กางยอดวัคซีนโควิด-19 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว หลังนายกฯแถลงเปิดประเทศ

กางยอดวัคซีนโควิด-19 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว หลังนายกฯแถลงเปิดประเทศ

สธ.กางยอดฉีดวัคซีนโควิด-19 ใน 17จ.นำร่องท่องเที่ยว 9 จังหวัดยังไม่ถึง 50 %  เตือนประชาชนอย่าคิดวัคซีนสูตรไขว้เอง ส่วนคนฉีดวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวคแอสตร้าฯยังไม่ต้องกระตุ้น นักเรียนฉีดแล้วเกือบ5 แสนรายยังไม่มีอาการน่ากังวล อนุฯพิจารณาเข็ม 2 ในนักเรียนชาย 20 ต.ค.นี้

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 12 ตุลาคม 2564 ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  ภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ในแต่ละพื้นที่แยกเป็น กรุงเทพฯ และปริมณฑล คิดเป็น 21% จังหวัดชายแดนใต้ 22% ซึ่งสูงกว่ากทม.และปริมณฑลเล็กน้อย และจังหวัดอื่นๆ 57% 
      สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรง 2,954 ราย ลดลงต่อเนื่องจาก 3,200 กว่ารายเมื่อวันที่ 29 ก.ย.64 อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมฑล 1,084 ราย ภาคใต้ใน 4 จังหวัด 232 ราย จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 19 จังหวัด 673 รายและจังหวัดอื่นๆ 965 ราย  ส่วนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 660 ราย ลดมาจาก 729 ราย ในภาพรวมทิศทางลดลง แนวโน้มการระบาดน่าจะรับมือได้อย่างดีและค่อยๆ ลดลง

20 ต.ค.พิจารณาวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 2 นักเรียนชาย 

          นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มขึ้น 805,146 โดส สะสม 61,033,251 โดส แบ่งเป็นเข็ม1 จำนวน 35.4 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร 49.2% เราวางแผนว่าปลายเดือนจะได้ครบ 50% แต่น่าจะถึงก่อนกำหนด เข็ม2 ฉีด 23.7 ล้านโดส คิดเป็น 33% ความครอบคลุมในกลุ่ม 608 ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยหนัก เสียชีวิต ก็อยากให้มีการฉีดครอบคลุมถึง 80% โดยภาพรวมครอบคลุมแล้ว 72.3%  ซึ่งก็ยังมีพื้นที่ที่ฉีดต่ำกว่า 50% อยู่ แต่ก็เชื่อว่าจากนี้จะเร่งรัดการฉีดไปถึงเป้าหมายได้

       ส่วนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กนักเรียน 12-18 ปี ฉีดไปแล้วเกือบ 5 แสนโดส ยังไม่มีอาการไม่พึงประสงค์ที่น่ากังวล ทั้งนี้  คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน จะพิจารณาประเด็นการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 ในนักเรียนชายในวันที่ 20 ต.ค.นี้ ว่าจะมีการดำเนินการฉีดหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะทันเวลาก่อนกำหนดการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ของนักเรียนแน่นอน  

ภาพรวมวัคซีนจ.นำร่องท่องเที่ยวฉีด 70 %

         นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ในการแถลงเรื่องเปิดประเทศ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพื่อรับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูการท่องเที่ยวในไทยปลายปีนี้ ดังนั้นต้องมีมาตรการรองรับ ทั้งการกำหนดประเทศที่จะเดินทางมาในกลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำ มีหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด รวมถึง มาตรการในพื้นที่ที่ต้องฉีดวัคซีนในเปอร์เซ็นต์ที่สูง รายงานสถานการณ์ วัคซีนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ภาพรวมเข็ม 1 อยู่ที่ 70%
         ฉีดมากที่สุดใน กทม. สูงเกินกว่าฐานในทะเบียนประชากรเป็น 102.8% อาจรวมประชาชนที่มาจากปริมณฑลด้วย ภูเก็ต ฉีด 80% สมุทรปราการ 68.8% ซึ่งหลายจังหวัดยังฉีดได้ต่ำกว่า 50% เช่น อุดรธานี 38% หนองคาย 38% เลย 37% แต่ไม่ต้องห่วงเพราะพื้นที่เหล่านี้ต้องเตรียมความพร้อมในการจัดสรรวัคซีนอยู่แล้ว ขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ติดตามข้อมูลข่าวสารในจังหวัด เพื่อติดต่อรับวัคซีน ให้พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามา ทั้งนี้ เชื่อว่าหลังประกาศนโยบายวันเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว ประชาชนจะสนใจการฉีดวัคซีนกันเยอะ สามารถเร่งฉีดให้ตามเป้าหมายได้

ยอดฉีดวัคซีน 17 จ.นำร่องท่องเที่ยว
          สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 17 จังหวัด มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ดังนี้ ภูเก็ต 80.1% สุราษฎร์ธานี 43% กทม. 102.8% กระบี่ 41.9% พังงา 57.5% ประจวบคีรีขันธ์ 49.3% เพชรบุรี 54% ชลบุรี 71.7% ระนอง 56.1% สมุทรปราการ 68.8% ระยอง 51.7% ตราด 45.6% เชียงใหม่ 45.3% เลย 37.3% บุรีรัมย์ 49.1% หนองคาย 38.8% และ อุดรธานี 38.1%

เป้าฉีดวัคซีน4จชต.70%สิ้นต.ค.

       ส่วนการฉีดวัคซีนใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ประชาชนทั่วไปฉีด 1.5 ล้านคนจากฐานประชากร 3.5 ล้านคน คิดเป็น 42.4%  ส่วนกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป ฉีดแล้ว 260,739 คนคิดเป็น 58%  กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว ฉีดแล้ว 143,784 คนคิดเป็น 51.2%  โดยจะลดหลั่นตามพื้นที่ โดยช่วงนี้ได้รับวัคซีนเพิ่มจำนวนมาก เพื่อเร่งรัดการฉีดวัคซีนต่อเนื่อง ระบบเข้าถึงประชาชนอย่างกว้างขวางรวดเร็วให้ได้เป้าหมาย 70% ของประชากร คาดว่าจะทำได้ปลายเดือน ต.ค. นี้ 

ฉีดสูตรไขว้ซิโนแวค+แอสตร้าฯยังไม่ต้องกระตุ้น

      นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า สำหรับสูตรวัคซีนที่ประเทศไทยมีการฉีด  โดยสูตรหลักสูตรไขว้ คือ ซิโนแวคเข็มที่ 1 และเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า อย่างไรก็ตาม เมื่อฉีดสูตรไขว้นี้แล้วจำเป็นต้องกระตุ้นอีกหรือไม่ โดยหลักการหากเวลาผ่านไป 3-6 เดือน ภูมิคุ้มกันก็จะค่อยๆลดลง ซึ่งจะมีการพิจารณาอีกครั้ง ปัจจุบันยังไม่ต้องกังวลยังไม่ถึงเวลาต้องฉ๊ดเข็มกระตุ้น เพราะภูมิฯยังสูงอยู่  ส่วนที่ต้องฉีดเข็มกระตุ้นในช่วงนี้คือคนฉีดซิโนแวค 2 เข็มไปแล้วเมื่อเดือนพ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งผ่านมาแล้วประมาณ 6 เดือนจึงให้มาฉีดกระตุ้น
 ประชาชนอย่าคิดสูตรไขว้ใช้เอง

         เมื่อถามว่าอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคพิจารณาวัคซีนไขว้สูตรใหม่ “แอสตร้าฯและไฟเซอร์” ความคืบหน้าเป็นอย่างไร นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า  ในเรื่องการพิจารณาสูตรวัคซีนนั้น ทางคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคฯ จะพิจารณาสูตรที่เป็นไปได้ทางวิชาการมีอะไรบ้าง เวลามากำหนดสูตร ก็จะต้องประเมินทั้งเรื่องการส่งมอบวัคซีนว่า มีอะไรอยู่ในมือ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อพิจารณาเชิงบริหารวัคซีนและจะเสนอต่อ ศบค. จึงจะประกาศใช้ต่อไป ทั้งนี้ อนุฯอาจจะเห็นชอบสูตรไขว้หลายสูตร แต่ในเชิงนโยบายจะประกาศสูตรหลักเพียงสูตรเดียว แต่จะมีสูตรอื่นๆรองรับไว้ในกรณีที่มีความจำเป็นเฉพาะที่จะต้องฉีด  

       “ขอย้ำว่า เวลามีหลายสูตร ทุกประเทศปฏิบัติเหมือนกัน ซึ่งในทางสาธารณสุข ทางการจะกำหนดสูตรฉีดวัคซีนเป็นหลัก ไม่ได้ให้ประชาชนเลือกสูตรไขว้ด้วยตัวเอง ดังนั้น เมื่ออนุกรรมการฯ เห็นว่ามีประโยชน์ก็ขอให้มั่นใจว่า สูตรที่ประกาศสามารถใช้ได้ ฉีดได้เลย ไม่ควรรีรอ” นพ.เฉวตสรร กล่าว