“พลเมืองอาหาร” เปลี่ยนแปลงโลกจากอาหารสามมื้อ
16 ตุลาคม วันอาหารโลก เราทุกคนควรตระหนักถึงหน้าที่ “พลเมืองอาหาร” ใส่ใจในเรื่องอาหารที่มากกว่าความเอร็ดอร่อย เพราะทุกวันนี้ทุกคนล้วนรับประทานอาหารที่ไม่ครบ 5 หมู่ และรับสารอาหารที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้
อยากชวนผู้อ่านร่วมรำลึกเนื่องใน วันอาหารโลก (World Food Day) ของทั่วโลก เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะชวนคุณมาบริโภคกันให้เต็มที่ ตรงกันข้าม วันอาหารโลกน่าจะเป็นวันที่เราทุกคนควรสร้างความตระหนัก ถึงหน้าที่ “พลเมืองอาหาร” ที่ใส่ใจในเรื่องอาหารที่มากกว่าความเอร็ดอร่อย
ระบบอาหารที่เราอยากเห็น
หากตั้งคำถามง่ายๆ “คุณคิดว่าตัวเองรู้เรื่องอาหารดีแค่ไหน?” รู้หรือไม่ว่าคนผลิตอาหารให้เรา หรือคนปลูกพืชผักที่กำลังกินในจานชื่ออะไร ใครตอบได้บ้าง?
ปัจจุบันการอยู่ในชีวิตสำเร็จรูป ได้เปลี่ยนวัฒนธรรมการกิน ซึ่งกำลังกลายเป็นสังคมบริโภคไปทีละน้อย อาหารที่ผลิตเป็นอุตสาหกรรมกำลังทำให้เราติดกับดักความสะดวกสบาย จนอาจกลายเป็นผู้บริโภคไร้พลัง!
“ระบบอาหารในตอนนี้ มันมีสัญญาณหลายอย่างที่ทำให้เห็นว่าอาหารไม่ปลอดภัย อาหารมีความเสี่ยงทั้งจากการตรวจพบสารปนเปื้อนเกินระดับความปลอดภัยตลอดเวลา ที่สำคัญ ทุกวันนี้คนได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าอาหารน้อยมาก เพราะบริโภคอาหารซ้ำ ๆ ขาดความหลากหลาย เช่น บริโภคแต่แป้ง รวมถึงกินเค็มและหวานมากหลายเท่า” วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด เล่าถึงเหตุผลที่ทำให้หันมาบุกเบิกขับเคลื่อนเรื่องความมั่นคงทางอาหารภายใต้ชื่อ จนมาถึง “คาเฟ่พลเมืองอาหาร” มาไม่น้อยกว่ายี่สิบปี
“ถ้าเราไม่ใส่ใจเรื่องนี้ มันก็จะทำให้เราต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร เพราะเรากำลังไล่พื้นที่อาหารให้หมดไป”
เธอเอ่ยว่าปัจจุบันพื้นที่อาหารถูกบุกรุกด้วยไร่พืชเศรษฐกิจ การปลูกแบบอุตสาหกรรมมากขึ้นทุกขณะปัญหาที่ตามมาคือ ถ้าเรายังส่งเสริมสังคมบริโภคด่วนอยู่อย่างนี้ จะส่งผลต่อสุขภาพคนเราแน่นอน
“จะเห็นว่าปัจจุบันคนไทยกว่า 70% เสียชีวิตด้วยโรคที่เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ซึ่งก็คือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเบาหวานจากการกินหวานเกินพอดี โรคไตจากการกินเค็ม หรือโรคมะเร็งต่างๆ ซึ่งประเทศไทยเราต้องใช้เงินกว่า 2.2% ของจีดีพี หรือประมาณสองแสนล้านบาทในการดูแลรักษาคนที่ป่วยโรคนี้”
คำถามก็คือว่า เราจะเปลี่ยนระบบสุขภาพอย่างไรให้มีอาหารที่ดีมีความยั่งยืน มีคุณค่าโภชนาการและมีความปลอดภัยได้จริง?
วัลลภา เอ่ยว่า เราทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลง และสร้างระบบอาหารที่มั่นคงให้ตัวเองได้ง่ายๆ จากพลังของผู้คนในระบบอาหาร โดยเฉพาะคนที่บริโภคอย่างเราๆ ต้องสร้างศักยภาพจากการเลือกบริโภค ซึ่งนั่นคือ การยกระดับจากคนกินสู่การเป็น “พลเมืองอาหาร”
การจะเปลี่ยนระบบอาหารมันต้องเริ่มที่คนก่อน เธอว่า คำว่า food citizen มันมากกว่าความมั่นคงทางอาหาร แต่เป็น พลเมืองอาหารของโลก
“สิ่งแรกคือการที่ต้องทำให้ทุกคนในห่วงโซ่อาหาร เห็นก่อนว่า ฉันจะต้องเปลี่ยน เพราะเมื่อทุกคนตระหนักมันจะเริ่มทำได้ ต้องเริ่มที่การเปลี่ยนไมนด์เซ็ตตัวเองว่าจากเดิมที่เรารู้สึกเป็นพลเมืองไร้พลัง มาเป็นการตั้งคำถามว่า แต่ละเมนูที่เรากิน มาจากไหน เรารู้ที่มาที่ไปของอาหารหรือไม่?”
กินอย่างรู้ที่มา-ที่ไป
เมื่อถามว่า มีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องตั้งคำถามถึงที่มาของอาหาร นักขับเคลื่อนอาหารให้เหตุผลว่า
“การที่ผู้บริโภครู้ว่าใครผลิตอาหารให้เรา มันเปลี่ยนระบบอาหารนะ เราจะได้ความปลอดภัย อย่างเช่น ผักคะน้าในผัดซีอิ๊ว หรือราดหน้าจานตรงหน้าเรานี่ รู้หรือไม่ว่าผักมีอายุ 45 วัน แต่เกษตรกรบางรายใช้สารเคมีพ่นฉีดถึงกว่า 30 ครั้ง หรืออย่างผัดกะเพราเมนูโปรดของใครหลายคนเองนี่ตัวดีเลย มีแต่สารเคมี นอกจากนี้ ต้องกินให้หลากหลาย เลี่ยงการกินซ้ำๆ”
เมื่อรู้ “ที่มา” อาหารแล้ว เรายังจำเป็นต้องใส่ใจ กับ “ที่ไป” ของอาหารด้วยเช่นกัน
“ปัจจุบัน ด้วยความที่อาหารมีราคาถูก เนื่องจากการผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรม ทำให้คนเรากินทิ้งกินขว้างจนเกิดขยะอาหาร ซึ่งถือเป็น 40% ของปัญหาที่เกิดในห่วงโซ่อาหาร”
นอกจากนี้ อาหารราคาถูกสำหรับผู้บริโภค แต่หลายคนอาจลืมคิดไปว่า ต้นเหตุของราคาถูกนั้นมาจากการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรผู้ผลิต ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่ล่างสุดของห่วงโซ่อาหาร เกษตรกรถูกกดค่าแรงด้วยการบังคับให้ขายผลผลิตราคาถูก ส่งผลให้ต้องมีปัญหาหนี้สิน
“ที่สำคัญ การปลูกการผลิตแบบนี้ เรายังเอาเปรียบระบบนิเวศ รวมถึงเราเอาเปรียบสุขภาพตัวเอง เพราะเรากำลังใช้ต้นทุนสุขภาพในทางที่ผิด”
ปลุกพลังพลเมืองอาหารในตัวเรา
วัลลภา เอ่ยถึงการขับเคลื่อนในระดับที่สองของการสร้างความเปลี่ยนแปลงระบบอาหารว่า จะต้องใช้พลังความเป็นพลเมืองลุกขึ้นมาร่วมมือร่วมไม้ร่วมสร้างระบบอาหารที่มั่นคง โดยการสร้างเครือข่ายระหว่างกันที่จะเป็นผู้บริโภคที่เชื่อมโยงกับผู้ผลิตโดยตรง
การสร้างระบบสมาชิกเครือข่ายอาหาร ในรูปแบบการตลาดระบบสมาชิกที่เรียกว่า Community Support Agriculture (CSA) เป็นรูปแบบการตลาดที่เชื่อมโยงโดยตรงระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยผู้บริโภคตกลงกับเกษตรกรผู้ผลิต ในการซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตได้ตามฤดูกาล โดยผู้บริโภคจะชำระเงินล่วงหน้าให้กับเกษตรกร หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตจะถูกจัดส่งไป ณ จุดกระจายย่อยตามที่ตกลง แล้วสมาชิกผู้บริโภคที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงจะเป็นผู้มารับผลผลิตด้วยตนเอง นับเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เรามีอาหารที่ดีไปพร้อมการสนับสนุนผู้ผลิตอาหารที่มีคุณภาพ
“แต่การจะทำเครือข่ายสมาชิกได้ เราควรมีสมาชิกสักประมาณ 30 ครอบครัว เราจึงจะได้ผักและอาหารจากผู้ผลิตที่ไว้ใจได้ ที่สำคัญเรารู้ว่าใครปลูก เราดูแลรับผิดชอบซึ่งกันและกัน เกษตรกรก็ดูแลดิฉันและสมาชิกด้วยการส่งมอบอาหารพืชผักผลไม้ที่ดี ปลอดภัยและมีคุณภาพให้เรา เราเองก็ดูแลเขาด้วยการให้จำนวนการสนับสนุนกผักผลไม้ที่แน่นอนและในราคาที่เป็นธรรม” วัลลภา เอ่ย
จักรวาลในชามข้าว
“เราต้องเข้าใจว่าอาหารในจานเราตรงหน้า มันเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศทั้งหมด”
หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่าเพียงแค่การกินอาหาร 3 มื้อต่อวัน จะสามารถเชื่อมโยงกับภาพใหญ่ของระบบอาหารได้
“ประชากรโลกเรามีกว่า 8,000 ล้านคน เยอะมหาศาลมาก คิดดูหากคนหนึ่งบริโภควันละ 3 มื้อ จะเป็นเท่าไหร่ อาหารจึงเป็นครึ่งหนึ่งของปัญหา และก็ยังเป็นครึ่งหนึ่งของคำตอบของปัญหาระดับโลก”
เธอเอ่ยว่า ผู้บริโภคปลายทางมีส่วนกำหนดวิถีที่ยั่งยืน และเป็นผู้สะท้อนระบบนิเวศอาหารที่อยากเห็น
“ตัวอย่างง่ายๆ คือถ้าเรากินหลากหลายเขาก็จะผลิตข้าวหลากหลายให้เรา ก็จะเป็นการช่วยส่งเสริมให้ข้าวอีกหลายสายพันธุ์ยังคงอยู่ ไม่สูญสลาย รวมถึงข้าวพื้นบ้าน แต่ถ้าเรากินเดี่ยวเขาก็ผลิตพืชเชิงเดี่ยวแปลงใหญ่ และใช้สารเคมีเข้มข้นป้อนให้เรา”
ซึ่งวิถีเกษตรที่ประโคมสารเคมีเหล่านั้น ล้วนมีส่วนทำให้โลกเผชิญปัญหามลภาวะ ทั้งดินเสื่อม น้ำเสีย อากาศเป็นพิษเกือบครึ่งแล้ว
“40% ปัญหา Climate Change มาจากอาหาร แต่ข่าวดีคือ มันก็มีคำตอบอยู่ในอาหารถึง 40% อยู่ที่เราจะมองมุมไหน แต่เราต้องลงมือทำ” วัลลภา บอกเล่า
คนกินต้องเปลี่ยนตัวเองไปเป็นพลเมืองอาหารที่มีความกระตือรือร้น มีพลัง และศักยภาพ
“ถามว่าหน้าที่ พลเมืองอาหาร คืออะไร เราต้องขวนขวายหาช่องทางที่จะทำให้เราเข้าถึงอาหารที่ดีมีคุณภาพ การที่เราสร้างคาเฟ่พลเมืองอาหารขึ้นมาเราก็หวังว่า ในระยะยาวถ้ามีเกษตรกรอินทรีย์มากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ไม่ยาก ไม่กระจุกแค่ผู้มีกำลังซื้อ”
พืชร่วมยาง คลังอาหารภาคใต้
ไม่ใช่เฉพาะคนเมืองที่กำลังเผชิญวิกฤติความมั่นคงด้านอาหาร แม้ในภูมิภาคที่ได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรอย่าง “ภาคใต้” เอง ก็กำลังประสบปัญหานี้ไม่ต่างกัน
ดร.เพ็ญ สุขมาก อาจารย์ประจำสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผู้ขับเคลื่อนงานระบบอาหาร ร่วมกับภาคีเครือข่าย ผลักดันไปสู่เป้าหมาย “เกษตรกรรมเพื่อสุขภาพ” ของเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารระดับภาคใต้ เล่าถึงสภาพการณ์คลังอาหารของคนภาคใต้ว่า
ภาคใต้ ปลูกพืชเชิงเดี่ยวจำพวกปาล์มและยางพาราจำนวนมาก แต่พื้นที่อาหารมีไม่ถึง 30% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด นั่นคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าภาคใต้กำลังไม่มีความมั่นคงทางอาหาร
รวมทั้งภาวะโภชนาการของคนในพื้นที่เองก็สะท้อนได้ ดร.เพ็ญ ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมา พบประชาการวัยเด็กในภาคใต้มีภาวะเตี้ย แคระแกร็น เกินค่ามาตรฐานของประเทศถึงสามเท่า ซึ่งเป็นผลจากการขาดโภชนาการที่ดี และยังส่งผลต่อสติปัญญาและพัฒนาการเด็ก ซึ่งถ้าไปดูภาคใต้ 14 จังหวัด มีเพียงแค่ประมาณ 3 จังหวัดที่ผ่านเกณฑ์ไอคิวมาตรฐาน
“อีกส่วนที่เราเห็นวัฒนธรรมอาหารของไทยกำลังแทนที่ด้วยอาหารตะวันตก อาหารที่มีสมุนไพรมีคุณค่าอาหารกำลังหายไป”
การขับเคลื่อนเริ่มต้นที่จังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่แรก ด้วยโครงการ “พืชร่วมยาง” เป็นใบเบิกทางที่สร้างความสำเร็จก้าวแรกของการสร้างมั่นคงทางอาหารให้พี่น้องภาคใต้
“ด้วยวิถีชีวิตที่เคยชินของเขาคือ ไม่ว่ายางราคาถูกหรือแพง จะไปบอกเขาว่าเลิกทำเป็นเรื่องยาก แม้ว่าเราไปบอกชาวบ้านว่าเลิกปลูกยางไม่ยั่งยืน ราคาตกเขาไม่ฟัง เราจึงปรับวิธีการ โดยใช้แนวคิด พืชร่วมยาง ส่งเสริมให้เขาเพิ่มพื้นที่อาหาร ด้วยการปลูกผสมผสานในสวนยาง” ดร.เพ็ญถ่ายทอด
“เฟสแรกเราทำแค่พืชร่วมยาง แต่ต่อมาก็ขยายไปสู่การเลี้ยงสัตว์และประมงในพื้นที่ยาง กลยุทธ์ของเราคือ ต้องบอกเขาว่าถ้าทำยางร่วมกับพืชอื่นจะได้ค่าตอบแทนแบบนี้ เป็นรายได้เท่านี้นะ แล้วให้นักวิชาการไปวิเคราะห์รูปแบบก่อนนำไปทำจริงจนได้โมเดลที่ประสบความสำเร็จ จึงมีการประเมินคุณค่าทางเศรษฐศาสตร์เสนอแก่ชาวบ้าน ก่อนจะนำเสนอการยางแห่งประเทศไทย”
หลังจากมองเห็นความสำเร็จ การยางแห่งประเทศไทยจึงเปลี่ยนรูปแบบการสนับสนุนให้สอดคล้องกับพืชร่วมยางในหลายข้อเสนอ ทั้งการส่งเสริมให้ลดจำนวนพื้นที่ปลูกยางใหม่ลง การฟันยางเก่าทิ้งหันมาทำเกษตรผสมผสาน โดยให้การสนับสนุนทุนไร่ละ 16,000 บาท ในแต่ละจังหวัด
“ตอนนี้เรากำลังขยายผล โดยทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ด้วย เพื่อผลักดันโครงการพืชร่วมยางเป็นโครงการที่ส่งเสริมความมั่นคงอาหารและสุขภาพทั่วภาคใต้”
จากตลาดสีเขียวสู่อุทยานอาหารปลอดภัย
แต่ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นโครงการเดียว เพราะยังมีการต่อยอดสู่โครงการ หนึ่งไร่หลายแสน ซึ่งเป็นการสะท้อนการสร้างอาหารระดับชุมชน ด้วยการพัฒนาเครือข่ายชุมชนสร้างอาหารทั้งระบบในพื้นที่ จนมาถึงตลาดสีเขียวที่ไม่ได้เป็นแค่ตลาดสีเขียว
“ตลาดสีเขียวของเราแตกต่าง เพราะไม่ใช่ตลาดซื้อขายสินค้าอย่างเดียว แต่เป็นตลาดที่ยังช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต เพิ่มการรอบรู้เรื่องอาหารปลอดภัย เรามีจุดเรียนรู้ให้ความรู้ ในตลาดจะมีกฎกติการ่วมกัน เช่น ทุกร้านห้ามใส่ผงชูรส สินค้าที่มาขายต้องมีการสุ่มตัวอย่างตรวจ รวมไปถึงการพัฒนาสู่กองทุนและเงินออมสร้างรายได้ โดยในแต่ละครั้ง ทุกคนจะต้องออมเงิน บางคนมาขายเป็นปีมีเงินเก็บเป็นแสน ส่วนแปลงผักที่เราสร้างพื้นที่พัฒนาศักยภาพเกษตรกรก็จะมีการนำผักที่ผลิตไปขาย ตั้งเป็นกองทุนขึ้นมา สิ้นปีพวกเขาบินไปดูงานถึงญี่ปุ่น นอกจากนี้ ตลาดของเรายังเป็นตลาดจัดการขยะตัวเอง ล่าสุดเรายังยกระดับเป็น อุทยานอาหารปลอดภัย เพื่อเปิดโอกาสเป็นพื้นที่ต้นแบบเรียนรู้ ให้ท้องถิ่นอื่นๆ มาดูงานตลอดปี”
อาหารสร้างสุข(ภาวะ)
หลังสงขลาประสบความสำเร็จ ยังมีการขยายการขับเคลื่อนไปสู่จังหวัดปัตตานี เนื่องจากมีปัญหาด้านความปลอดภัยของอาหารไม่แตกต่างกัน
ปัญหาในปัตตานี รวมถึงพื้นที่ภาคใต้หลายแห่งที่เราพบคือ อาหารมีการใส่สารปรุงแต่งเกินกำหนด เช่น ถ้าไปดูพื้นที่จะเห็นเลยว่าไก่ย่างก็ต้องทาสีส้ม ถ้าไม่ใส่เขาไม่ซื้อ พอเราเก็บตัวอย่างมาตรวจ พบสีเกินมาตรฐานถึง 5 เท่า ขนมฝอยทองในที่อื่นอาจสีเหลือง แต่ที่ปัตตานีจะเห็นสีแดงแปร๊ด สีเขียวบ้าง เราเห็นกุ้งแห้งใส่สีชมพูแปร๊ด
“เรามองว่าเขามีวัตถุดิบดีแล้ว แต่เขาด้อยค่าด้วยสารปลอมปน ปรุงแต่งมากเกินพอดี ดังนั้นโจทย์ของเราคือ การเข้าไปปรับ ทำอย่างไรให้วัตถุมีมูลค่าเพิ่ม พัฒนาให้อาหารได้มาตรฐานถูกหลักอนามัย นอกจากนี้ การทำงานระดับท้องถิ่นเราเน้นโภชนาการ โดยมองไปที่กองทุนสุขภาพตำบล ที่องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลมีหน้าที่ในการดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ร่วมกับ สปสช เขต 12 และเครือข่าย เข้ามาร่วมการแก้ปัญหาโภชนาการของเด็ก ส่งเสริมให้เกิดแผนงานในศูนย์เด็กเล็กมีการออกแบบอาหารล่วงหน้าและใช้วัตถุดิบที่ปลอดภัย จัดทำระบบครัวกลางเพื่อควบคุมคุณภาพ”
ดร.เพ็ญ กล่าวต่อว่า เป็นความโชคดีที่ภาคใต้เรามีเครือข่ายสร้างสุขภาคใต้ ที่เราขับเคลื่อนมาต่อเนื่องมากกว่า 12 ปีแล้ว โดยเรามีธงร่วมกันว่า คนใต้จะมีความสุขได้ต้องมีความมั่นคง 4 ด้าน คือความมั่นคงทางสุขภาพ ความมั่นทางอาหาร ความมั่นคงทางฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางมนุษย์ ซึ่งในเรื่องอาหารเรามีเป้าเรื่องเกษตรสุขภาพ โครงการอาจแตกต่าง หลากหลายกัน แต่เป้าหมายคือการพัฒนาอาหารให้ปลอดภัยในพื้นที่โดยรวม
ซึ่งปลายทางความสำเร็จที่ทั้งคนขับเคลื่อนและเกษตรกรเองต่างมองหานั้น กลับไม่ใช่แค่การสร้างรายได้ แต่เป็นเรื่องของ “ความสุข” และสุขภาวะทางปัญญาเกิด จากการเพราะเราได้ส่งมอบสิ่งดีๆ ให้คนอื่น
สร้างอาหารด้วยพลังพลเมือง
ดร. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า พลเมืองอาหาร (Food citizens) เป็นเป้าของยุทธศาสตร์ที่วางไว้ในแผนอาหารระยะ 10 ปี โดยนิยามคำว่า พลเมืองอาหาร คือ คนหรือผู้คนที่ตระหนักถึงศักยภาพ สิทธิ บทบาทหน้าที่ในการเข้าถึงและบริโภคอาหารที่มีสุขภาวะ โดยสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อตนเองและสังคม
ซึ่งความสำคัญของ พลเมืองอาหาร แสดงให้เห็นในมิติต่างๆ คือความตระหนักของบุคคลที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย การเปลี่ยนแปลงตนเองด้านการกิน ที่นำไปสู่การร่วมมือกับผู้อื่น เพื่อเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง และการรับรู้เรื่องอาหารและเข้าใจถึงการกินที่โยงกับระบบอาหารในภาพรวมได้
“การเปลี่ยนแปลงทั้งสามระดับคือตนเอง ร่วมมือกับผู้อื่น ร่วมกับประชาคมโลกจากการเข้าใจระบบอาหารในภาพรวม และลงมือเปลี่ยนจากจุดที่ตนอยู่ นับเป็นบทบาทหน้าที่หรือพลังพลเมืองในระบบอาหาร สร้างพลังชีวิตจากอาหาร สร้างพลังผู้คน พลังสังคมโลกเพื่อระบบอาหารสุขภาวะ”
ดร. นพ. ไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า วิถีอาหารก็คือ “การเมืองแห่งชีวิตประจำวัน” หากการเมืองคือเรื่องของอำนาจ คนกินคือผู้มีอำนาจกุมชะตากรรมของระบบอาหาร เปลี่ยนตนเอง เปลี่ยนแปลงสังคมรอบตัว และเปลี่ยนแปลงโลกจากอาหารสามมื้อ
การเปลี่ยนแปลงของคนๆ หนึ่งในอาหาร 3 มื้อในทุกๆ วันของชีวิตคือ การปฏิวัติระบบอาหาร วิถีอาหารที่ลงมือปฏิบัติในทุกวัน ย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง