สธ. เตรียมกระตุ้นเข็ม 3 คนฉีด "ซิโนฟาร์ม" 2 เข็ม ฟรี
หลังจากที่มีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย “ไฟเซอร์” สำหรับผู้ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และ แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม หลายคนที่ฉีดวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” อาจมีข้อสงสัยว่าจะสามารถรับการฉีดเข็มกระตุ้นฟรีจากทางภาครัฐได้หรือไม่
หลังจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ให้คำแนะนำวัคซีนเข็มกระตุ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2564 ว่า ผู้ฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย 2 เข็มผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนก้า 2 เข็มห่างจากเข็มที่ 2 ราว 6 เดือนแนะนำให้กระตุ้นด้วย “ไฟเซอร์” เนื่องจากการฉีด "วัคซีนเชื้อตาย" 2 เข็มแล้วกระตุ้นด้วยชนิดเชื้อตาย ภูมิคุ้มกันจะขึ้นไม่ค่อยดีมากนัก สู้การกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดไวรัลแว็กเตอร์ หรือ แอสตร้าเซนเนก้า และชนิด mRNA หรือไฟเซอร์จะดีกว่า ขณะนี้คำแนะนำคือหากฉีดเชื้อตาย 2 เข็มควรจะกระตุ้นด้วยชนิดวัคซีนที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ ผลการศึกษาวัคซีนเข็มกระตุ้น ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า ซิโนแวค 2 เข็ม ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย แอสตร้าเซนเนก้า หรือ ไฟเซอร์ ให้ระดับภูมิคุ้มกันที่สูงมากวัคซีนไฟเซอร์ ใช้เพียงครึ่งโดส ได้ภูมิคุ้มกันในระดับที่ใกล้เคียงเต็มโดส
แนะนำให้ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย แอสตร้าเซนเนก้า หรือ ไฟเซอร์ เท่านั้น ส่วนผู้ที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ควรฉีดเข็มที่ 3 กระตุ้นด้วยวัคซีน Pfizer เท่านั้นโดยอาจใช้เพียงครึ่งโดสก็ให้ผลภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกับการใช้วัคซีนเต็มโดส
ซึ่งต่อไปสูตรการฉีดวัคซีนของประเทศไทยจะเปลี่ยนเป็นแอสตร้าเซนเนก้า + ไฟเซอร์ ซึ่งต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการ
- “ซิโนฟาร์ม” จะได้ฉีดเข็ม 3 ฟรีหรือไม่
สำหรับประชาชนทีี่รับ “ซิโนฟาร์ม” 2 เข็ม ว่ามีความพร้อมและมีวัคซีนรองรับการฉีดเข็ม 3 กระตุ้นฟรีให้กับคนได้เมื่อถึงเวลาต้องได้รับการกระตุ้น “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) อธิบายว่า วัคซีนที่ สธ.จัดหาคำนึงถึงจำนวนประชากรและกลุ่มเป้าหมายทั้งประเทศอยู่แล้ว จึงมีความเพียงพออยู่แล้ว
ขณะนี้จึงขึ้นอยู่กับคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคว่า ในส่วนของวัคซีนที่ไม่ได้ถูกดำเนินการจัดหาโดยภาครัฐ เมื่อศึกษาแล้วว่าจะทำการฉีดกระตุ้นอย่างไรได้ สธ.ก็พร้อมปฏิบัติตามถ้ามีมติให้ สธ. ดำเนินการได้แต่จะดำเนินการโดยพลการไม่ได้
หากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค มีมติให้ดำเนินการได้ หมายความว่าประชาชนที่รับ “ซิโนฟาร์ม” แล้ว 2 เข็มไปแล้วสามารถรับรับวัคซีน ที่สธ. จัดให้บริการประชาชนที่มารับวัคซีนจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย พร้อมออกใบรับรองวัคซีน หรือวัคซีนพาสปอร์ต ถือว่าจะมีการรองรับจากการฉีดที่รัฐเป็นผู้รับผิดชอบ
- ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพิ่มทางเลือกเข็ม 3
ทางด้าน “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ซึ่งเป็นผู้นำเข้า “วัคซีนตัวเลือก” ซิโนฟาร์ม ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยระบุว่า ในวันที่ 29 ตุลาคม 2564 เวลา 9.00 น. เปิดจอง วัคซีนทางเลือก เข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster Dose) สำหรับองค์กรนิติบุคคล และโรงพยาบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีน ซิโนฟาร์ม ขั้นต่ำ 12 คนขึ้นไป ในโอกาสครบรอบ 12 ปี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สร้างสรรค์สุขภาพดีเพื่อสังคมไทย
กำหนดการเปิดจองวัคซีนทางเลือกเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ในรูปแบบองค์กรนิติบุคคล และโรงพยาบาลเท่านั้น (ไม่มีการเปิดรอบบุคคลทั่วไป)
- เข็มกระตุ้น ซิโนฟาร์ม 550 บาท
วัคซีนเข็มกระตุ้น ภูมิคุ้มกัน Sinopharm อัตราเข็มละ 550 บาท พร้อมร่วมบริจาค 10% ของจำนวนวัคซีนที่ขอรับจัดสรรให้กับกลุ่มเปราะบาง (ยอดบริจาคนิติบุคคลนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าผ่านระบบ E-Donation)
แนะนำเป็นเข็มกระตุ้นภูมิ (เข็มที่ 3) สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีน ซิโนฟาร์ม หรือวัคซีนชนิดอื่นๆ ครบ 2 เข็มมาแล้ว 3-6 เดือน
ลงทะเบียนจองพร้อมโอนเงินเต็มจำนวน รวมจำนวนวัคซีนบริจาค 10% ภายใน 5 วันทำการเมื่อได้รับการแจ้งจัดสรรวัคซีน
กำหนดเริ่มฉีดเข็มกระตุ้นภูมิได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป ณ ศูนย์ฉีดวัคซีน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และสถานพยาบาลที่อยู่ในระบบจัดสรรวัคซีนที่รับฉีดแทนโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ทั่วประเทศ
- บุคคลธรรมดา ที่ฉีดซิโนฟาร์ม
ผู้ที่เคยได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มในรูปแบบบุคคลธรรมดา ขอให้ท่านติดตามการจองวัคซีนทางเลือกเข็มกระตุ้นภูมิจากโรงพยาบาลต่างๆ ที่รับการจัดสรรวัคซีนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และให้บริการฉีดแทนโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะไม่เปิดรับจองในรูปแบบบุคคลทั่วไปในการจัดสรรครั้งนี้
*หมายเหตุ: สำหรับผู้ที่เคยเข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มรอบบุคคลธรรมดากับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กรุณารอ SMS เพื่อแจ้งกำหนดการเข้ารับวัคซีนเข็ม 3 สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะใช้วัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์มเป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยชำระเงิน ณ วันเข้ารับวัคซีน (สำหรับกลุ่มเปราะบางที่ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์มจากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กรุณารอการติดต่อทาง sms หรือให้ผู้ประสานงานทำหนังสือถึงเลขาธิการเพื่อรอการจัดสรร)
- เข็มกระตุ้น “โมเดอร์นา” 555 บาท
ส่วนวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน Moderna (50 ไมโครกรัม) อัตราเข็มละ 555 บาท พร้อมร่วมบริจาค 10% ของจำนวนวัคซีนที่ขอรับจัดสรรให้กับกลุ่มเปราะบาง (ยอดบริจาคนิติบุคคลนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าผ่านระบบ E-Donation)
แนะนำใช้เป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันในปี 2565 (โดยฉีดเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 หรือ 4) โดยฉีดห่างจากวัคซีนเข็มล่าสุด 3-6 เดือน (แล้วแต่ชนิดวัคซีนที่ได้รับก่อนหน้านั้น)
ลงทะเบียนจองพร้อมโอนเงินมัดจำ 250 บาทต่อโดส จนถึง 31 ธันวาคม 2564 และโอนเงินมัดจำ 400 บาทต่อโดสตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป และชำระเงินส่วนที่เหลือเต็มตามจำนวน เมื่อได้รับการจัดสรรวัคซีน พร้อมจำนวนที่บริจาคอีก 10%
- เริ่มฉีด 25 มี.ค. 65
กำหนดเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และสถานพยาบาลที่อยู่ในระบบจัดสรรวัคซีนที่รับฉีดแทนโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ทั่วประเทศ
จัดสรรวัคซีนในเดือนมีนาคม ตามลำดับองค์กรที่โอนเงินจองเข้ามาก่อน และจัดสรรต่อทุก 3 เดือน หรือเมื่อได้รับวัคซีนจากต่างประเทศจนได้รับวัคซีนครบตามจำนวน
- เงื่อนไขการจอง องค์กร นิติบุคคล
ข้อกำหนดในการจอง "วัคซีนทางเลือก" เข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันสำหรับองค์กรนิติบุคคล
1) การสั่งจองและขอรับจัดสรรวัคซีนทางเลือกนี้ เมื่อยืนยันการจองและโอนเงินแล้ว ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะไม่คืนเงิน และไม่รับการขอลดจำนวนวัคซีนในทุกกรณี หากไม่โอนเงินภายในระยะเวลาที่กำหนด ขอสงวนสิทธิ์ที่จะนำเงินจองจำนวนดังกล่าว หรือวัคซีนไปจัดสรรให้กับกลุ่มเปราะบางของประเทศต่อไป
2) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะจัดสรรวัคซีนให้ตามลำดับองค์กรที่โอนเงินจองเข้ามาก่อนกับวัคซีนที่จะทยอยมาจากต่างประเทศ
3) องค์กรสามารถยื่นขอรับจัดสรรวัคซีนได้ทั้ง 2 ชนิด โดยแจ้งระบุจำนวนคนตามยี่ห้อวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิที่ประสงค์จะขอรับจัดสรร
4) องค์กรจะได้รับอีเมลแจ้งชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านเพื่อล็อกอินเข้าระบบผ่านเมนู “ลงทะเบียนองค์กรผู้ได้รับการจัดสรรวัคซีน” เพื่อยืนยันยอดจำนวนวัคซีนที่ขอรับการจัดสรร และวิธีการโอนเงิน โดยโอนเต็มจำนวนสำหรับวัคซีนซิโนฟาร์ม และโอนเงินมัดจำ 250 บาทต่อโดสสำหรับวัคซีนโมเดอร์นา
5) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะดำเนินการส่งรายงานมูลค่าบริจาควัคซีน 10% ขององค์กรเข้าระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (E-Donation) ของทางกรมสรรพากรตามเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของนิติบุคคลที่ยื่นความประสงค์เข้ามา เมื่อได้รับการโอนเงินชำระค่าวัคซีนจากองค์กรเรียบร้อยแล้ว เพื่อนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
6) สำหรับโรงพยาบาลที่ขอรับการจัดสรรวัคซีนทางเลือกใดๆ จากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อนำไปจัดสรรต่อให้กับผู้ป่วยหรือผู้รับบริการของโรงพยาบาล สามารถกำหนดอัตราค่าวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันตามความเหมาะสมโดยให้คำนึงถึงการเข้าถึงวัคซีนของส่วนรวมเป็นสำคัญ
7) อัตราค่าวัคซีนทางเลือกของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้รวมประกันในการรักษาอาการข้างเคียงทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน (โดยเริ่มคุ้มครองเมื่อองค์กรอัพโหลดรายชื่อผู้ฉีดเข้าระบบ หรือโรงพยาบาลที่รับฉีดแทนได้ส่งชื่อผู้รับบริการเข้าระบบให้ทางราชวิทยาลัยและประกัน หากเกิดอาการแทรกซ้อนนก่อนหน้านั้น ทางโรงพยาบาลที่รับฉีดแทนจะเป็นผู้ดูแล)