"บัตรทอง" ดูแลสุขภาพฟัน รักษา ป้องกัน เพิ่มคุณภาพชีวิตทุกกลุ่มวัย
"กองทุนบัตรทอง" จัดสิทธิประโยชน์บริการทันตกรรม ดูแล "สุขภาพฟัน" ประชากรทุกกลุ่มวัย รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ครอบคลุมบริการรักษาพยาบาลสิทธิ "บัตรทอง" ขณะที่ การสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( สปสช. ) กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี ตรงกับวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งบริการทันตกรรม เป็นอีกหนึ่งสิทธิประโยชน์ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ กองทุนบัตรทอง ตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุม บริการทันตกรรม ที่จำเป็นทั้งหมด สำหรับทุกๆ กลุ่มวัย ทั้งกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มเด็กโตและวัยรุ่น กลุ่มผู้ใหญ่ และกลุ่มผู้สูงอายุ
เริ่มจากการรักษาทันตกรรม ดูแลประชาชนผู้มีสิทธิ "บัตรทอง" ตั้งแต่การขูดหินปูน การอุดฟัน และการถอนฟัน ขูดหินปูน โดยเป็นสิทธิประโยชน์ที่ดูแลทุกกลุ่มช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กอายุระหวาง 0-5 ปี เด็กโตและวัยรุ่นอายุระหว่าง 6-24 ปี วัยผู้ใหญ่อายุระหว่าง 25-59 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
- ดูแล "สุขภาพฟัน" ทุกสิทธิประโยชน์
ต่อมาเป็นบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หลายคนคงไม่ทราบว่าบัตรทองได้ครอบคลุมดูแลการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันในส่วนของบริการทันตกรรมนี้ด้วย ทั้งบริการนี้ ยังเป็นการดูแลประชาชนในทุกสิทธิประกันสุขภาพ ไม่จำกัดเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น แต่รวมถึงสิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และสิทธิอื่น หรือครอบคลุมคนไทยทุกคน เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการส่งเสริมและป้องกัน มีสุขภาพช่องปากและฟันที่ดี โดย สปสช. ได้จัดเป็นสิทธิประโยชน์กลุ่มวัยตามความจำเป็นที่ต้องได้รับบริการ
เริ่มจาก
“กลุ่มเด็กอายุ 0-5 ปี” จะได้รับบริการตรวจสุขภาพช่องปาก และการเคลือบฟลูออไรด์, ทาฟลูออไรด์วานิช “กลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นอายุ 6-24 ปี” “กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 25-59 ปี” และ “กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป” จะได้รับบริการตรวจสุขภาพช่องปาก การเคลือบฟลูออไรด์ ทาฟลูออไรด์วานิชความเข้มข้นสูงเฉพาะที่เช่นเดียวกัน มีเพียงบริการการเคลือบหลุมร่องฟันสำหรับฟันกรามถาวรซี่ที่ 6, 7, 4 และ 5 ที่จะเป็นสิทธิประโยชน์เฉพาะกลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีบริการทันตกรรมที่เพิ่มเติมให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาไม่มีฟันบดเคี้ยวเนื่องจากเป็นไปตามวัย โดย สปสช. จัดสิทธิประโยชน์บริการฟันเทียม ทั้งกรณีใส่ฟันเทียมทั้งปาก และการใส่ฟันเทียมบางส่วนที่ถอดได้ เพื่อผู้สูงอายุไม่มีฟันได้รับการใส่ฟันเทียม เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิต ช่วยให้มีฟันบดเคี้ยวอาหาร ได้รับโภชนากรที่ดี ส่งผลให้ผู้สูงอายุเหล่านี้มีสุขภาพที่ดีขึ้น
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การส่งเสริมและป้องกันโรคในการดูแลสุขภาพช่องปาก ภายใต้กองทุนบัตรทอง นอกจากการจัดงบประมาณภายใต้กองทุนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่เบิกจ่ายให้กับหน่วยโดยตรงแล้ว สปสช. ยังได้สนับสนุนการดูแลสุขภาพช่องปากโดยทางอ้อมด้วย ผ่าน “กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น” (กปท.) ที่ สปสช. ได้ดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ทั่วประเทศ ในการจัดโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงการดูแลด้านทันตกรรม
“ที่ผ่านมามี อปท. หลายแห่ง นำงบประมาณส่วนนี้มาดำเนินกิจกรรมด้านทันตกรรมในหลายโครงการ ได้แก่ โครงการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพช่องปาก เช่น ฝึกทักษะการแปรงฟัน จัดกิจกรรมแปรงฟันหลังอาหาร และการเฝ้าระวังฟันผุ เช่น ตรวจ ทาฟลูออไรด์วานิช ให้กับเด็กๆ อายุ 3-5 ปี ในศูนย์พัฒนาการเด็กเล็ก, การฝึกทักษะการแปรงฟัน จัดกิจกรรมการแปรงฟันหลังอาหารกลางวัน ในโรงเรียน เพื่อกลุ่มนักเรียนอนุบาลถึงนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 4-12 ปี เพื่อสร้างนิสัยพื้นฐานในการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของตนเอง ที่ช่วยลดภาวะฟันผุและสูญเสียฟันก่อนวันอันควร” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
- สิทธิประโยชน์ หญิงตั้งครรภ์
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์เป็นอีกกลุ่มประชากรที่สำคัญต้องได้รับการบริการทันตกรรม เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์จะต้องการสารอาหารจึงหิวและกินอาหารบ่อยขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงที่น้ำตาลหรือเศษอาหารไปเกาะอยู่ตามซอกฟันได้ง่ายขึ้น ประกอบกับในหญิงตั้งครรภ์บางส่วนมีภาวะแพ้ท้องและอาเจียน ทำให้มีกรดออกมาจากกระเพราะอาหารและเศษอาหารที่รับประทานเข้าไปซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ออกมาติดอยู่ตามซอกฟัน ทำให้เป็นสาเหตุเกิดฟันผุได้ง่ายเช่นกัน
รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนยังส่งผลต่อเหงือกด้วย ดังนั้น สปสช. ได้จัดสิทธิประโยชน์บริการทันตกรรมใน หญิงตั้งครรภ์ ครอบคลุมทั้งการตรวจสุขภาพช่องปาก ขัดและทำความสะอาดฟันในช่วงฝากครรภ์ค 1 หรือ 2 ครั้ง ให้กับหญิงที่อายุครรภ์ไม่เกิน 6เดือน และหากพบฟันผุก็จะได้รับการดูแลตามชุดสิทธิประโยชน์ทันตกรรมด้วย
“หากใครที่เคยเจ็บป่วยจากภาวะฟันผุและปัญหาสุขภาพในช่องปาก คงรับรู้ถึงความทุกข์ได้ดี เพราะจะประสบปัญหาอย่างมากในการรับประทานอาหาร มีความเจ็บปวดในการบดเคี้ยว และส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกาย สปสช. ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและได้จัดสรรงบประมาณเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยทำให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว