เช็คเลย! สูตรฉีดวัคซีนไขว้ในไทย มีกี่สูตร ผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
“การฉีดวัคซีนโควิด-19” เป็นการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่นี้ได้ดีที่สุด ซึ่งขณะนี้ชนิดวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้อยู่ในประเทศไทย มีด้วยกัน 4 ยี่ห้อ และกำลังจะนำเข้ามาอีก 1 ยี่ห้อ ซึ่งแต่ละยี่ห้อจะมีประสิทธิภาพแตกต่างกันออกไป
ทว่าด้วย “วัคซีนโควิด-19” ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ และโมเดอร์น่า เป็นวัคซีนที่พึ่งผลิตขึ้น และประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตเองได้ ต้องมีการจองวัคซีนจากประเทศต่างๆ และด้วยข้อจำกัดของวัคซีน ทำให้วัคซีนในประเทศไทยไม่เพียงพอที่จะฉีดให้แก่ประชาชน
- 2 สูตรวัคซีนสูตรไขว้ในไทย
เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2564 คณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคโควิด-19 (ศปก.สธ.) ซึ่งมีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากหน่วยงานต่างๆ มีมติอนุมัติสูตรการฉีดวัคซีนโควิด -19ของประเทศไทย โดยได้รับคำแนะนำจากคณะอนุกรรมกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการนำข้อมูลทางวิชาการใหม่ ๆ ทั้งผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ และการศึกษาในประเทศไทยมาพิจารณาสรุปสูตรวัคซีนไขว้ที่ฉีดให้แก่ประชาชนคนไทย
ขณะนี้มีทั้งหมด 2 สูตร ได้แก่
สูตรแรก เข็มที่ 1 ซิโนแวค เข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เป็นวัคซีนหลักของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ใช้ในผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในทุกกลุ่ม
สูตรสอง เข็มที่ 1 แอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ไฟเซอร์ ห่างกัน 4-12 สัปดาห์ กลุ่มเป้าหมายหลักผู้มีอายุ18 ปีขึ้นไปในทุกกลุ่ม
ทั้งนี้ ในส่วนของสูตรสอง คาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนได้ในเดือนต.ค.2564 หลังจากที่มีวัคซีนไฟเซอร์เพียงพอแล้วในประเทศ (ใน 3 เดือนหลังตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค. 2564 จะมีไฟเซอร์เข้าไทยเดือนละ 10 ล้านโดส)
อ่านข่าว : ขยายเวลา"ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่" แก่ผู้ประกันตนอายุ50 ปีขึ้นไป ถึง31 ธ.ค.นี้
- รออนุมัติ “วัคซีนสูตรไขว้สูตรสอง” 11 ต.ค.นี้
เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2564 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิดได้เร็วขึ้น คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายครอบคลุม 60% ของประชากรได้ภายในสิ้นเดือนนี้ ทั้งนี้ หากจำแนกตามยี่ห้อวัคซีนพบว่า แอสตร้าเซนเนก้าฉีดมากสุดถึง 26 ล้านโดส รองมาเป็นซิโนแวคกว่า 20 ล้านโดส ซิโนฟาร์ม 9 ล้านโดส และไฟเซอร์ 1.7 ล้านโดส
เบื้องต้นไฟเซอร์ลอตที่ไทยซื้อ 30 ล้านโดส อยู่ระหว่างทยอยเข้ามา โดย ลอตแรก 2 ล้านโดส มาปลายเดือน ก.ย. ขณะที่ลอตสองจำนวน 1.5 ล้านโดส ได้เข้ามา 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียน เพียงแต่ระยะแรกจะไปในแต่ ร.ร. เพียง 40% เท่านั้น โดย 13 ต.ค. จะนำเข้ามาอีก 1.5 ล้านโดส
นอกจากนี้ ในกรณีวัคซีนสูตรไขว้แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยไฟเซอร์ จะได้ใช้หรือไม่นั้น นพ.โสภณ ระบุว่า ต้องรอให้ที่ประชุม EOC ของ สธ.อนุมัติในวันที่ 11 ต.ค. นี้
โดยยอมรับว่า มีแนวโน้มที่จะมีสูตรไขว้เพิ่มขึ้น คือ แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วย ไฟเซอร์ เหตุผลหลักคือ มียอดวัคซีนไฟเซอร์เข้ามามากในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม จึงต้องใช้วัคซีนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และแอสตร้าฯ กับ ไฟเซอร์ ก็มีจำนวนมากพอ ๆ กัน
ส่วนซิโนแวคที่เหลือ ใช้ฉีดเดือนตุลาคมนี้ก็คงหมด ส่วนผู้ที่ฉีดแอสตร้าฯ ครบ 2 เข็ม นั้น ในต่างประเทศยังไม่มีการฉีดบูสเตอร์ ดังนั้น ต้องรออีกระยะหนึ่ง เนื่องจากภูมิอยู่ได้นานกว่าฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม
โรคประจำตัวก็ได้ฉีด 2 เข็ม เพื่อป้องกันติดโควิดแล้วจะอาการรุนแรง
- ใครได้ฉีดวัคซีนไขว้สูตรสอง
โดยผู้ที่จะได้รับวัคซีนไขว้ สูตรสอง เข็มที่1 แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยเข็มที่2 ไฟเซอร์นั้น ไม่ใช่เพียงผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน แต่ ผู้สูงอายุที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 1 ไปก่อนหน้านี้ก็สามารถรับไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 ได้เช่นกัน รวมถึงประชาชนที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 ด้วย
ส่วนผู้ป่วยโควิด ที่หายดีแล้ว 1-3 เดือน ก็ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ ซึ่งต้องมีคุณลักษณะ คือ เป็นผู้ไม่เคยได้รับไฟเซอร์มาก่อน ได้รับวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม หรือได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว แต่เข็ม 2 ยังไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนติดเชื้อ
- เหตุที่ต้อง “ฉีดวัคซีนสูตรไขว้”
ว่ากันว่า เหตุผลหลักๆ ที่ต้องมีการฉีดวัคซีนสูตรไขว้นั้น คือ
1.วัคซีนที่ได้รับมาแต่ละชนิดมีจำนวนไม่เท่ากันและอาจไม่เพียงพอต่อการฉีดครบ 2 โดส แต่เพื่อจัดการและจัดสรรวัคซีนที่ได้รับมานี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่เหลือทิ้ง จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนสูตรผสมหรือฉีดบูสเข็ม 3 ด้วยวัคซีนต่างชนิดกับ 2 เข็มแรก
2. ปัจจุบันไวรัสโควิด-19 พัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว วัคซีนที่ผลิตมาจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ตั้งต้นจึงอาจมีประสิทธิภาพไม่มากพอที่จะต่อสู้กับสายพันธุ์ใหม่ๆ ระหว่างรอการทดลองหรือผลิตวัคซีนชนิดใหม่ จึงได้มีการทดลองฉีดวัคซีนสลับชนิดและสลับยี่ห้อ ซึ่งมีการทดลองฉีดในหลายๆ ประเทศ และพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นและเร็วขึ้นได้ เพราะระยะห่างการฉีดเข็มแรกและเข็มสองน้อยลง
- ผลศึกษาฉีดวัคซีนไขว้ภูมิสูงกว่าฉีดชนิดเดียวกัน
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบไขว้ชนิดวัคซีน ว่า การฉีดวัคซีนไขว้ด้วยซิโนแวค เป็นเข็มที่ 1 ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มที่ 2 ฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์ ผลการศึกษาวิจัย พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นสูงเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็มที่จะต้องฉีดห่างกัน 10-12 สัปดาห์ และต้องรอให้ภูมิคุ้มกันขึ้นในระดับที่สามารถป้องกันโรคได้อีก 2 สัปดาห์รวมเป็น 14 สัปดาห์
สำหรับการที่บอกว่า ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เพียงเข็มแรก ก็สามารถป้องกันโรคได้ นั่นเป็นข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับสายพันธุ์อัลฟา แต่กับเดลตาไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ซึ่งงานวิจัยต่างประเทศก็ออกมาพูดเรื่องนี้กันเยอะว่า เข็มเดียวไม่เพียงพอต้องฉีด 2 เข็ม ที่สำคัญคือเมื่อเวลาผ่านไปภูมิฯ ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนจะลดลง หากไม่กระตุ้นให้ทัน ก่อนที่จะลดต่ำมาถึงจุดที่ไม่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ ก็จะเกิดอันตรายได้
"เรามีข้อมูลผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เข็มแรก ยังไม่ได้รับเข็มที่ 2 แต่เกิดการติดเชื้อจนเสียชีวิต ดังนั้น ระบบการจัดการบริหารวัคซีนที่ดี คือ เร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้สูง ให้เร็ว เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะติดเชื้อเมื่อไหร่ จึงเป็นเหตุผลหลักที่เรานำสูตรไขว้มาใช้" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
- ความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนสูตรไขว้
สิ่งที่หลายคนกังวลมากที่สุดในการฉีดวัคซีนไขว้สลับชนิดและสลับยี่ห้อ อาจไม่ใช่เรื่องของประสิทธิภาพ แต่เป็นเรื่องของผลข้างเคียงและความปลอดภัย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการฉีดวัคซีนสูตรผสมนี้ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่เป็นองค์การหลักในการบริหารจัดการดูแลเรื่องโควิด-19 ก็ยังไม่ได้ออกมารับรองเรื่องความปลอดภัยอย่างเป็นทางการ แต่ให้หน่วยงานสาธารณสุขของแต่ละประเทศสามารถพิจารณาความเหมาะสมตามผลการศึกษาของตัวเองได้
ทั้งนี้ สำหรับวัคซีนสูตรผสม ซิโนแวค+ แอสตร้าเซนเนก้า ฉีดในประเทศไทย ผ่านการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุขว่าหลังจากเริ่มต้นทยอยฉีดนั้นยังไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรงกับคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนสูตรผสมสูตรนี้ ส่วนเรื่องของประสิทธิภาพ ศึกษาโดยกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าการฉีดไขว้ด้วย ซิโนแวค + แอสตร้าเซนเนก้าช่วยกระตุ้นภูมิในระดับสูงได้เร็วมากขึ้น เพราะใช้ระยะห่างระหว่างเข็มแรกและเข็มสองเพียง 3-4 สัปดาห์ ทั้งยังช่วยกระตุ้นภูมิได้สูงเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า2 เข็ม จากผลการศึกษายังคาดว่าจะสามารถช่วยป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าได้
ขณะที่ วัคซีนสูตรผสม แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์นั้น ซึ่งคาดว่าคนไทยจะได้ฉีดกันในเดือนต.ค.นี้ มีอีกหลายประเทศที่ใช้สูตรเดียวกัน เช่น เยอรมนี สเปน และญี่ปุ่น
งานวิจัยการฉีดวัคซีนสูตรผสม แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์ จากคณะกรรมการวัคซีนแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (STIKO) ระบุว่าการฉีดวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก แล้วตามด้วยวัคซีน ไฟเซอร์ ที่เป็น mRNA จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้ดี และดีกว่าการฉีด วัคซีน แอสตร้าเซนเนก้าทั้ง 2 เข็ม นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายประเทศในแถบยุโรปที่เปลี่ยนจากการฉีด แอสตร้าเซนเนก้า2 เข็ม มาฉีดวัคซีน mRNA ให้กับประชาชนเป็นเข็มที่ 2 แทน ด้วยเหตุผลความกังวลเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน จึงอาจกล่าวได้ว่า การฉีดวัคซีนสูตรผสมระหว่าง แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดจากการฉีดวัคซีนลงได้
- ประเทศไหนบ้าง?ฉีดวัคซีนสูตรผสม
สำนักข่าวรอยเตอร์ รวบรวมรายชื่อประเทศที่มีนโยบายใช้วัคซีนสูตรผสม เป็นเข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้น ข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 27 ก.ย. 2564 ในเดือน ก.ค. องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า การสร้างภูมิคุ้มกันโดยจับคู่วัคซีนจากผู้ผลิตหลายรายมาผสมกัน ซึ่งหลายประเทศกำลังดำเนินการอยู่นั้น ถือเป็น "แนวโน้มที่อันตราย" เพราะยังมีข้อมูลการวิจัยว่าด้วยการฉีดวัคซีนแบบผสมสูตรอยู่น้อยมาก แต่ก็ย้ำว่าหากเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลก็เป็นสิ่งที่กระทำได้ อย่างไรก็ตาม ในยุโรป หน่วยงานกำกับการใช้ยาของยุโรป ไม่ได้มีคำแนะนำเป็นการเฉพาะถึงการฉีดวัคซีนแบบสลับ
สำหรับรายชื่อประเทศที่มีการใช้วัคซีนสูตรผสม เบื้องต้นมีดังนี้
กัมพูชา
- สูตร ซิโนแวค+ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า
- สูตร ซิโนฟาร์ม+ซิโนฟาร์ม+แอสตร้าเซนเนก้า
- สูตร แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า+ซิโนแวค
เดนมาร์ก
ข้อมูลจากสถาบันเซรั่มแห่งประเทศเดนมาร์ก เมื่อ 2 ส.ค. ให้ฉีดเข็มที่สองเป็นไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา หลังจากได้รับเข็มแรกเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
เยอรมนี
สูตรแอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยไฟเซอร์
รัสเซีย
สูตร แอสตร้าเซนเนก้า+สปุตนิก วี
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นการป้องกันโรคได้ดีแต่ทั้งนี้ต่อให้ฉีดวัคซีนแล้ว ทุกคนก็ต้องปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็น การสวมใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคม งดกิจกรรมหรือไปในสถานที่แออัด เสี่ยงต่างๆ
อ้างอิง : บีบีซีไทย,Brusselstimes ,CNN,ศิริราชพยาบาล,โรงพยาบาลสินแพทย์