รพ.ธรรมศาสตร์ จ่อนำเข้าวัคซีนทางเลือก "โมเดอร์นา - วัคซีน Protein based"
รพ.ธรรมศาสตร์ จ่อนำเข้า วัคซีนตัวเลือก "โมเดอร์นา" ภายในปีนี้ พร้อม เจรจาวัคซีน Protein based ในปี 2565 สั่ง "ยาโมลนูพิราเวียร์" อีก 2 แสนโดส จากอินเดีย ใช้ในการวิจัยและรักษาผู้ป่วย
จากที่เว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ ได้ระบุถึง โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ประกาศผ่าน เฟซบุ๊ก ในประเด็นความคืบหน้าการนำเข้าวัคซีน mRNA ได้ร่วมกับภาคเอกชน เจรจาวัคซีน จำนวน 3 ล็อต ประมาณ 10 ล้านโดส บางส่วนของใจความประกาศ ดังนี้
โดยเมื่อ “ต้นเดือนกันยายน” ลงนามความร่วมมือกับสถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในการจัดหาและนำเข้าวัคซีน Moderna จำนวน 2 ล้านโดสมาในประเทศในนาม มธ.
ถัดมา “ปลายเดือนกันยายน” ได้ลงนามความร่วมมือกับสถานพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่ง ในการนำเข้าวัคซีน mRNA (Moderna , Pfizer) จำนวน 5 ล้านโดส เข้ามาในประเทศในนาม มธ. โดยเอกชนรายนี้จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัคซีนทั้งหมดเพื่อกระจายฉีดให้แก่ประชาชนผ่านระบบโรงพยาบาลเอกชนต่าง ๆ โดย รพ.ธรรมศาสตร์ก็ยังคงจะได้รับบริจาควัคซีนอีกหลายแสนโดสจากจำนวนนี้ มาเพื่อกระจายฉีดให้ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ หากสามารถนำวัคซีนเข้ามาได้สำเร็จ
“ต้นเดือนตุลาคม” มธ. ได้ติดต่อกับสถาบันวัคซีนของประเทศในยุโรปตะวันออกประเทศหนึ่ง โดยการประสานของภาคเอกชน ด้วยการช่วยอำนวยความสะดวกของสถานทูตไทย เพื่อจะขอรับวัคซีน Moderna ในลักษณะการบริจาคให้ มธ.จำนวน 3 ล้านโดส แต่รับผิดชอบการขนส่ง โลจิสติกส์ การดูแลควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายหลายสิบล้านยูโร และขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อประสานงานและเจรจาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่
ทั้ง 3 กรณีนี้ ได้กำหนดระยะเวลาการดำเนินการของความตกลงจัดหาวัคซีนทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 31 ตุลาคม 2564
ขณะที่ “ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม” ได้ติดต่อเจรจากับตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของยุโรปตะวันตก ซึ่งกำลังดำเนินการวิจัย ค้นคว้าทดลองและผลิตวัคซีน Protein base ชนิดใหม่ โดยธรรมศาสตร์ตกลงจะเข้าร่วมการวิจัยทดลองวัคซีนใน Phase ที่ 3 นี้ด้วย และหากสามารถขึ้นทะเบียนวัคซีนชนิดนี้ได้สำเร็จ
- โมเดอร์นา มีทั้งฉีดฟรี และเสียค่าใช้จ่าย
ล่าสุด วันนี้ (16 ตุลาคม 64) รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ให้สัมภาษณ์กับทางกรุงเทพธุรกิจว่า วัคซีนจะแบ่งเป็น 2 ช่วง โดยในปีนี้จะดำเนินการวัคซีนทางเลือก mRNA ให้แล้วเสร็จ 10 ล้านโดส ซึ่งคงเป็นวัคซีนโมเดอร์นา ตอนนี้อยู่ระหว่างรอให้วัคซีนเข้ามา จึงจะเริ่มเปิดให้จอง โดยจะมีการแบ่งให้ในส่วนทั้ง ให้ฉีดฟรี และ เสียค่าใช้จ่าย ส่วนราคาต้องรอดูสถานการณ์เมื่อวัคซีนเข้ามาอีกทีหนึ่ง
- เตรียมนำเข้า วัคซีน "Protein based"
ขณะที่ ในปีหน้า 2565 จะเป็นในส่วนของวัคซีน วัคซีน Protein based ส่วนเรื่องยี่ห้อตอนนี้ดูทั้งสหรัฐ และ ยุโรป อยู่ระหว่างการพูดคุย เบื้องต้นคุยไว้ที่ 10 ล้านโดสเช่นกัน เพราะเข้าใจว่าภาครัฐก็มีการสั่ง แอสตร้าเซนเนก้า และ ไฟเซอร์ ด้วยเช่นกัน ซึ่ง
ดังนั้น ในปีหน้า หากเป็นวัคซีนตัวเลือกอื่นที่เป็น Protein based ก็จะไม่ชนกับของภาครัฐที่ดำเนินการอยู่ น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีอีกตัวหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการร่วมวิจัยในเฟส 3 ด้วย เพื่อศึกษาในเรื่องของภูมิคุ้มกัน เหมือนกับ ที่มีการศึกษาไฟเซอร์ โมเดอร์นาในปัจจุบัน ว่ามีการกระตุ้นแล้ว ภูมิขึ้นดีแค่ไหนอย่างไร ที่เพิ่งออกมาของ รพ.ศิริราช วานนี้ (15 ต.ค. 64)
- นำเข้า โมลนูพิราเวียร์ 2 แสนเม็ด
สำหรับ ยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งทาง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ระบุว่า ได้ทำความตกลงร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตยา Generic name ของ โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ในประเทศอินเดีย เพื่อร่วมการทดลองประเมินประสิทธิภาพของยาชนิดนี้กับผู้ป่วยโควิด ในระยะที่ 3 ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมและจะทำ Clinical Trial เพื่อประเมินประสิทธิภาพของยาชนิดนี้ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์
โดยเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในวิจัยทางคลินิกทั้งหมดที่เกิดขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติโครงการการวิจัยต่อคณะกรรมการจริยธรรมทางการวิจัย และกำลังรอรับการจัดส่งยาที่จะใช้ในโครงการนี้มายังประเทศไทย ได้ทำความตกลงเบื้องต้นแล้วที่จะสั่งยาชนิดนี้อีกจำนวน 200,000 เม็ด เพื่อจะนำมาใช้กับผู้ป่วยของเราทันทีที่ FDA ให้การรับรองยาชนิดนี้เป็นที่เรียบร้อย และได้ผ่านการอนุมัติจาก อย.ของเราเรียบร้อยแล้ว
- นำเข้าวิจัย และ รักษาผู้ป่วย
รศ.นพ.พฤหัส อธิบายว่า สำหรับ ยาโมลนูพิราเวียร์ ตอนนี้มี 2 ส่วน โดยเรารอทาง บริษัทเมอร์ค ขอ FDA ที่สหรัฐ หากผ่านเรียบร้อยดี คนที่สามารถผลิตได้ ซึ่งมี อินเดีย ด้วย เราได้คุยบางส่วนแล้วกับทางอินเดีย และหากผ่าน FDA จริง จะได้นำเข้ามาสองส่วนของการวิจัยและการนำมาใช้ยารักษาผู้ป่วยด้วยตามข้อบ่งชี้
- อินเดีย ราคาถูกกว่า
"ทั้งนี้ ในภาพรวม ยาโมลนูพิราเวียร์ อินเดีย จะถูกกว่าค่อนข้างมาก จากที่เห็นข้อมูลคร่าวๆ ของ บริษัทเมอร์ค 1 คอร์ส 40 เม็ด จะอยู่ที่ราว 23,000 บาท ขณะที่อินเดีย 1 คอร์ส 40 เม็ด ยังไม่รวมต้นทุนอื่นๆ จะอยู่ที่ราว 1,000 บาท ถือว่าถูกกว่าต้นตำรับพอสมควร เนื่องจากอินเดีย มีความสามารถในการผลิตยา อย่างไรก็ตาม ต้องมาดูเรื่องของประสิทธิภาพและประสิทธิผล ความน่าเชื่อถือด้วย จึงต้องทำคู่กันไป ในเรื่องของการวิจัย เช่นเดียวกับฟาวิพิราเวียร์ ที่เป็นออริจินัล ก็จะราคาแพง โดยเบื้องต้นจะนำเข้ามาประมาณ 200,000 เม็ด" รศ.นพ.พฤหัส กล่าว