“จิตอาสา” กำลังสำคัญร่วมมือ "สปสช." ดูแลผู้ป่วยช่วงวิกฤตโควิด

“จิตอาสา” กำลังสำคัญร่วมมือ "สปสช." ดูแลผู้ป่วยช่วงวิกฤตโควิด

หากย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ "โควิด-19" ของไทยที่มีผู้ป่วยพุ่งขึ้นจนเกิดศักยภาพสาธารณสุข "จิตอาสา" จึงถือเป็นกำลังสำคัญ ในการทำงานร่วมกับภาครัฐ ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ตกค้าง เข้าสู่ระบบการรักษา

แม้ว่าปัจจุบันข่าวสารสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 จะเบาบางลง แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 เดือนก่อน โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ต้องบอกว่าหนักหนาสาหัสอย่างแท้จริง จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นจนระบบบริการปรับตัวไม่ทัน เฉพาะระบบสายด่วน 1330 ของของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็มีผู้ติดเชื้อที่ตกค้างไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้นับหมื่นคน

 

ในช่วงนั้น สปสช. ต้องพยายามอย่างหนักในการดูแลผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างรอคิวเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่ค่อนข้างมาก ทำให้บุคลากรที่มีอยู่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่สายด่วน 1330 ที่ต้องทำหน้าที่หลายอย่าง ทั้งรับแจ้งข้อมูลผู้ติดเชื้อแล้วประสานไปตามโรงพยาบาลต่างๆเพื่อหาเตียงให้ การโทรติดตามอาการระหว่างรอเข้าระบบการดูแล การรับเรื่องร้องเรียน ฯลฯ ขณะเดียวกัน ก็ยังมีงานบางส่วนที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ เช่น การส่งอาหาร ส่งยา ส่งออกซิเจน แก่ผู้ป่วยที่อาการเริ่มแย่ลง

 

ทั้งหมดนี้ ลำพังเจ้าหน้าที่ สปสช.เพียงอย่างเดียวไม่สามารถรับมือไหว แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สามารถประคับประคองสถานการณ์จนผ่านมาได้ ก็ด้วยความช่วยเหลือจากจิตอาสาจากภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ามาเสริมกำลัง ทำให้ สปสช. สามารถดูแลผู้ติดเชื้อจนกระทั่งเข้าสู่การรักษาของหน่วยบริการได้สำเร็จ ซึ่งวันนี้เราก็จะมาพูดคุยกับจิตอาสาบางส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประชาชนในครั้งนี้

 

“จิตอาสา” กำลังสำคัญร่วมมือ \"สปสช.\" ดูแลผู้ป่วยช่วงวิกฤตโควิด

พญ.พัชรินทร์ ตรีจักรสังข์ กุมารแพทย์ด้านเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช เป็นหนึ่งในคุณหมอท่านที่มาช่วยทีมงานสายด่วน 1330 ในการติดตามประเมินอาการผู้ป่วยที่รอเตียงอยู่ที่บ้าน เพื่อพิจารณาจัดส่งยา ออกซิเจน หรือให้ความเห็นว่าควรนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน

 

พญ.พัชรินทร์ เล่าถึงที่มาในการเข้ามาเป็นจิตอาสาครั้งนี้ว่า ย้อนกลับไปประมาณช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ช่วงนั้นจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นแบบน่าใจหาย ตอนนั้นเริ่มมีข่าวผู้ติดเชื้อนอนเสียชีวิตที่บ้าน ซึ่งในฐานะของหมอรู้สึกแย่มาก บางคนอายุยังไม่มากแต่ต้องมาเสียชีวิตเพราะไม่ได้เข้ารับการรักษา ด้วยเหตุนี้ พญ.พัชรินทร์ จึงค้นหาในกูเกิลว่ามีที่ไหนที่อยากได้หมออาสาบ้าง สุดท้ายจึงมาลงทะเบียนกับ สปสช. และได้ทำหน้าที่เป็นแพทย์ที่ปรึกษาให้กับทีม จิตอาสา สปสช.

 

พญ.พัชรินทร์ กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนั้นมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ยังตกค้างไม่ได้รับการจับคู่กับหน่วยสถานบริการ บางคนก็อาการทรุดหนักลง ทีมจิตอาสาของ สปสช.จะทำหน้าที่ติดต่อประเมินอาการผู้ติดเชื้อระหว่างรอการตอบรับจากหน่วยบริการ ซึ่งในรายของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงปานกลางจนถึงหนัก เจ้าหน้าที่จิตอาสาจะส่งต่อข้อมูลมาให้ทีมแพทย์ที่ปรึกษา เมื่อได้รับข้อมูลแล้ว แพทย์ก็จะโทรกลับไปหาผู้ป่วยเพื่อสอบถามประเมินอาการ หากจำเป็นต้องให้ยาหรือส่งเข้าโรงพยาบาลก็จะส่งต่อข้อมูลให้ทีม สปสช.ประสานหาเตียงให้

 

“จิตอาสา” กำลังสำคัญร่วมมือ \"สปสช.\" ดูแลผู้ป่วยช่วงวิกฤตโควิด

“เรามีทีมแพทย์ประมาณ 6 คนและแพทย์ที่เวียนเข้ามาช่วยอีกประมาณ 10 คน กระบวนการทำงานเราคือ คนไข้แต่ละคนจะประเมินว่าอาการตัวเองกำลังอยู่ในโซนสีเขียวเหลืองหรือแดง เช่น มีไข้ มีโรคร่วม กลุ่มคนท้อง กลุ่มเด็ก ถ้าคนไข้ประเมินอาการมาแล้วอยู่ในโซนเหลือง-แดง เจ้าหน้าที่ก็จะดึงข้อมูลเข้ามาในกลุ่มไลน์ที่มีหมออยู่ด้วย พร้อมเบอร์โทรให้หมอที่สะดวกในเวลานั้นติดต่อกลับไปประเมินคนไข้ แล้วก็ส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ สปสช.ว่าอาการอยู่ในโซนที่เป็นสีแดงจริง ให้เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น คนนี้ต้องให้ยา คนนี้ต้องประสานส่งออกซิเจนให้ก่อน คนนี้ต้องจองเตียงและประสานหน่วยกู้ภัยไปรับตัว ฯลฯ” พญ.พัชรินทร์ กล่าว

 

สำหรับความยากของงานนี้ พญ.พัชรินทร์ มองว่า เป็นเรื่องของการที่แพทย์ไม่ได้เจอกับคนไข้ด้วยตัวเอง ดังนั้นต้องอาศัยประสบการณ์ในการแยกแยะอาการเพื่อแจ้งให้หน่วยกู้ภัยเข้าไปรับตัว ซึ่งคนไข้ที่ติดต่อเข้ามา หลายรายมักจะประเมินตัวเองเป็นสีแดงกันหมด ตัวแพทย์จึงต้องใช้ประสบการณ์ในการประเมินอาการที่แท้จริงว่าเป็นเคสจริงและต้องให้หน่วยกู้ภัยเข้าไปรับตัวหรือไม่ 

 

“หลายครั้งที่คนไข้พูดเกินจริงว่าเป็นสีแดงเพราะอยากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรืออาจจะเข้าใจข้อมูลคลาดเคลื่อนว่าตัวเองเป็นสีแดงทั้งที่จริงๆไม่ใช่ บางครั้งเราก็โดนตอบแบบมีอารมณ์กลับมา แต่ก็ไม่ได้โกรธอะไร เพราะถ้ามองในมุมของเขา บางครั้งคนไข้โควิด-19 ก็น่าสงสาร ยิ่งคนที่งานไม่ได้ ออกไปไหนก็ไม่ได้ รายได้ก็ไม่มี คนอื่นก็กลัว ก็เหมือนกับรอคอยความหวังว่าเมื่อไหร่จะมีคนติดต่อมา” พญ.พัชรินทร์ กล่าว

 

พญ.พัชรินทร์ กล่าวต่อไปว่า นับตั้งแต่เข้าร่วมทำงานแพทย์อาสา ทีมแพทย์ได้ช่วยดูแลผู้ป่วยสีเหลือง-แดงไปประมาณ 1,000 กว่าคน เฉพาะส่วนที่ตนดูแลน่าจะประมาณ 100 คนกว่า มีหลายเคสที่โทรติดตาม ส่งยา ส่งอุปกรณ์ให้จนหายดีไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล ทำงานนี้ตั้งแต่เดือน ก.ค. จนถึงปัจจุบัน แต่ในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา จำนวนคนไข้เริ่มน้อยลง บวกกับมีสถานพยาบาลจับคู่กับ สปสช.มากขึ้น โอกาสที่คนไข้จะตกค้างในระบบแล้วไม่มีสถานพยาบาลรับดูแลก็น้อยลงตามไปด้วย

 

“รู้สึกดีใจที่ได้เข้ามาทำงานแพทย์อาสากับ สปสช. เพราะสมัยที่เป็นนักศึกษาแพทย์ก็ครูบาอาจารย์เป็นแบบอย่างในการทำงานเพื่อคนไข้ ทุกครั้งที่ได้ช่วยเหลือคนให้หายเจ็บป่วยกลับมามีชีวิตปกติก็รู้สึกมีความสุข หรือหากคนไข้ต้องจากไป อย่างน้อยก็ทำให้เป็นการจากไปอย่างสมเกียรติที่สุดของการได้เกิดมนุษย์ อย่างน้อยได้มีหมอรักษา ไม่ได้จากไปอย่างโดดเดี่ยวโดยที่ไม่ได้รับการดูแล”พญ.พัชรินทร์ กล่าว

 

“จิตอาสา” กำลังสำคัญร่วมมือ \"สปสช.\" ดูแลผู้ป่วยช่วงวิกฤตโควิด

 

นอกจากทีมจิตอาสาที่คอยประสานงานติดตามอาการผู้ป่วยทางโทรศัพท์ ก็ยังมีทีมอื่นๆที่ลงไปช่วยเหลือประชาชนถึงที่บ้านด้วย

 

นายเสกสันน์ ทรัพย์สืบสกุล หรือ หมอบี ทูตสื่อวิญญาณ เป็นอีกหนึ่งจิตอาสาจากโครงการ Volunteer Thailand ภาพใต้การดูแลของหลวงพ่ออลงกต วัดพระบาทน้ำพุ ที่เข้ามาประสานความร่วมมือกับ สปสช.ในครั้งนี้ 

 

หมอบี กล่าวว่า โดยปกติทีม Volunteer Thailand ก็ทำงานช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว พอช่วงโควิด-19 ระลอกนี้ก็เริ่มมีคนขอความช่วยเหลือมาทางเพจ Facebook เช่น ขอยา อาหาร ฯลฯ ทีมงานก็จะส่งไปให้ พอทำไปได้พักหนึ่งก็รู้สึกว่าถ้าร่วมมือกับ สปสช.น่าจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้น จึงเริ่มประสานงานกับทีมงานของ สปสช. ในลักษณะที่หากทาง สปสช. ขาดเหลืออะไร ต้องการให้ไปช่วยตรงไหน เช่น ไปวิ่งส่งยา ออกซิเจน ทีมงานก็ไปส่งให้ ขณะเดียวกันถ้าทางทีมงานต้องการความช่วยเหลือจาก สปสช. เช่น หาเตียง หายา ทางทีมก็จะติดต่อประสานไป โดยเฉพาะในเรื่องการเชื่อมกับแพทย์จิตอาสากรณีมีเคสที่ต้องการรับคำปรึกษาก่อนที่จะจ่ายยาให้ 

 

สำหรับพื้นที่ทำงานหลักๆจะอยู่ใน กทม.และปริมณฑล ทางทีมจะมีจิตอาสาประมาณ 10 กว่าคน เมื่อได้รับการร้องขอความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นการดูแลส่งข้าวสารอาหารแห้ง ส่งน้ำ ส่งยา ส่งออกซิเจน ก็จะจัดทีมย่อยประมาณออกส่งของกัน 6-7 เส้นทาง เส้นทางหนึ่งมีประมาณ 5-7 หลังคาเรือน ช่วงที่พีคมากๆบางวันส่งกัน 3-4 รอบ

 

“หรือถ้ามีเคสที่มีปัญหาเราก็ไปทันที เช่น ค่าออกซิเจนต่ำ มีปัญหาด้านการหายใจ ส่วนมากก็จะเป็นช่วงค่ำ พอได้รับแจ้งเราก็รีบไป ถ้าชาวบ้านต้องการมากกว่าการส่งยาหรืออาหาร เช่น ต้องการเข้าสู่ระบบการดูแล เราก็จะติดต่อประสานมาทาง สปสช. ซึ่งการช่วยเหลือของเราก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นเฉพาะผู้ติดเชื้อ คนที่ได้รับผลกระทบ เช่น มีคนติดเชื้อต้องไปกักตัวแล้วคนที่เหลือในครอบครัวไม่มีอาหาร ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก เราก็เอาของไปให้ เอานมไปให้ บางรายไปช่วยไม่ทัน เสียชีวิตแล้วไม่มีเงินทำศพ เราก็ไปช่วยจัดงานศพให้”หมอบี กล่าว

 

หลังจากผ่านช่วงพีคแล้ว สถานการณ์การติดเชื้อในปัจจุบันเริ่มน้อยลง แต่ในมุมของหมอบี มองว่าไม่ได้รู้สึกแตกต่างอะไรจากช่วงก่อนหน้านี้ ยังมีเคสที่ขอรับความช่วยเหลือเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ เพียงแต่รูปแบบการขอความช่วยเหลือเปลี่ยนไป เช่น อาจไม่ได้ส่งยามากนักเพราะขณะนี้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาได้มากแล้ว แต่ก็จะขอรับข้าวสารอาหารแห้งมากขึ้นเพราะชาวบ้านไม่มีกิน 

 

“จิตอาสา” กำลังสำคัญร่วมมือ \"สปสช.\" ดูแลผู้ป่วยช่วงวิกฤตโควิด

 

เช่นเดียวกับ นายอัครพล ทองธราดล หรือ “อ๊อฟ” พิธีกรรายการข่าวช่อง 8 ก็เป็นอีกหนึ่งจิตอาสาของโครงการ Volunteer Thailand กล่าวถึงความรู้สึกที่เข้ามาร่วมงานจิตอาสากับ สปสช. ว่า ในภาวะที่เกิดวิกฤต ระบบปกติอาจไม่ได้เตรียมพร้อมนับมือวิกฤตฉุกเฉิน แต่ถ้าทุกภาคส่วนจับมือกันได้ก็จะทำให้เกิดพลังผ่านพ้นวิกฤตนั้นไปได้ อย่างน้อยก็ทำให้สถานการณ์ไม่หนักขึ้นไปอีก แม้บางอย่างจะไม่ได้สมบูรณ์ 100% ก็ตาม แต่พอผ่านวิกฤตไปก็ทำให้การจัดการระบบง่ายขึ้น เช่นเดียวกับการร่วมงานกับ สปสช.ในครั้งนี้ ก็ถือว่าได้ช่วยแบ่งเบาภาระของกันและกัน เพราะ สปสช.เป็นด่านที่รับเคสมาโดยตรง ส่วนทีม Volunteer Thailand ได้ช่วย สปสช.อย่างเต็มที่ 

 

“ผมรู้จักทีมหมอบี ทีมหลวงพ่ออลงกต และสนใจว่าทำไมคนกลุ่มนี้ทำประโยชน์เพื่อสังคมได้มากขนาดนี้ ช่วยคนไม่เลือกยากดีมีจน จึงได้มาศึกษาและสุดท้ายก็ร่วมเป็นทีมอาสาด้วย สุดท้ายเราก็ได้เข้าใจว่าการแบ่งปันช่วยเหลือกันเป็นสิ่งจำเป็นมาก ถ้ามีให้กันมันจะทำให้สังคมมีความสุข บางทีเราอาจรู้สึกว่าฉันต้องมี ฉันต้องรวย แต่สุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรแน่นอน การได้ช่วยเหลือกันให้คนอื่นยิ้มได้ รอดชีวิตได้ หายป่วยได้ ก็เป็นความสุขอีกรูปแบบหนึ่ง”นายอัครพล กล่าวทิ้งท้าย