ชงพิจารณาวัคซีนสูตรไขว้ "แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์" 7 ต.ค.นี้
สธ.ลั่น“ไม่จริง”ส่งวัคซีนโควิด-19ลงภาคใต้น้อย งัดข้อมูลโชว์รายจังหวัด ภาพรวมฉีดได้ตามเป้า ขณะที่การระบาดทรงตัว ไม่พุ่งเหมือนที่กังวล เร่งอัดวัคซีนไฟเซอร์ลงไปเพิ่ม-ส่งทีมCCRT กลับช่วยพื้นที่ ชงอนุฯพิจารณาวัคซีนสูตรไขว้ แอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยไฟเซอร์ 7 ต.ค.นี้
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดโควิดภาคใต้ขณะนี้ทรงตัว ไม่ได้พุ่งขึ้นเหมือนที่กังวลกัน ยังเป็นการระบาดในชุมชน ซึ่งจะเหมือนกับที่เคยระบาดในกรุงเทพมหานคร(กทม.) ก็จะมีทีมเคลื่อนที่เร็ว หรือ CCRT ลงพื้นที่เพื่อช่วยควบคุมโรค ตรวจคัดกรอง ATK และฉีดวัคซีนในชุมชน โดยทีม CCRT ก็ได้กลับลงไปช่วยพื้นที่ภาคใต้แล้ว ทั้งนี้ สายพันธุ์หลักที่ระบาดยังเป็นเดลตา ซึ่งได้รับบริจาควัคซีนไฟเซอร์มาจากต่างประเทศ เช่น ไอซ์แลนด์ ก็จะส่งไปช่วยในพื้นที่
ถามถึงกรณีมีการออกมาระบุว่าเหตุที่มีการระบาดของโรคโควิด – 19 ในพื้นที่ภาคใต้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการจัดส่งวัคซีนลงไปน้อย นพ.โอภาส กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เพราะตามแผน ศบค.ให้มีการจัดส่งไปทั้งสิ้น 1,495,400 โดส แต่ส่งวัคซีนลงไปจริงๆ ถึง 2,085,668 โดส มากกว่าแผนที่กำหนดกว่า 5 แสนโดส ทำการฉีดแล้ว 2,256,022 โดส โดยจำนวนนี้มีวัคซีนซิโนฟาร์มอีกกว่า 2 แสนโดสด้วย
แบ่งเป็น นราธิวาส จัดส่ง 428,430 โดส ฉีดแล้ว 434,345 โดสสงขลา จัดส่ง 956,190 โดส ฉีดแล้ว 1,017,532 โดส ปัตตานี จัดส่ง 366,018 โดส ฉีดแล้ว 405,259 โดส และยะลา 335,030 โดส ฉีดแล้ว 398,886 โดส ในภาพรวมถือว่าเกินเป้า แต่จะฉีดได้ทุกคนตามแผนคือสิ้นปี
“มีการจัดส่งวัคซีนโควิด-19ไปตามโควต้า จากนั้นจะมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่จะไปพิจารณากำหนดกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นเรื่องของพื้นที่ เช่น ในจังหวัดหนึ่ง หากอำเภอนี้ไม่มีการระบาดก็จะได้รับการฉีดวัคซีนหลังอำเภอที่มีการระบาด เป็นต้น ตรงนี้พื้นที่เป็นคนตัดสินใจ”นพ.โอภาสกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าการระบาดโควิดภาคใต้ไม่ได้เป็นเพราะวัคซีนไม่เพียงพออย่างที่มีการออกมาระบุ นพ.โอภาส กล่าวว่า การระบาดจะต้องใช้หลายมาตรการควบคู่กัน อย่างที่ทราบว่าวัคซีนต้องฉีดครบ 2 เข็ม และใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จึงจะมีภูมิคุ้นกัน ถ้ามัวแต่รอวัคซีนอย่างเดียวคงไม่ใช่ แต่มาตรการเดิมต้องทำ คือมาตรการส่วนบุคคล มาตรการทางสังคม เว้นระย่าง และการสอบสวนควบคุมโรค โดยเฉพาะคลัสเตอร์ใหญ่
“เท่าที่ดูสถานการณ์ในภาคใต้ตอนนี้จะเป็นการระบาดในชุมชนคล้ายๆ กับการระบาดในกทม. ซึ่งนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จึงมีการส่งทีม CCRT ลงไปสอบสวน ควบคุม ป้องกันโรค ให้มีการฉีดวัคซีน ตรวจ ATK ให้ทำเหมือนกทม. ซึ่งเชื่อว่ามีประสบการณ์แล้ว เพราะก่อนหน้านี้บุคลากรทางภาคใต้เองก็เป็นหนึ่งในทีมที่ขึ้นมาช่วยคุมการระบาดในกทม. ตอนนี้ก็ต้องส่งทีมลงไปช่วยภาคใต้ ซึ่งตอนนี้ในพื้นที่ก็ทรงๆ ไม่ได้พุ่งขึ้นอย่างที่กังวลกัน คงต้องระดมคนไปช่วยกันร่วมกับการดำเนินการหลายๆ มาตรการ”
ถามถึงการใช้วัคซีนสูตรไขว้เข็มที่ 1 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า และเข็ม 2 เป็นไฟเซอร์ จะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงใด นพ.โอภาส กล่าวว่า เป็นสูตรที่วางไว้อยู่ในแผนของสธ. โดยหลักการคือสามารถใช้ได้ ทั้งนี้ในวันที่ 7 ต.ค. จะมีการนำเข้าหารือในที่ประชุมอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อให้การรับรองต่อไป