หวั่นผ่อนคลายมาตรการ เปิดประเทศ ส่งผลการปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก"พุ่งสูง
รมว.ทส.เผยรายงานปี 63 ระบุ วิกฤต “Climate Change”เกิดน้ำท่วมเพิ่มขึ้น 170% ขณะนี้ใกล้ถึงจุดวิกฤติแล้ว ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นถึง 10% หวั่นผ่อนคลายมาตรการ -เปิดประเทศ ทำก๊าซเรือนกระจกพุ่ง
วันนี้ (30 ก.ย.2564) กรุงเทพธุรกิจ ได้จัดงาน "GO GREEN เมกะเทรนด์เพื่อโลกสีเขียว" โดยมี นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง“ยุทธศาสตร์ไทย ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ตอนหนึ่งว่าปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change เป็นปัญหาสำคัญในระดับโลกที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้คน และระบบนิเวศ และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น
- “Climate Change”เกิดน้ำท่วมเพิ่มขึ้น 170%
ทั้งนี้ รายงาน IPCC Special Report on Global Warming of 1.5°c เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2563 ระบุว่า หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส ความเสี่ยง ที่จะเกิดน้ำท่วมจะเพิ่มขึ้น 170% ประชากร 49 ล้านคน จะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และประชากร 410 ล้านคนจะเผชิญภัยแล้ง ภายในปี 2100 รวมถึงสายพันธุ์แมลง พืชและสัตว์มีกระดูกสันหลังจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน และวันนี้เรามาเจอปัญหาน้ำท่วมกันอีกแล้ว ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของทุกประเทศ
“อนาคตอันใกล้ หากไม่สามารถหยุดยั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะประสบกับความสูญเสียและความเสียหายทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ การขจัดปัญหา ความยากจนและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งในขณะนี้เราใกล้จะถึงจุดวิกฤติแล้ว โดย 40ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกือบ 1 องศาเซลเซียส และธารน้ำแข็งลดลง 13.10%ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 97มิลลิเมตร ระหว่างปี พ.ศ.2536-2564 และในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นถึง 10%”นายวราวุธ กล่าว
- แก้โควิด-19ต้องแก้ Climate Changeด้วย
แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทุกประเทศทั่วโลกต่างมุ่งความสนใจกับการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แต่วิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง และไม่ได้ชะลอลง โดยสังเกตได้จากข่าวพายุและภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงปีนี้ เช่น ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมในประเทศจีนซึ่งหนักที่สุดในรอบ 1,000 ปี เหตุการณ์ไฟป่าและคลื่นความร้อนในรัฐแคลิฟอร์เนียและภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันใน 4 จังหวัดภาคใต้ เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา หรือปีที่แล้ว มีพายุเข้าไทย 11 ลูก เป็นต้น
รมว.ทส. กล่าวต่อว่าทั่วโลกให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในเวที World Economic Forum ได้จัดอันดับให้ประเด็นสภาพอากาศที่รุนแรง (Extreme Weather) และ ความล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate action failure) เป็นความเสี่ยงระดับโลกอันดับที่ 1 และ 2 ที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชากรโลก 3 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2019 –2021
ดังนั้น เราจำเป็นต้องรับมือวิกฤตทั้งสองเรื่องไปพร้อมกัน แม้ว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ที่ผ่านมา จะทำให้กิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะการเดินทาง การท่องเที่ยว หรือธุรกิจอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกและของประเทศไทยมีปริมาณลดลงประมาณ 6.4 %และ 9% ตามลำดับ
- ไทยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินเป้าร้อยละ 17
รมว.ทส. กล่าวอีกว่าไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) มายาวนานกว่า 25 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2559 ได้เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อร่วมกันควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ย ของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามไม่ให้เกิน1.5องศาเซลเซียส ภายในปลายศตวรรษนี้
ส่วนประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก เป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1. เป้าหมายก่อนปี ค.ศ. 2020 เป็นการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Action: NAMA) (ระยะการดำเนินงานถึง พ.ศ.2563) บนพื้นฐานการดำเนินการโดยสมัครใจ ซึ่งประเทศไทย ได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ7-20 เทียบกับกรณีปกติ ในสาขาพลังงานและขนส่ง ซึ่งจากการดำเนินการในปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่าไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 17
2. เป้าหมายหลังปี ค.ศ.2020 เป็นเป้าหมายตามกลไกการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC ฉบับที่ 1 (ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2564-2573) ภายใต้ความตกลงปารีส โดยประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 จากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติ (BAU) ในปี พ.ศ.2573 โดยดำเนินการในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ (Economy-wide) ได้แก่ พลังงานและขนส่ง กระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และการจัดการของเสีย
- “ปรับคาร์บอน ก่อนเข้าพรมแดน”ดูแลโลก
นายวราวุธ กล่าวด้วยว่าสำหรับการดำเนินงานของไทยนั้น รัฐบาลได้บูรณาการประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแผนระดับชาติ ตั้งแต่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมถึงกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่13 (พ.ศ.2566 – 2570) ที่ล่าสุดจากการหารือร่วมกับคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า จะดำเนินการมาตรการปรับคาร์บอน ก่อนเข้าพรมแดน ซึ่งเป็นมาตรการที่หลายๆ ประเทศกำลังให้ความสำคัญในการลดคาร์บอน
ปัจจุบันรัฐให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายโดยทำงานร่วมกับภาคเอกชน และหลายๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น สนับสนุนพลังงานทดแทน พลังงานสะอาดมากขึ้น ด้านการคมนาคมขนส่ง นโยบายได้มีการสร้างรถรางไฟฟ้า ให้ระบบสาธารณะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในประเทศไทย ส่วนภาคการเกษตร ส่งเสริม เกษตรอินทรีย์ ทฤษฎีใหม่ ลดปริมารการใช้น้ำภาคการเกษตรแต่เพิ่มผลผลิตให้พี่น้องชาวเกษตรกรได้
ภาคอุตสาหกรรม มีการปรับปรุงมาตรฐานในการใช้วัตถุดิบที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีการใช้สารทำความเย็นที่ใช้สารเคมีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จัดทำเครื่องหมายผลิตภัณฑ์ เช่น ฉลากคาร์บอน รวมถึงการจัดการของเสีย ส่งเสริมการจัดการขยะด้วยหลัก 3 R นอกจากรีไซเคิล และมีการนำขวดพลาสติกมาแปรสภาพให้เป็นเส้นใยไฟเบอร์ ลดปริมาณขยะในไทย
- ก่อนปี 2100 ลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
จากนโยบาย Climate Change ที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินการตามข้อตกลงต่างๆเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดคาร์บอน ซึ่งในเดือนพ.ย.นี้ จะมีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ (COP) โดยไทยจะเข้าร่วม และประกาศแนวทางการทำงานของไทยให้นานาประเทศได้รับรู้ มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 และก่อนปี 2100 ไทยตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น ศูนย์
“นโยบายของภาครัฐ ไม่ว่าจะดีขนาดไหน แต่หากภาคอื่นๆ ของประเทศไม่ให้ความร่วมมือ แผนก็เหมือนตบมือข้างเดียว ตบอย่างไรก็ไม่ดัง ดังนั้น การจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดคาร์บอน ช่วยดูแลโลก และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ลูกหลานของไทยได้มีใช้ต่อไป ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม จะต้องร่วมมือกันในเรื่องนี้” รมว.ทส. กล่าวทิ้งท้าย