สธ.นำร่องปฏิรูป 4 เขตสุขภาพ ลดเหลื่อมล้ำ ลดรอคอย
สธ.เดินหน้าปฏิรูประบบสาธารณสุข เพื่อระบบสุขภาพที่ยั่งยืน นำร่องปฏิรูป4 เขตสุขภาพเริ่มจากเขตสุขภาพที่ 9 ปรับระบบการทำงาน ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่ทันสมัย ได้มาตรฐาน ลดความเหลื่อมล้ำ ลดการรอคอย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการกำกับทิศทางนโยบายด้านเขตสุขภาพ พร้อมด้วย นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เปิดการปฏิรูปเขตสุขภาพนำร่องที่เขตสุขภาพที่ 9 เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปเขตสุขภาพ ที่ โรงพยาบาลปากช่องนานา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่ดี มีประสิทธิภาพ อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยมีเป้าหมายการปฏิรูป 5 ด้าน (5 Big Rocks) ได้แก่ การจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โรคไม่ติดต่อ ผู้สูงอายุ ระบบหลักประกันสุขภาพ และการปฏิรูปเขตสุขภาพ โดยนำร่อง 4 เขตสุขภาพ ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 1, 4, 9 และ 12 เริ่มจากเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งมีความพร้อม มีการปรับระบบบริหารจัดการแบบบูรณาการโดยชุมชน/ภาคี/อปท. มีส่วนร่วม มีจุดคัดกรองสุขภาพ (Health Station) 9,041 แห่ง ครอบคลุมทุกตำบล ทุกจังหวัด ช่วยเพิ่มการเข้าถึงระบบคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น เช่น ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และเพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพ ด้านการป้องกัน และดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อ สำหรับประชาชนและผู้ป่วย ด้วยระบบ H4U กับ 3 หมอ ลดกลุ่มเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ลดผู้ป่วยรายใหม่ และลดการใช้ยา รวมถึงพัฒนาระบบ H4U เพื่อให้แพทย์และประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพและนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การนัดหมายพบแพทย์ ปรึกษาทางไกล รับ-ส่งยาที่บ้าน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และแจ้งเตือนความเสี่ยงต่างๆ เป็นต้น รวมทั้ง ยังรองรับนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการของประชาชน โดยไม่มีขีดจำกัด
นายอนุทินกล่าวต่อว่า แนวทางการดำเนินงานปฏิรูปเขตสุขภาพของเขต 9 ถือว่ามีความครอบคลุมในมิติต่างๆ ที่เป็นเป้าหมายของการปฏิรูป สามารถเป็นต้นแบบแก่ 3 เขตสุขภาพนำร่องที่เหลือ นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และสามารถขยายผลไปในเขตสุขภาพอื่นๆ ที่มีความพร้อมได้ต่อไปเพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้รับบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ด้วยระบบบริการสาธารณสุขแบบใหม่ที่เน้นการกระจายอำนาจให้ประชาชน ลดอำนาจรัฐ เน้นเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ลดการรอคอย ทำให้สามารถแบ่งปันทรัพยากรและดูแลประชาชนได้ภายในเขตไม่ต้องส่งตัวข้ามเขตด้วยศักยภาพและมาตรฐานที่ได้ถูกพัฒนาขึ้น