สิ่งต้องรู้รับมือเปิดเทอมยุคโควิด-19 สสส.ติวเข้มครู ป้องกันปัญหา
สสส.จัดอบรมหลักสูตรดูแลเด็กช่วงโควิด-19 ติดอาวุธให้ครูมีความรู้ ความเข้าใจพร้อมรับมือ ป้องกันเด็กถูกตีตราแบบไม่ตั้งใจ แพทย์หวั่นเด็กไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ถูกบูลลี่ กำชับโรงเรียนมีมาตรการป้องกันรองรับ แนะเปิดโรงเรียน ต้องเตรียมความพร้อมทั้งกายภาพและดูแลจิตใจ
รศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในวันที่ 1 พฤศจิกายน โรงเรียนจะเปิดเรียนเป็นวันแรก สถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากเปิดเรียน เบื้องต้นแยกเป็นเด็กเล็กต่ำกว่า 12 ปี ที่ยังไม่มีวัคซีนรองรับ ซึ่งตามหลักการทางการแพทย์ อาการของเด็กที่ติดโควิดจะไม่มาก แต่สามารถนำไปติดผู้ใหญ่ในครอบครัวได้ และเด็กโตที่อายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีประเด็นที่ผู้ปกครองอาจจะมีความลังเลใจจะให้เด็กฉีดหรือไม่ให้ฉีด ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการป้องกันอย่างไร ดังนั้น สสส. ได้จัดอบรมหลักสูตร : การดูแลเด็กในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้กับบุคลากรภาคีเครือข่ายด้านเด็กและครอบครัวของ สสส. อาทิ ผู้บริหารศูนย์เด็กเล็ก ครูศูนย์พัฒนาเด็ก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงเรียน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเครือข่ายภาคสังคม จำนวน 40 คน ผ่านทางระบบออนไลน์ โดยจะนำหลักสูตรดังกล่าวเปิดให้สามารถเรียนรู้ผ่านระบบอีเลิร์นนิงในสัปดาห์หน้า ผู้สนใจสามารถเข้ามาดูย้อนหลังเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
อ่านข่าว : รับมือเปิดเทอม! วัคซีนโควิด-19 กลายเป็นปม “บูลลี่ในโรงเรียน”
“เนื้อหาหลักๆ จะเป็นการดูแลเด็กอย่างไรเมื่อมีการเปิดโรงเรียน หรือเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวมถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 และการติดเชื้อในเด็ก แนวทางการปรับตัวของครูและนักเรียนหลังผ่านการเรียนออนไลน์มาเกือบ 2 ปีแล้วต้องกลับมาเรียนในชั้นเรียนปกติ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม วิธีการเรียนของเด็ก เหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในการเข้าใจเด็ก สร้างแรงจูงใจ การอบรมนี้จะช่วยป้องกันเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปิดโรงเรียน และคาดหวังจะช่วยให้ครูมีความเข้าใจที่ถูกต้อง มีความมั่นใจในการดูแลที่ถูกต้องที่โรงเรียน จัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย และถ้ามีกรณีเรื่องวัคซีนโควิด-19 ครูสามารถอธิบายพ่อแม่ได้ในเรื่องการฉีดหรือไม่ฉีด โดยครูไม่ซ้ำเติมพ่อแม่ หรือเด็กโดยไม่ตั้งใจ และถ้าเกิดการติดเชื้อในโรงเรียน ครูจะสามารถมีแนวทางจะรับมือและจัดการได้” รศ.ดร.นพ.นันทวัช กล่าว
ด้าน รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ กุมารแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สสส. กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมในการเปิดโรงเรียน แบ่งเป็นเรื่องกายภาพและการดูแลจิตใจนักเรียน โดยด้านกายภาพควรมีการจัดห้องเรียนไม่แออัด โต๊ะเรียนเว้นระยะห่าง หรือจัดระบบเรียนสลับช่วงเวลา หรือเรียนแบบไฮบริด เช่น มีเนื้อหาที่เด็กไปศึกษาด้วยตัวเองก่อน และนำมาสรุปบทเรียน โดยสื่อสารสองทางที่โรงเรียน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละโรงเรียน ส่วนโรงอาหารควรจัดให้นั่งหลวม ๆ หรือสามารถนั่งรับประทานในสถานที่ต่าง ๆ ได้ เพื่อลดความแออัด แยกจามชามแก้วช้อนของแต่ละคน จัดเหลื่อมเวลาพักเพื่อลดความแออักของสนามเด็กเล่น ผู้ใหญ่ คนทำงานในโรงเรียนไม่ว่าจะอยู่ในหน้าที่อะไร ควรได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสทุกคน และมาตรการมาตรฐานอื่น ๆ ได้แก่ การใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา การจัดหาเจลแอลกอฮอล์ และจุดล้างมืออย่างทั่วถึง
รศ.พญ.วนิดา กล่าวต่อว่า ส่วนการดูแลเรื่องใจ ต้องระวังป้องกันไม่ให้เกิดการบูลลี่เด็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน การฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนจะต้องไม่เป็นเงื่อนไขของการไปโรงเรียน โรงเรียนไม่ควรขอให้ผู้ปกครองแจ้งว่านักเรียนคนใดได้ฉีดหรือไม่ได้ฉีดวัคซีน ทุกคนควรอยู่ในมาตรการป้องกันแบบเดียวกัน เพราะถึงแม้ได้รับวัคซีน ก็ยังสามารถติดโรคได้ การฉีดวัคซีนได้ประโยชน์สำคัญคือป้องกันโรครุนแรง และการเสียชีวิต ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ก่อนหน้านี้เรากลัวว่าเด็กที่แม้ว่าจะมีอาการน้อย จะนำเชื้อไปติดผู้สูงอายุที่บ้าน แต่เมื่อมีการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม ทั้งผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ก็จะปลอดภัยด้วยเช่นกัน
“โควิด-19 จะเป็นโรคที่เราไม่สามารถกำจัดออกไปได้ มันจะอยู่กับเราต่อไป เราจึงไม่ควรรอให้โควิด-19 หมดแล้วจึงจะให้ลูกไปโรงเรียน แต่ควรเข้าใจและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมันเหมือนดังเช่นที่ประเทศจำนวนมากทั่วโลกที่มีการระบาดใหญ่ ต่อมามีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลาย พบว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จนเปิดประเทศ กลับไปดำเนินชีวิตตามปกติ ประเทศเราก็จะมีปรากฏการณ์ ไม่แตกต่างจากประเทศอื่น ดังตัวอย่างที่เห็นการลดลงของจำนวนผู้ป่วยในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ และในที่สุดโรคนี้ก็จะไม่ใช่โรคเป็นภัยคุกคามโลกได้อีกต่อไป และ..เราอาจติดเชื้อนี้ซ้ำได้อีกหลายครั้งตามธรรมชาติ แต่ละครั้งร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกัน เมื่อเห็นความจริงในข้อนี้ได้อย่างถ่องแท้ เราจะสามารถรับมือกับมันได้ และไม่ยอมให้เด็กอยู่ในสถานการณ์ที่หยุดการพัฒนาศักยภาพอย่างที่เป็นอยู่” รศ.พญ.วนิดา กล่าว