เปิดคู่มือนักเรียน-ครู-ผู้ปกครอง กฎเหล็กโรงเรียน "แซนด์บ็อกซ์"
ทุกปัจจัยต่อสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดในกรุงเทพฯ จากนี้ จะมีผลต่อการนับถอยหลังมาตรการ "โรงเรียนแซนด์บ็อกซ์" สำหรับการเปิดภาคเรียนครั้งใหม่ไปด้วย
จากความคืบหน้าฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" ให้เด็กนักเรียนโรงเรียน กทม.เมื่อวันที่ 4 ต.ค.64 เป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญต่อการขยายกลุ่มฉีด "วัคซีนโควิด" รองรับแผนการเปิดภาคเรียนครั้งใหม่ เริ่มเฟสแรกที่มัธยมปลายระดับ 4-6 จำนวน 3,796 คน ภายหลัง กทม.ได้รับการจัดสรร "วัคซีนไฟเซอร์" มาทั้งหมด 135,000 โดส
เป้าหมายการฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียนของกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ อยู่ช่วงอายุ 12-18 ปี ซึ่งในกรุงเทพฯ มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ทุกสังกัดอยู่ที่ 458,257 คน โดยมีเด็กนักเรียนสมัครใจรับวัคซีนไฟเซอร์ 356,871 คน แบ่งเป็นเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ม.4-6 จำนวน 136,855 คน และระดับมัธยม 1-3 อีก 220,016 คน
แต่สำหรับตัวเลขเด็กนักเรียนสังกัด กทม.ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีทั้งหมด 37,466 คน ที่ผ่านมา กทม.ได้สำรวจผู้ประสงค์รับวัคซีนไฟเซอร์ มียอดอยู่ที่ 33,048 คน คิดเป็น 88.21% ส่วนที่เหลืออีก 11.8 % ผู้ปกครองยังไม่ยินยอมให้บุตรหลานเข้ารับวัคซีน
ขณะที่การฉีด "วัคซีนโควิด" ระดับมัธยมต้น กทม.คาดว่ากระทรวงสาธารณสุขจะจัดสรร "วัคซีนไฟเซอร์" เพื่อฉีดให้เด็กนักเรียนมัธยมต้นอายุ 12–15 ปี ได้ครบทุกคนทั่วประเทศภายใน ต.ค.2564
ประเด็นสำคัญของการฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" ไปถึงกลุ่มเด็กๆ อายุ 12-18 ปี อยู่ที่การเตรียมความพร้อม "ฐานข้อมูล" การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากที่สุด เพื่อรองรับแผนการเปิดภาคเรียนครั้งใหม่ ซึ่งจะอยู่ที่การพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกทม. โดยอยู่บน 3 ปัจจัย ตั้งแต่ 1.จำนวนเด็กนักเรียนที่ได้รับวัคซีน 2.จำนวนบุคลากรโรงเรียนที่ได้รับวัคซีน และ 3.จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง
โดยมาตรการเปิดเรียนตามปกติ หรือผ่อนคลายกิจการอื่นๆ ในโรงเรียนต้องอยู่บนความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการกำหนด อาทิ การฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ 85% ทั้งบุคลากรและนักเรียน ก่อนนำข้อสรุปการเปิดเรียนทั้งหมด เสนอ "ศบค." พิจารณาอนุมัติเป็นขั้นตอนสุดท้าย
"กรุงเทพธุรกิจ" สำรวจแผน "โรงเรียนแซนด์บ็อกซ์" จากมาตรการเตรียมพร้อมโรงเรียนในสังกัด กทม.จำนวน 437 แห่งมีนักเรียนทุกระดับอยู่ที่ 260,991 คน โดยนำมาตรการ Sandbox Safety zone in School ที่กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อกำหนดแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดโควิดในสถานศึกษาในสังกัด ประกอบด้วย
1.การทำแบบประเมินตนเองสำหรับสถานศึกษาของกรมอนามัย สธ.ในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ที่เว็บไซต์ http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2020/6/23735_3_1592467720669.pdf
2.นักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กทม. ประเมินความเสี่ยงของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ผ่าน Thai Save Thai (TST)
3.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กทม.ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 85
4.ผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณาวางแผนการประเมินตนเองของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา กทม.ตลอดจนบุคลากรของโรงเรียน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติงานในโรงเรียน ให้เฝ้าระวังตนเองไม่น้อยกว่า 14 วัน ก่อนกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียน
5.เน้นให้นักเรียนได้เรียนในที่โล่ง งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของนักเรียน หรือหากมีการรวมกลุ่มให้รักษาระยะห่างระหว่างบุคคลและใช้เวลาน้อยที่สุด
6.จำกัดจำนวนผู้ปกครองและบุคคลที่จะเข้าภายในบริเวณโรงเรียน เพื่อลดความแออัดกรณีที่ผู้ปกครองมารับบุตรหลานที่โรงเรียนต้องจัดพื้นที่พักคอยสำหรับผู้ปกครองบริเวณหน้าโรงเรียน
7.ตรวจคัดกรองอุณหภูมิร่างกายนักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กทม. บุคลากรของโรงเรียน และผู้มาติดต่อราชการทุกคน โดยเฉพาะนักเรียนให้ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย 3 ครั้งต่อวัน 1.ก่อนเข้าโรงเรียน 2.ก่อนรับประทานอาหารกลางวัน และ 3.ก่อนเดินทางกลับบ้าน พร้อมทั้งประสานผู้ปกครองให้ตรวจคัดกรองบุตรหลานก่อนมาโรงเรียน หากพบมีไข้ ไอ จาม หรืออาการอื่นใด ให้นักเรียนหยุดเรียน เพื่อสังเกตอาการที่บ้าน หรือพบแพทย์ และให้โรงเรียนขอความร่วมมือผู้ปกครองแจ้งข้อมูลการเจ็บป่วยของนักเรียนให้โรงเรียนทราบด้วย
8.ให้นักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กทม. บุคลากรของโรงเรียน ผู้ปกครอง และผู้มาติดต่อราชการ สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา
9.ให้เว้นระยะห่างในห้องเรียน ระหว่างทางเดิน หรือในขณะทำกิจกรรมในโรงเรียน การย้ายห้องเรียน การเหลื่อมเวลาเรียน หรือเวลาพักรับประทานอาหาร
10.ให้มีที่ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ เจลแอลกอฮอล์
11.ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสต่างๆ ที่ใช้ร่วมกัน อาทิ สนามเด็กเล่น ห้องน้ำ ลูกบิดประตู ตลอดจนอาคารสถานที่และบริเวณโรงเรียนโดยสม่ำเสมอ
12.ขอความร่วมมือผู้ค้าบริเวณหน้าโรงเรียน กำหนดพื้นที่ขายโดยเว้นระยะห่างจากหน้าโรงเรียนไม่น้อยกว่า 500 เมตร จัดเตรียมอาหารปรุงสุกใหม่ หากมีอาการเข้าข่ายติดเชื้อให้ผู้ค้าหยุดขาย และรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งปฏิบัติตนตามหลักสุขอนามัยและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
13.ให้โรงเรียนสื่อสารทำความเข้าใจ และให้คำแนะนำผู้ปกครองติดตามข้อมูลข่าวสารการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานไปในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
14.กรณีโรงเรียนพบนักเรียนที่สงสัยติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค PUI ให้แยกเด็กออกมาจากผู้อื่น แจ้งผู้ปกครอง และแจ้งสายด่วนสุขภาพ 1646 ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ หรือแจ้งศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อประเมินสถานการณ์ตามเกณฑ์สอบสวนโรค
15.นักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กทม.ทุกคน ต้องตรวจคัดกรอง Antigen Test Kit (ATK) ก่อนเข้าโรงเรียนและมีการสุ่มตรวจเฝ้าระวังทุก 14 วัน
จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ "โควิด" ในกรุงเทพฯ มีทิศทางลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีผู้ป่วยตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค.64 น้อยกว่า 1.3 พันคนต่อวัน โดยเฉพาะตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มในกรุงเทพฯ อัพเดท 6 ต.ค.อยู่ที่ 4,245,708 ราย
ทำให้ทุกปัจจัยต่อสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดในกรุงเทพฯ นับจากนี้ ย่อมมีผลต่อการนับถอยหลังมาตรการ "โรงเรียนแซนด์บ็อกซ์" สำหรับการเปิดภาคเรียนครั้งใหม่ไปด้วย.