"แพนิค" โรคที่ไม่ควรมองข้าม ถึงไม่อันตรายแต่ต้องรักษา
ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งแต่ละคนประสบปัญหาแตกต่างกันออกไป ล่าสุด พิธีกรชื่อดัง อย่าง หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ได้ออกมาเล่าว่าเคยเป็นโรคแพนิคไม่ออกจากบ้านเลยถึง 1 ปี และเกือบเป็นโรคซึมเศร้า
วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ “โรคแพนิค” โรคที่ไม่ใช่เพียงอาการวิตกกังวล หรือตื่นตระหนกเท่านั้น แต่โรคนี้สามารถนำพามาซึ่งอาการต่างๆ มากมาย ที่เหมือนจะไม่อันตรายแต่ก็มีความอันตรายอยู่ในนั้น
- รู้จัก “โรคแพนิค” Panic Disorder
“โรคแพนิค” (Panic disorder) หรือโรคตื่นตระหนก ที่หลายคนว่ากล่าวอย่างนั้น เป็นโรควิตกกังวลที่มีอาการตกใจกลัวอย่างกะทันหันและรุนแรงทั้งที่ไม่ได้เผชิญกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่อันตราย สามารถพบได้ถึงร้อยละ 3 – 5 ในประชากรทั่วไป
คนส่วนใหญ่จะเคยมีอาการแพนิกหนึ่งหรือสองครั้งในชีวิต ซึ่งความถี่ในการเกิดอาการโรคแพนิคอาจแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่มีอาการหลาย ๆ ครั้งต่อวันไปจนกระทั่งมีอาการเพียงไม่กี่ครั้งต่อปี
“โรคแพนิค” เกิดจากฮอร์โมนลดหรือเปลี่ยนแปลงกระทันหัน ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ เหมือนไฟฟ้าลัดวงจร ระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของร่างกายในหลายๆ ส่วน จึงเกิดอาการหลายอย่างร่วมกัน เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก หายใจไม่ทัน ท้องไส้ปั่นป่วน วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม และเป็นอาการที่เกิดขึ้นฉับพลันโดยที่ไม่มีสาเหตุหรือมีเรื่องให้ต้องตกใจ นั่นทำให้บางคนที่มีอาการมักคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจ และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
ผู้ป่วยโรคแพนิคมักจะรู้ตัวว่าเป็นโรคแพนิคก็ต่อเมื่อมีอาการดังกล่าวไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็ค แล้วพบว่าหัวใจแข็งแรงเป็นปกติ แพทย์จะสงสัย และอาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคแพนิค
- สาเหตุโรคแพนิคมีอะไรบ้าง?
สาเหตุที่พบได้ในคนที่เป็นโรคแพนิค คือ มีปัจจัยด้านพันธุกรรม ถ้าหากมีญาติสายตรงเป็นโรคแพนิคก็มีโอกาสจะเป็นมากกว่าคนอื่น 5 เท่า
นอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยในเรื่องของระบบชีวภาพในร่างกาย คือ ระบบประสาทอัตโนมัติอาจจะทำงานไวเกินไปทำให้มีอาการใจสั่น เหงื่อแตกขึ้นมาได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องพบเหตุการณ์อะไรที่น่ากลัว โดยเกือบทั้งหมดของผู้ป่วยที่เป็นโรคแพนิคจะเริ่มมีอาการหลังจากเกิดเหตุการณ์ในชีวิตครั้งสำคัญ เช่น เกิดความสูญเสียร้ายแรงขึ้นมา
โรคนี้มักพบในคนอายุน้อย อายุประมาณ 20 - 30 ปี ซึ่งหลายรายจะมาพบแพทย์ช้า กว่าจะมาพบแพทย์อายุประมาณ 40 - 50 ปีก็มี เพราะว่าอาการของโรคนี้ใกล้เคียงกับโรคอื่นหลายอย่าง
- อาการ “โรคแพนิค” ที่ควรรู้
ผู้ป่วยโรคนี้จะรู้สึกทุกข์ทรมานในการดำเนินชีวิตประจำวันเนื่องจากมีความวิตกกังวลตลอดเวลาว่าจะมีอาการเกิดขึ้นอีกเมื่อไร บางรายต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตหรือการงานที่เคยทำประจำและเกิดความทุกข์ใจอย่างมากที่ไม่อาจดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขได้ดังเดิม
สำหรับอาการของผู้ป่วย “โรคแพนิค” จะมีดังนี้
- ใจสั่น ใจเต้นแรง แน่นหน้าอก
- เหงื่อออกมาก หนาวๆ ร้อนๆ
- ตัวสั่น รู้สึกหายใจไม่อิ่ม
- หายใจถี่ หายใจตื้น หายใจไม่อิ่ม
- วิงเวียน โคลงเคลง รู้สึกตัวลอย คล้ายจะเป็นลม
- รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะกลัวตาย
- ควบคุมตัวเองไม่ได้ รู้สึกอยู่คนเดียวไม่ได้
- อาการเกิดขึ้นประมาณ 15 – 20 นาทีแล้วค่อยๆหายไป
ทั้งนี้ อาการแบบนี้จริงๆแล้วสามารถพบได้ในหลายโรค เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ โรคไมแกรน โรคลมชักบางประเภท และสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อมีการใช้สารบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดอาการเช่นนี้ ที่พบบ่อยก็คือ คาเฟอีน แต่ถ้าตรวจไม่พบอาการผิดปกติจากโรคเหล่านี้ คุณอาจจะเป็นโรคแพนิค
- ถึงไม่อันตรายแก่ชีวิต แต่ต้องรักษา
การวินิจฉัยโรคแพนิค อันดับแรก แพทย์จะต้องดูให้แน่ชัดว่าไม่ได้เป็นโรคอื่นที่มีอาการใกล้เคียงกับแพนิก เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจ โรคปอด หรือบางคนอาจเป็นภาวะวัยทอง หรือมีผลมาจากการใช้ยาเสพติดกระตุ้นรวมทั้งเครื่องดื่มและอาหารที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โคล่า ชาเขียว และเครื่องดื่มชูกำลัง ทั้งหมดนี้ต้องดูให้แน่ชัดว่าไม่ได้มีมาจากสาเหตุอื่นถึงจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคแพนิก
การรักษาโรคแพนิค มีวิธีการรักษา2 หลักใหญ่ ๆ คือ การใช้ยาและการทำจิตบำบัดประเภทปรับความคิดและพฤติกรรม ในเบื้องต้นผู้ป่วยสามารถที่จะบอกตัวเองได้ โดยให้กำลังใจตัวเอง คือ บอกตัวเองว่าโรคนี้เป็นขึ้นมาแล้วรักษาได้แล้วไม่ทำให้ถึงแก่ชีวิต ส่วนมากคนที่มาแล้วรักษายากเป็นเพราะพยายามช่วยเหลือตัวเองในทางอื่น ๆ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งดูเหมือนอาการจะสงบแต่จริง ๆ แล้วรุนแรงและรักษายากมากยิ่งขึ้น หากท่านสงสัยว่าตนเองมีอาการที่คล้ายโรคแพนิกควรจะมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ
การตรวจเลือดหาสาเหตุที่เกิดทางด้านร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือรักษาด้วยการทำจิตบำบัดซึ่งอาจหาต้นเหตุของความกลัวได้ แต่ผู้ป่วยก็สามารถลดความวิตกกังวลของตนเองได้เช่นกัน เช่น การฝึกการหายใจเพื่อควบคุมสติ เมื่อเกิดอาการ หรือควบคุมอาหารบางประเภทที่กระตุ้นให้อาการกำเริบอย่างคาเฟอีนหรือน้ำอัดลม
การรักษาที่ได้ผลดีคือการรักษาแบบองค์รวม นอกจากรับประทานยาอย่างต่อเนื่องแล้ว จำเป็นต้องมีการรักษาทางจิตใจควบคู่ไปด้วย โดยให้ความรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบำบัด ปรับแนวคิด ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับโรคนี้ได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ ให้พยายามพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ผ่อนคลายจากความเครียดและความวิตก ดูแลจิตใจตัวเองให้เข้มแข็งมีความสุขกับทุกวันและดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม
- เทคนิคการรักษาแพนิกแบบง่ายๆ
วิธีการปฎิบัติตัว อันดับแรกต้องตั้งสติ หายใจเข้า - ออกลึก ๆ ช้า ๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากอาการ โดยหายใจเข้าให้ท้องป่องและหายใจออกให้ท้องยุบในจังหวะที่ช้า ซึ่งจะทำให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับตัว ในระหว่างที่ทำให้บอกกับตัวเองว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นชั่วคราว สามารถหายได้และไม่ถึงแก่ชีวิต หลังจากนั้นร่างกายจะค่อย ๆ ผ่อนคลายและอาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปเอง
เริ่มต้นดูแลตัวเองแบบง่ายๆ ด้วยการงดพฤติกรรมเหล่านี้
- การใช้ชีวิตประจำวันด้วยความเร่งรีบ
- กินนอนไม่เพียงพอและไม่เป็นเวลา
- ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือมากเกินไป
โรคนี้มักเกิดในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นและสามารถเกิดร่วมกับโรคอื่นได้ เช่น ฃสาเหตุของโรคนี้เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (automatic nervous system) ทำงานผิดปกติไป ถ้าจะเปรียบเหมือนรถยนต์ก็เรียกได้ว่าเครื่องยนต์กำลังทำงานรวนไป เนื่องจากระบบประสาทอัตโนมัติควบคุมการทำงานของร่างกายในหลายส่วน อาการที่เกิดขึ้นจึงเกิดหลายอย่างพร้อมกันทั้งการเต้นของหัวใจ การหายใจ การออกของเหงื่อ ฯลฯ การทำงานของระบบดังกล่าวต้องอาศัยสารเคมีในสมองเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมการทำงาน
- อะไรทำให้อาการโรคแพนิคแย่ลง ?
ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยอาการแพนิคก็จะหายไปเองในเวลา 10 นาที เนื่องจากเป็นธรรมชาติของเวลาการหลั่งอะดรีนาลินสู่กระแสเลือด แต่เมื่อเราพยายามหยุดอาการแพนิคด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลต่าง ๆ หลีกเลี่ยงที่จะไปสถานที่ที่อาจทำให้เกิดอาการเช่นห้างสรรพสินค้า หรือไม่กล้าอยู่คนเดียว จะอยู่ในสถานที่ที่คิดว่าจะมีคนช่วยเหลือได้ตลอดเวลา การหายากล่อมประสาทเตรียมพร้อมไว้ และการพยายามหายใจในถุงกระดาษ การกระทำเหล่านี้กลับทำให้อาการของโรคนี้แย่ลงเพราะสมองส่วนอารมณ์จะรับรู้ว่าอาการต่างๆของโรคแพนิคเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายยิ่งพยายามทำสิ่งเหล่านี้มากเท่าไร อาการก็ยิ่งแปรปรวนมากขึ้นและใช้เวลานานขึ้นกว่าจะสงบซึ่งอาจนานเป็นชั่วโมง
สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนัก คือ ถ้าคุณกลัวว่าอาการแพนิคจะเกิดขึ้นคุณกำลังส่งเสริมการกลับมาเป็นซ้ำของแพนิกและเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับแพนิกแบบที่เรียกว่ายิ่งเกลียดยิ่งเจอ กล่าวคือยิ่งคุณกลัวมากเท่าไร อาการแพนิกก็จะยิ่งเป็นมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเรากำจัดความกลัวออกไปได้ก็จะไม่มีปัจจัยที่จะไปสนับสนุนการเกิดอาการแพนิก เป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเรากับอาการแพนิกอย่างถาวร
ในทำนองเดียวกัน หากคุณยิ่งพยายามที่จะหยุดหรือต่อสู้กับอาการเหล่านี้ คุณก็เพียงแค่สนับสนุนและยืดเวลาให้มีอาการนานขึ้นหรือหากคุณฝึกเทคนิคการผ่อนคลายบางอย่าง แล้วรออย่างใจจดใจจ่อต่อผลลัพธ์ที่จะทำให้อาการแพนิกลดลง คุณจะต้องผิดหวัง เพราะเทคนิคต่างไม่ได้ช่วยให้คุณเอาชนะอาการแพนิกได้เท่ากับการปรับความรู้ความเข้าใจต่ออาการแพนิค
อ้างอิง: โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ ,รศ.พญ.พรจิรา ปริวัชรากุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ , พญ.นิดา ลิ้มสุวรรณ,โรงพยาบาลเปาโล