน 2 โรค
เมื่อเวลา 29 ก.ย.2564 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดการเสวนาออนไลน์ THAILAND COVID-19 VACCINE FORUM 2021 สถานการณ์ความก้าวหน้า การพัฒนาวัคซีนไทยสู้โควิดโดยทีมประเทศไทย จาก 6 หน่วยงานหลัก โดยนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า 1 ปี กับ 6 เดือนนับตั้งแต่ก.พ.2563 ที่ได้ระดมสรรพกำลังร่วมกันทำงานเรื่องการพัฒนาวัคซีนโควิด-19ของประเทศไทย นับเป็นความภาคภูมิใจของทีมประเทศไทย
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนา ChulaCov 19 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชนิดMessanger RNA หรือ วัคซีนmRNA ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบทางคลินิกระยะที่ 2 ในผู้ที่อายุ 18 - 59 ปี จำนวน 150 คน และรอหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ว่าจะไปต่ออย่างไร ส่วนไบโอเนท-เอเชียก็พร้อมเริ่มผลิตล็อตวัคซีนให้ได้ คาดว่าจะผลิตล็อตรีลิสต์เร็วสุดช่วงต้นธ.ค.นี้ เชื่อมั่นว่าภายในเม.ย.2565 ประเทศไทยจะมีวัคซีนmRNAที่ผลิตโดยคนไทย ส่วนป้องกัน 4 สายพันธุ์ พบว่า ป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้สูงมากและป้องกันทุกสายพันธุ์อัลฟา เบตา และแกมมา แต่ประเด็นปัญหาคือวัคซีนที่กระตุ้นภูมิสูงก็ตกช้า ต่ำลงก็จะตกเร็วเพราะว่าเจอเชื้อสายพันธุ์ที่ติดเชื้อและป่วยเร็ว คือเดลตาจึงต้องมีการบูสเตอร์ด้วย และจุฬาฯอยู่ระหว่างการทำวัคซีนรุ่นทื่ 2 ควบคู่ด้วยเพื่อรองรับสายพันธุ์กลายพันธุ์
“ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นสูงจะเริ่มตกเมื่อไหร่ ซึ่งข้อมูลในลิงที่ได้ข้อมูลตั้งแต่ ก.ค.2563 สอดคล้องเริ่มเห็นจากวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาว่าใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือนขึ้นไป แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์อู่ฮั่นอาจจะเกิน 1 ปีด้วยซ้ำ ซึ่งภูมิฯนั้น ธรรมชาติต้องตก ถ้าไม่ตกจะเรื่องใหญ่ เพราะร่างกายเจอสิ่งแปลกปลอมตลอดก็ต้องสร้างภูมิคุ้มกันตลอด ถ้าสร้างภูมิคุ้มกันอยู่ตลอดแล้วไม่หยุด เลือดเราจะข้นมากและจะเป็นโรคเส้นเลือดหรือลิ่มเลือดอุดตันได้”ศ.นพ.เกียรติกล่าว
วัคซีนใบยาเริ่มทดลองในมนุษย์
ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เดชคุณวุฒิ CEO บริษัทใบยา โฟโตฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19ของบริษัท ใบยาฯตอนนี้อยู่ในระยะการทดสอบทางคลินิก โดยเป็นวัคซีน ชนิด subunit vaccine ซึ่งเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2564 ได้เริ่มทดสอบในมนุษย์ สำหรับ 4 คนแรก พบว่า วัคซีนยังดูมีความปลอดภัย และในวันที่ 30 ก.น.นี้จะฉีดอีก 2 คนในกลุ่มแรก
นอกจากนี้ บริษัทใบยาได้พัฒนาวัคซีนสำหรับรุ่น 2 ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนสูตรให้กระตุ้นภูมิได้ดีขึ้น กำลังอยู่ในช่วงทดสอบสัตว์ทดลองและความเป็นพิษ และช่วงการผลิตเพื่อจะเข้าการทดลองในมนุษย์ระยะ 1 คาดว่าผลการทดลองในกลุ่มอาสาสมัคร อายุ 18-65 ปี จะเป็นผลให้ตัดสินใจเอาวัคซีนรุ่น 2 เข้าทดสอบต่อไปไปหรือไม่ และวัคซีนโควิด-19รุ่น 2 ได้พัฒนาวัคซีนอีก 10 สายพันธุ์น่าสนใจอีก เพื่อดูว่าจะใช้วัคซีนตัวไหนเข้าทดสอบต่อไป โดยจะเลือกมา ทำเป็นตัวคอกเทล และเปลี่ยนตัวสูตร ในการเข้าสู่การทดลองทางคลินิกระยะที่ 1
“ทั้งหมดคาดว่าประมาณไตรมาส 3 ปี 2565 น่าจะเป็นอีกวัคซีนน่าจะนำไปใช้กับประชาชนคนไทยและแถบภูมิภาคนี้ได้ ส่วนการผลิตในระดับอุตสาหกรรม บริษัทฯจะผลิตเองโดยพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว ซึ่งโรงงานนี้จะผลิตวัคซีนได้ 1-5 ล้านโดสต่อเดือน ขึ้นกับขนาดของโดสสุดท้ายที่จะเลือกใช้”ผศ.ภญ.ดร.สุธีรากล่าว
วัคซีนโควิด-19 แบบพ่นจมูก ป้องกันติดเชื้อ
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(BIOTECH) หรือไบโอเทค กล่าวว่า ไบโอเทค เป็นทีมทำงานด้านไวรัส จึงพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จะเน้นแพลตฟอร์มไวรัล แวกเตอร์เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ปัญหาวัคซีนโควิด-19ทุกตัวที่ใช้อยู่ปัจจุบันตอนนี้ที่เป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้การติดเชื้อเกิดขึ้นได้อยู่ จึงพยายามหาวัคซีนทางเลือกให้สามาถรป้องกันติดเชื้อได้ด่วย จึงมีการพัฒนาวัคซีนไวรัล แว็กเตอร์แบบพ่นจมูก
ตัวที่พัฒนาขึ้นมา มี 2 รูปแบบ คือ 1.Adenovirus-based อะดิโนไวรัสของนมนุษย์ โดยเลือกอะดิโนไวรัส 5 ในการเริ่มต้น มีแผนจะดำเนินการอะดิโนไวรัสตัวอื่นด้วย หลักการคือทำให้อะดิโนไวรัสติดเชื้อได้แต่ไม่ก่อโรค โดยเอายีนต์สำคัญตัวหนึ่งออกไปและเพิ่มโปรตีนสไปค์เข้าไปแทน เมื่อฉีดพ่นเข้าไปในจมูกก็จะสร้างโปรตีนสไปค์ขึ้นมา ก็จะมีการสร้างภูมิต้านทานของร่างกายบริเวณนั้นขึ้นมา
ดังนั้น การนำส่งอะดิโนไวรัสแบบพ่นจมูกอาจจะเป็นหนึ่งวิธีป้องกันการติดเชื้อได้ค่อนข้างดีในทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง โดยผ่านการทดสอบในหนูทดลองแล้ว พร้อมขึ้นทะเบียนต่ออย.เพื่อทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 คาดว่าจะเริ่มได้ในราวต้นปี 2565 ในการหาอาสาสมัคร นอกจากนี้ มีแผนเรื่องการทดสอบต่อสายพันธุ์เดลตาด้วย จะทำการทดสอบคู่ขนานต่อไป และจะขออย.เพื่อทดสอบทางคลินิกในอาสาสมัครในปีหน้าเช่นกัน
1 วัคซีนป้องกัน 2 โรค
และ2.Influenza-based ปรับแต่งไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดทุกปี หรือใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบฉีดพ่นจมูกอยู่แล้วปรับแต่งให้แสดงออกโปรตีนของโควิด แสดงออกพร้อมกันในเวลาเดียวกัน แสดงว่าไวรัสแวกเตอร์จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นวัคซีนที่ป้องกัน 2 โรคในเวลาเดียวกันได้ โดยนำส่งทางพ่นจมูก ขณะนี้อยู่ในช่วงรอทดสอบในหนู วางแผนต้นปี 2565 เริ่มทดลองในมนุษย์ และแผนต่อเดลตา พ่นจมูก อยู่ระหว่างรอผลทดลอลง และทำการในปีหน้าในอาสาสมัครเช่นกัน
กลางปี65วัคซีนอภ.ยื่นใช้แบบมีเงื่อนไข
ดร.ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงค์ หัวหน้าโครงการวัคซีนโควิด-19 องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนHXP-GPOVac ซึ่งหัวเชื้อไวรัสตั้งต้นมีการตัดแต่งพันธุกรรมไวรัสนิวคาสเซิลให้มีโปรตีนส่วนหนาม (Spike protein) ของไวรัสก่อโรคโควิด-19 จึงมีความปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดโรค เพิ่มจำนวนในไข่ไก่ฟักได้ โดยผลของการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 เริ่มมี.ค.2564 ในอาสาสมัตร 210 คน หลังให้วัคซีน 2เข็ม ห่างกัน 28 วัน พบว่า ในเรื่องความปลอดภัย อาการไม่พึงประสงค์มีระดับความรุนแรงต่ำ เช่น ปวด ตึง บวมบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศรีษะ และหายไปในระยะเวลาไม่กี่วัน ส่วนการกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลัง 2 สัปดาห์รับวัคซีนเข็มที่ 2 ระดับภูมิคุ้มกันจะสูงโดยขนาด 10 ไมโครกรัมจะให้ผลดีที่สุด
นอกจากนี้ ได้ศึกษาเกี่ยวกับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์กลายพันธุ์ พบว่า สายพันธุ์อู่ฮั่นให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่สูงที่สุด และระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงมาเมื่อเจอสายพันธุ์กลายพันธุ์ และต่ำสุดที่สายพันธุ์เบตา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 2 ในอาสาสมัคร 250 คน คาดว่าจะทราบผลปลายปี 2564 และช่วงก.ค. 2565 น่าจะยื่นขออนุญาตการใช้แบบมีเงื่อนไข
คืบหน้าวัคซีนDNA
นายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด กล่าวว่า เมื่อทราบโครงสร้างของไวรัสก่อโรคโควิด-19สายพันธุ์อู่ฮั่น บริษัทได้เริ่มพัฒนา วัคซีนDNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ผลิตใช้เวลาเร็วและได้มาก โดยนำไปทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ที่ประเทศออสเตรเลียเนื่องจากติดขัดปัญหาทางเทคนิคฃบางประการในประเทศ และหลังจากนำวัคซีนรุ่นที่ 1ไปทดลองได้มีการทำวัคซีนรุ่น 2 ต่อยอดต่อสายพันธุ์กลายพันธุ์ และเก็บในอุณหภูมิ -20 องศาและ2-8 องศาได้ดี
ส่วนความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างการประมวลผลสรุปการศึกษาก่อนยื่นต่ออย. น่าจะเริ่มทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 โดยทำควบคู่กับmRNAในระยะที่ 2 ของจุฬาฯในต้นปี 2565 เชื่อว่าจะเป็นการสร้างความมั่นคงการผลิตวัคซีนพึ่งตนเองได้ อย่างน้อยไม่ว่าจะกลายพันธุ์เป็นโควิดอะไรก็สามารถต่อกรได้
รับถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผลิตวัคซีนเอง
อีกหนึ่งความสำเร็จของความก้าวหน้าการผลิตวัคซีนในประเทศไทยที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าและสามารถผลิตได้ในประเทศ ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่บริษัท แอสตร้าฯเลือกบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ เป็นผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนไวรัล แว็กเตอร์ ของแอสตร้าเซนเนก้า จนสามารถส่งมอบวัคซีนล็อตแรกที่ผลิตได้ให้บริษัท แอสตร้าฯและส่งมอบให้รัฐบาลได้คือวันที่ 2 มิ.ย. 2564 จำนวน 2 ล้านโดส หลังจากนั้นมีการผลิตต่อเนื่องเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก
“โดยสรุปการพัฒนาการผลิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีวัคซีนโควิด-19 ทำให้ช่วยเสริมให้บุคลากรในประเทศไทยมีความรู้ และประสบการณ์จริงในการผลิตวัคซีนประเภทไวรัล แว็กเตอร์ ปละสามารถช่วยให้องค์กรอื่นๆในประเทศที่ต้องการพัฒนาและขยายกำลังการผลิตวัคซีนประเภทนี้ ให้สามารถทำได้ในระดับอุตสาหกรรมและมาตรฐานระดับโลก อีกทั้ง นำไปผลิตวัคซีนประเภทอื่นและยาชีววัตถุสำหรับการรักษาโรค เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนและยาของประเทศ”ดร.ทรงพลกล่าว