สรุปผลการฉีดวัคซีน “ไฟเซอร์นักเรียน” และผลข้างเคียงที่ต้องระวัง

สรุปผลการฉีดวัคซีน “ไฟเซอร์นักเรียน” และผลข้างเคียงที่ต้องระวัง

มีนร.กว่า 4 ล้านคนสมัครใจเข้ารับวัคซีน "ไฟเซอร์" ตามมติครม.เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดเทอม 2/2564 แต่ผลข้างเคียง "ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" ก็น่ากังวลไม่แพ้กัน

เพื่อให้ “เด็กและเยาวชน” มีความปลอดภัย และเตรียมความพร้อมรองรับกรณีที่อาจจะมีการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ในเดือนพ.ย.นี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติการฉีดวัคซีน "mRNA" ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ที่มีอายุ 12-17 ปี ทุกคน ทุกสังกัด จำนวนกว่า 4.5 ล้านคน

โดยเริ่มฉีดวัคซีนวันแรก ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2564  แก่สถานศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ที่มีจำนวน 15,465 แห่ง ใน 29 จังหวัดก่อนและจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย. ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

  • สรุปยอดฉีดวัคซีนไฟเซอร์แก่นักเรียน

จากข้อมูลการฉีดวัคซีนวันแรก (4 ต.ค. 64) พบว่า กทม.มีนักเรียนในสังกัดระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ทั้งหมด 37,466 คน มีผู้ประสงค์รับวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 33,048 คน คิดเป็น 88.21% และทั้งประเทศมีตัวเลขนักเรียนประมาณ  4 ล้านคนสมัครใจเข้ารับวัคซีน

ทั้งนี้ มีนักเรียน ม.4–6 ประสงค์ฉีดวัคซีนรวม 3,796 คน แบ่งเป็น 

  • ระดับชั้น ม.4 จำนวน 1,473 คน 
  • ระดับชั้น ม.5 จำนวน 1,286 คน 
  • ระดับชั้น ม.6 จำนวน 1,037 คน 

 

  • โฆษกแถลงฉีดไฟเซอร์นักเรียนไทยยังไม่พบผลข้างเคียง

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากที่ผ่านมามีนักเรียน/เยาวชน กลุ่มเสี่ยง 7 โรค ใน กทม. ได้รับ 1 เข็ม จำนวน 1,681 ราย และได้รับครบ 2 เข็ม จำนวน 614 ราย ไม่พบการรายงานผลข้างเคียง

  • ผลข้างเคียงฉีดไฟเซอร์แก่เด็กนักเรียนที่น่ากังวล

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ให้สัมภาษณ์ประเด็นการฉีดวัคซีนโควิด-19ให้ผู้ที่มีอายุ  12 ปีขึ้นไปว่าวัคซีนmRNA ที่มีความเป็นห่วงมากที่สุด คือ 

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ส่วนใหญ่จะมีอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หรือเหนื่อย

ข้อมูลทั่วโลก พบประมาณ 6 ในแสนการฉีด โดยเฉพาะในเด็กผู้ชายจะเจอมากกว่า ส่วนใหญ่จะหายเองได้  มีส่วนน้อยที่ต้องเข้ารับการรักษาในรพ. ซึ่งขณะนี้เมื่อดูประสิทธิภาพและความปลอดภัย ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากกว่า จึงเป็นแนวนโยบายว่าเร่งฉีดในเด็กนักเรียน ควบคู่ไปกับการติดตามอาการไม่พึงประสงค์อย่างใกล้ชิด

 

การฉีดวัคซีน 1 เข็ม ประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อเพียงพอหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า การฉีด 2 เข็มประสิทธิภาพดีกว่า แต่ผลข้างเคียงก็มากกว่า ขึ้นกับการชั่งระหว่างผลดีและผลเสีย แต่ยืนยันว่าผลดีมากกว่า ส่วนผลเสียและผลข้างเคียงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง

โดยเฉพาะในเด็ก จึงต้องติดตามข้อมูลดูอีกครั้ง  ซึ่งการฉีดในเข็มแรกคาดว่าไม่มีปัญหา คงฉีดได้ตามแผน แต่ก่อนจะเริ่มเข็ม 2 จะต้องรวบรวมข้อมูลที่ฉีดจริงในประเทศไทยและข้อมูลทั่วโลก มาประมวลอีกครั้ง