อัพเดท สูตร "วัคซีนโควิด-19" เข็ม 1-2 และ เข็มกระตุ้นภูมิ
ในวันนี้ (16 ต.ค. 64) ไทย "ฉีดวัคซีนโควิด" ไปแล้วกว่า 64 ล้านโดส ขณะที่เป้าหมายเดือน ต.ค.นี้ คือทุกจังหวัดต้องครอบคลุม 50% ของประชากร ล่าสุด ศบค. ได้อนุมัติสูตรวัคซีนไขว้อีก 2 สูตร รวมถึงเผยผลการศึกษาวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเดินหน้าป้องกันควบคุมการระบาด "โควิด-19"
วันนี้ (16 ต.ค. 64) สรุปผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย จาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. พบว่า จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. - 15 ต.ค. 2564) รวม 64,139,022 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 36,955,020 ราย จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 25,287,543 ราย และ จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 1,896,459 ราย
ภาพรวมยอดฉีดวัคซีน วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ยอดฉีดทั่วประเทศ 816,099 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 : 524,670 ราย เข็มที่ 2 : 275,163 ราย เข็มที่ 3 : 16,266 ราย
3 สูตร “วัคซีนไขว้” เข็ม 1-2
สำหรับ การฉีด “วัคซีนโควิด-19” เข็ม 1 และ 2 ก่อนหน้านี้ ศบค. ได้อนุมัติ "วัคซีนสูตรไขว้" คือ วัคซีน "ซิโนแวค” กับ วัคซีน "แอสตราเซนเนก้า” ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ ที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบัน ล่าสุด วันที่ 14 ต.ค. 2564 มติ ศบค. ได้มาการอนุมัติวัคซีนป้องกันโควิด-19 สูตรไขว้เพิ่มเติมอีก 2 สูตร ทำให้ ณ ตอนนี้ มีสูตรวัคซีนไขว้ทั้งสิ้น 3 สูตร ดังนี้
1. สูตร “วัคซีนซิโนแวค” กับ “วัคซีนแอสตราเซนเนก้า” (อนุมัติก่อนหน้านี้)
ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์
2. สูตร “วัคซีนแอสตราเซนเนก้า” กับ “วัคซีนไฟเซอร์” (ล่าสุด)
ระยะห่าง 4-12 สัปดาห์
3. สูตรวัคซีน “ซิโนแวค” กับ “วัคซีนไฟเซอร์” (ล่าสุด)
ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์
ทั้งนี้ การนำไปใช้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ได้มีการจัดหา การบริหารจัดการก็จะต้องให้สอดคล้องกับวัคซีนที่มี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการให้วัคซีนนั้นเป็นหน้าที่ของสถานบริการนั้นๆ เป็นผู้จัดให้เหมาะสมต่อไป ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
อ่านข่าว : เปิดขั้นตอน "จองวัคซีนโมเดอร์นา" 555 บาท บูสเตอร์เข็ม 3 กับ "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์"
- แผน "ฉีดวัคซีนโควิด" พ.ย. กลุ่มไหน ได้ฉีดอะไรบ้าง
สำหรับการจัดสรรวัคซีนจำนวน 25 ล้านโดส แยกตามกลุ่มเป้าหมายเดือน พ.ย. 64 โดยบางกลุ่ม ได้ฉีด "วัคซีนสูตรไขว้" แอสตร้าเซนเนก้า และ ไฟเซอร์ ที่ ศบค. เคาะล่าสุด ดังนี้
1. ประชาชนใน 16 จังหวัด ที่กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวใน "ระยะที่ 2" (1 - 31 ธ.ค. 64) ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี อยุธยา ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาส วัคซีนทั้งหมด เข็มที่ 1 , 2 และเข็มกระตุ้น ร้อยละ 20 จำนวน 5 ล้านโดส
สูตรวัคซีน : ซิโนแวค ---> แอสตร้าเซนเนก้า
แอสตร้าเซนเนก้า ---> ไฟเซอร์
2. ประชาชนทั่วไป ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปใน 50 จังหวัด วัคซีนทั้งหมด เข็มที่ 1 , 2 และเข็มกระตุ้น ร้อยละ 40 จำนวน 10 ล้านโดส
สูตรวัคซีน : ซิโนแวค ---> แอสตร้าเซนเนก้า
แอสตร้าเซนเนก้า ---> ไฟเซอร์
3. ประชาชนทั่วไป ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปใน พื้นที่ระบาด วัคซีนทั้งหมด เข็มที่ 1 , 2 และเข็มกระตุ้น ร้อยละ 12 จำนวน 3 ล้านโดส
สูตรวัคซีน : ไฟเซอร์ ---> ไฟเซอร์
4. กลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุระหว่าง 12 - 17 ปี ทั่วประเทศ วัคซีนทั้งหมด เข็มที่ 1 , 2 และเข็มกระตุ้น ร้อยละ 12 จำนวน 3 ล้านโดส
สูตรวัคซีน : ไฟเซอร์ ---> ไฟเซอร์
5. แรงงานในระบบประกันสังคม วัคซีนทั้งหมด เข็มที่ 1 , 2 และเข็มกระตุ้น ร้อยละ 6 จำนวน 1.5 ล้านโดส
สูตรวัคซีน : แอสตร้าเซนเนก้า ---> ไฟเซอร์
ซิโนแวค ---> แอสตร้าเซนเนก้า
6. หน่วยงานอื่นๆ เช่น องค์กรภาครัฐ ราชทัณฑ์ วัคซีนทั้งหมด เข็มที่ 1 , 2 และเข็มกระตุ้น ร้อยละ 2 จำนวน 0.5 ล้านโดส
สูตรวัคซีน : แอสตร้าเซนเนก้า ---> ไฟเซอร์
ซิโนแวค ---> แอสตร้าเซนเนก้า
7. ประชากรต่างด้าว วัคซีนทั้งหมด เข็มที่ 1 , 2 และเข็มกระตุ้น ร้อยละ 8 จำนวน 2 ล้านโดส
สูตรวัคซีน : ซิโนแวค ---> แอสตร้าเซนเนก้า
- แนะนำ ไฟเซอร์ กระตุ้นเข็ม 3
สำหรับการฉีดเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยว่า ในการประชุมศบค.วันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการเห็นชอบเป้าหมายในการฉีดวัคซีนในเดือน พ.ย.จำนวน 25 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรอย่างน้อย 70% ทุกจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดจัดสรรให้เพิ่มความครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ 80 % วัคซีนในเด็ก 12-17 ปีได้รับเข็มที่ 1 อย่างน้อย 70%
ส่วนการฉีดเข็มกระตุ้นให้ในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 2 เข็ม ให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนก้าครบ 2 เข็ม ห่างจากเข็มที่ 2 ราว 6 เดือน โดยตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2564 ให้กระตุ้นด้วย "ไฟเซอร์"
ทั้งนี้ วัคซีนแอสตาเซนเนก้า เข้ามาประเทศไทยล็อตแรกเมื่อเดือน ก.พ. 2564 จำนวน 1.2 แสน โดส โดยกลุ่มเป้าหมายที่ฉีดในช่วงเวลาดังกล่าว คือ ผู้มีอายุ 60 ขึ้นไป กลุ่มที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสโรค ซึ่งจะเป็นผู้ที่ฉีดเข็ม 2 ประมาณ เดือน มิ.ย. 2564
ดังนั้น เมื่อถึงเดือน พ.ย. เท่ากับมีการฉีดเข็มที่ 2 มาแล้วราว 5-6 เดือน ส่วนการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแบบปูพรมในคนจำนวนมากนั้น เริ่มเข็ม 1 ในช่วงเดือนมิ.ย.และได้รับเข็มที่ 2 ในราวส.ค.-ก.ย. ห่างนับเวลาห่างจากเข็ม 2 ราว 6 เดือน จึงน่าจะได้รับการฉีดเข็ม 3 ในปี 2565
- ผลศึกษาเข็มกระตุ้น แอสตร้าฯ - ไฟเซอร์
ขณะที่วานนี้ (15 ต.ค. 64) ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เผยผ่านเฟซบุ๊ก Siriraj Institute of Clinical Research สรุปผลการวิจัยวัคซีนโควิด-19 ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ของผู้ที่ได้ Sinovac 2 เข็ม หรือ AstraZeneca 2 เข็ม โดยสรุปผลการศึกษา พบว่า
Sinovac เป็น priming vaccine หรือวัคซีนเริ่มต้นที่ดี ซึ่งเมื่อฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย AstraZeneca หรือ Pfizer ก็ให้ระดับภูมิคุ้มกันที่สูงมาก
สำหรับวัคซีน Pfizer ใช้เพียงครึ่งโดสก็ได้ภูมิคุ้มกันในระดับที่ใกล้เคียงกับการใช้วัคซีนเต็มโดส แนะนำให้ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย AstraZeneca หรือ Pfizer เท่านั้น
คำแนะนำสำหรับผู้ที่ฉีด AstraZeneca มา 2 เข็ม ควรฉีดเข็มที่ 3 กระตุ้นด้วยวัคซีน Pfizer เท่านั้น โดยอาจใช้เพียงครึ่งโดสก็ให้ผลภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกับการใช้วัคซีนเต็มโดส