สธ.เชื่อเปิดประเทศ เจอโควิด-19อยู่ในระดับคุมสถานการณ์ได้
สธ.ชี้ไทยเปิดประเทศจะเกิดผลดีมากกว่า วัคซีนครอบคลุม อาการหนัก-เสียชีวิตไม่มาก เชื่อเจอผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับคุมสถานการณ์ได้ เกิดคลัสเตอร์เล็กๆเร่งสกัดไม่ให้ลามใหญ่ กำชับจังหวัดทำแผนรับมือ ตามระดับระบาด น้อยเน้นเฝ้าระวัง-กลางปรับตามสถานการณ์ -มากเข้มคุมโรค
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายการเปิดประเทศ เนื่องจากสำรวจประชาชน พบว่า 59% มีความเห็นว่ายังไม่ควรเปิดประเทศใน 1 พ.ย. ว่า นโยบายการเปิดประเทศเป็นความร่วมมือหลายภาคส่วน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้สนับสนุนให้เกิดความปลอดภัยเรื่องสุขภาพสำหรับการผ่อนคลายมาตรการที่มากขึ้น มีความพร้อม เตรียมวัคซีนโควิดให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายให้เกิดความปลอดภัย
มาตรการเฝ้าระวัง คัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ เช่น ต้องมีผลตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดครบโดส มีใบรับรอง Fit-to-fly และเมื่อเดินทางถึงไทยต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้งโดย 1 คืนแรกจะต้องพักรอผลตรวจในพื้นที่ที่เราติดตามได้ ดังนั้น เรื่องระบบสาธารณสุขมีความพร้อมภัยและเตรียมรับสถานการณ์ได้ ส่วนผลสำรวจที่สูงกว่า 50% ทางกรมควบคุมโรคจะต้องสื่อสารข้อมูลให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและเข้าใจสถานการณ์
ถามถึงการพบคลัสเตอร์ในจังหวัดนำร่องเปิดการท่องเที่ยว สธ.จะต้องดำเนินการอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า คำว่าคลัสเตอร์ หมายถึงควบคุมได้แล้ว โดยใช้ระบบดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการให้สามารถแยกกักที่บ้าน(Home Isolation) แยกกักที่ชุมชน(Community Isolation) เราก็จะสามารถดูแลสถานการณ์ได้ วันนี้ผู้เสียชีวิตก็ลดลงต่อเนื่อง ตัวเลขต่ำร้อยรายหลายวันแล้ว แนวโน้มดีขึ้นทุกวัน ส่วนการเปิดท่องเที่ยวนั้น ก็จะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครบ ทุกคนต้องระวังตัวเองเพื่อลดความเสี่ยง เราช่วยกันในทุกฝ่าย
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากดูแนวโน้มแต่ละประเทศโลก หลังจากที่ไทยประกาศเปิดประเทศ หลายประเทศก็ประกาศ เช่น อินโดนีเซีย เนื่องจากแม้จะยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่อัตราป่วยและอัตราเสียชีวิตลดลงชัดเจน อย่างในประเทศไทยก่อนหน้านี้เสียชีวิตวันละ 300 คน วันนี้อยู่ที่ราว 60 คนต่อวัน โดยเฉพาะ กทม. ที่เห็นชัดมากที่เร่งฉีดวัคซีน บางวันเสียชีวิตไม่ถึงสิบราย แต่ก็พยายามลดให้ได้มากที่สุด ส่วนจังหวัดอื่นจะเร่งฉีดให้ครบ
“เชื่อว่าการเปิดประเทศจะเกิดผลดีมากกว่า เพราะหากมัวแต่ปิด ล็อกดาวน์ ก็ไม่รู้จักจบซักที แต่ในปลายปี 2564 จะฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ได้อย่างน้อย 80% ส่วนเข็ม 2 ก็จะฉีดให้ได้อย่างน้อย 70% ตรงนี้ก็จะให้เกิดความมั่นใจว่า หากติดเชื้อก็จะอาการไม่รุนแรง ไม่เสียชีวิต เปิดประเทศด้วยความมั่นใจ ก็ขอให้ทุกคนเข้ามารับวัคซีนกัน ไม่ได้แปลว่าเปิดประเทศแล้วจะไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่จะอยู่ในระดับที่ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ สังเกตว่าช่วงหลังจะเป็นคลัสเตอร์เล็ก เพราะเน้นตรวจจับคลัสเตอร์เล็ก ก็จะเหมือนก่อนเดือนเม.ย.64 ที่เราพบคลัสเตอร์แล้วตามไทม์ไลน์ละเอียด ภาพรวมเจอคลัสเตอร์เล็กดี เพราะเราจะเข้าไปคุมไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหญ่” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ขณะนี้จะให้ทางจังหวัดทำแผนปฏิบัติการอย่างละเอียด จังหวัดที่การระบาดไม่มาก เน้นเฝ้าระวังให้ความรู้ประชาชน เพื่อป้องกันตัวเองอย่างสูงสุด(Universal Prevention) การฉีดวัคซีน ส่วนจังหวัดระบาดมาก เน้นเรื่องควบคุมโรค มาตรการสังคม ปิดกิจการต่างๆ เช่น 4 จังหวัดชายแดนใต้ ขณะที่จังหวัดกลางๆ จะปรับตามสถานการณ์ หากมีโรงงานจำนวนมากก็จะเน้นมาตรการบับเบิ้ลแอนด์ซีล(Bubble and seal) ตอนนี้มีเครื่องมือ มาตรการสาธารณสุข ส่วนบุคคล สังคม และองค์กร เพียงแต่ละจังหวัดต้องดูสถานการณ์ของตัวเองให้ละเอียดขึ้น จากเดิมที่เน้นการสั่งการจากส่วนกลาง ซึ่งเชื่อว่าทุกจังหวัดมีประสบการณ์แล้ว สามารถควบคุมในจังหวัดของตัวเองได้ เราก็จะเน้นในส่วนนั้น อย่างที่ท่านปลัดสธ. ตั้ง 10 จังหวัดที่ต้องจับตา(Watch list) ก็จะต้องมาเสนอว่า ดำเนินการอย่างไร เหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ส่วนจังหวัดพื้นที่สีฟ้า 17 จังหวัดที่ต้องเตรียมความพร้อม มีความเข้มแข็ง ที่ต้องการวัคซีนเพิ่มอีก 7 แสนโดสจัดส่งลงพื้นที่ไปแล้ว ต้องรีบฉีดในกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ดำเนินการตามนโยบายนายกฯวันที่ 1 พ.ย. ได้ ทั้งนี้ อัตราป่วยและเสียชีวิต ใน 17 จังหวัดนี้ก็ไม่สูง เพราะประชาชนมีความตื่นตัวในการเปิดประเทศ ความร่วมมือประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่ยังห่วงอยู่ เช่น การรวมตัวทำกิจกรรมเสี่ยง ดื่มแอลกอฮอล์ ก็ไม่ควรจะมี หากพบร้านอาหารที่จำหน่ายแอลกอฮอล์ ก็ให้แจ้งเจ้าหน้าตำรวจเพื่อจับกุม เพราะผิดกฎหมายทั้ง พรบ.โรคติดต่อ พรก.ฉุกเฉิน และหากเป็นสาเหตุทำให้เกิดการระบาด จะมีโทษหนักด้วย
“หวังว่าหากประชาชนฉีดวัคซีนกันจำนวนมากในปลายปีนี้แล้ว ก็จะไม่ป่วยหนัก ก็จะไม่ต้องล็อกดาวน์ทั้งหมดอีก เพราะสิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือการลดกิจกรรมลง ลดการเดินทาง หากพบปัญหา ก็จะดูในเรื่องการเปิดกิจการแต่ให้เดินทางน้อยลง ก็น่าจะเหมาะสมมากกว่า ซึ่งหากเปิดแล้ว สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณา คือ ระบบสาธารณสุขวยังรองรับไหวหรือไม่ เช่น ไอซียูเต็ม หรือแพทย์รักษาบอกว่าไม่ไหวแล้ว เป็นสิ่งที่เราห่วงที่สุด แต่ขณะนี้รู้วิธีแล้วว่าหากพบผู้ป่วยมาก เราจะทำไอซียูสนามอย่างไร รวมถึงอัตราเสียชีวิตลดลง และฉีดวัคซีนปูพรมครบ อัตราป่วยหนักก็ลดลงด้วย”นพ.โอภาสกล่าว