รับมือเปิดเทอม! วัคซีนโควิด-19 กลายเป็นปม “บูลลี่ในโรงเรียน”

รับมือเปิดเทอม! วัคซีนโควิด-19 กลายเป็นปม “บูลลี่ในโรงเรียน”

1 พ.ย.นี้เปิดเทอมเรียนแบบออนไซต์วันแรกในบางโรงเรียน หลังจากที่ปิดโรงเรียนมายาวนาน สิ่งที่ผู้ปกครอง ครู และโรงเรียนควรเตรียมพร้อม ไม่ใช่เฉพาะมาตรการป้องกันโควิด-19เท่านั้น แต่จะต้องระวังและป้องกัน “เด็กถูกบูลลี่”จากประเด็นวัคซีนโควิด-19 ไม่ให้เกิดขึ้นด้วย

ยอดนักเรียนฉีดวัคซีนโควิด-19
     ข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19ในส่วนของนักเรียน/นักศึกษา อายุ 12-17 ปี  สะสม วันที่ 23 ตุลาคม2564 จำนวนเป้าหมาย 4.5 ล้านคน ฉีดเข็ม 1 แล้ว 1,564,309 ราย คิดเป็น 34.8 % เข็ม 2 ฉีดแล้ว 9,355 ราย คิดเป็น 0.2 % ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้นักเรียนเริ่มปูพรมทั่วประเทศเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2564 ซึ่งระยะห่างเข็ม 1 และเข็ม 2 อยู่ที่ 3-4 สัปดาห์หดังนั้น ในช่วงสัปดาห์หน้าเป็นต้นไปจะเป็นการเริ่มฉีดวัคซีนเข็ม 2 ให้กับนักเรียน

หวั่นเกิด “บูลลี่ในโรงเรียน”ปมวัคซีนโควิด-19

         รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ กุมารแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สสส. กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมในการเปิดโรงเรียน แบ่งเป็นเรื่องกายภาพและการดูแลจิตใจนักเรียน โดยด้านกายภาพควรมีการจัดห้องเรียนไม่แออัด โต๊ะเรียนเว้นระยะห่าง หรือจัดระบบเรียนสลับช่วงเวลา หรือเรียนแบบไฮบริด เช่น มีเนื้อหาที่เด็กไปศึกษาด้วยตัวเองก่อน และนำมาสรุปบทเรียน โดยสื่อสารสองทางที่โรงเรียน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละโรงเรียน

         ส่วนโรงอาหารควรจัดให้นั่งหลวม ๆ หรือสามารถนั่งรับประทานในสถานที่ต่าง ๆ ได้ เพื่อลดความแออัด แยกจามชามแก้วช้อนของแต่ละคน จัดเหลื่อมเวลาพักเพื่อลดความแออักของสนามเด็กเล่น ผู้ใหญ่ คนทำงานในโรงเรียนไม่ว่าจะอยู่ในหน้าที่อะไร ควรได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสทุกคน และมาตรการมาตรฐานอื่น ๆ ได้แก่ การใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา การจัดหาเจลแอลกอฮอล์ และจุดล้างมืออย่างทั่วถึง

อ่านข่าว : สิ่งต้องรู้รับมือเปิดเทอมยุคโควิด-19 สสส.ติวเข้มครู ป้องกันปัญหา

รศ.พญ.วนิดา กล่าวต่อว่า ส่วนการดูแลเรื่องใจ ต้องระวังป้องกันไม่ให้เกิดการบูลลี่เด็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน การฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนจะต้องไม่เป็นเงื่อนไขของการไปโรงเรียน โรงเรียนไม่ควรขอให้ผู้ปกครองแจ้งว่านักเรียนคนใดได้ฉีดหรือไม่ได้ฉีดวัคซีน ทุกคนควรอยู่ในมาตรการป้องกันแบบเดียวกัน เพราะถึงแม้ได้รับวัคซีน ก็ยังสามารถติดโรคได้ การฉีดวัคซีนได้ประโยชน์สำคัญคือป้องกันโรครุนแรง และการเสียชีวิต ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ก่อนหน้านี้เรากลัวว่าเด็กที่แม้ว่าจะมีอาการน้อย จะนำเชื้อไปติดผู้สูงอายุที่บ้าน แต่เมื่อมีการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม ทั้งผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ก็จะปลอดภัยด้วยเช่นกัน 

           “โควิด-19 จะเป็นโรคที่เราไม่สามารถกำจัดออกไป  ได้ มันจะอยู่กับเราต่อไป เราจึงไม่ควรรอให้โควิด-19 หมดแล้วจึงจะให้ลูกไปโรงเรียน แต่ควรเข้าใจและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมันเหมือนดังเช่นที่ประเทศจำนวนมากทั่วโลกที่มีการระบาดใหญ่ ต่อมามีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลาย พบว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จนเปิดประเทศ กลับไปดำเนินชีวิตตามปกติ ประเทศเราก็จะมีปรากฏการณ์ ไม่แตกต่างจากประเทศอื่น ดังตัวอย่างที่เห็นการลดลงของจำนวนผู้ป่วยในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ และในที่สุดโรคนี้ก็จะไม่ใช่โรคเป็นภัยคุกคามโลกได้อีกต่อไป และเราอาจติดเชื้อนี้ซ้ำได้อีกหลายครั้งตามธรรมชาติ แต่ละครั้งร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกัน เมื่อเห็นความจริงในข้อนี้ได้อย่างถ่องแท้ เราจะสามารถรับมือกับมันได้ และไม่ยอมให้เด็กอยู่ในสถานการณ์ที่หยุดการพัฒนาศักยภาพอย่างที่เป็นอยู่” รศ.พญ.วนิดา กล่าว

 

    ประเภทของการบูลลี่

    กรมสุขภาพจิต ระบุถึงประเภทของการบูลลี่หรือการกลั่นแกล้งรังแกเป็น 4 ทาง ประกอบด้วย

            1.ทางร่างกาย เช่น ชกต่อย การผลัก การตบตี

            2.ทางสังคม หรือด้านอารมณ์ เช่น กดดัน ยั่วยุ แบ่งแยก

            3.ทางวาจา เช่น ดูถูก นินทา เยาะเย้ย เสียดสี โกหกบิดเบือน

           4.ทางไซเบอร์ การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หลอกลวง โพสต์ข้อความโจมตี คุกคามทางเพศ

ผลกระทบจากการบูลลี่

      เด็กที่ถูกบูลลี่หรือกลั่นแกล้ง  มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านการนอนหลับ การรับประทานอาหาร ภาวะซึมเศร้า อาจส่งผลไปถึงวัยผู้ใหญ่  เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ประสิทธิภาพทางการเรียนลดลง  ส่งผลต่อความรู้สึกโดดเดี่ยว  สูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่พวกเขาเคยสนุก มีแนวโน้มที่จะออกจากโรงเรียนกลางคันมากขึ้น 

          เด็กที่เป็นผู้บูลลี่ผู้อื่น อาจจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เสพติดแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดอื่นๆ มีพฤติกรรมลักขโมยและเรียนไม่จบ มีพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควร อาจจะเป็นอาชญากรในอนาคต และมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงกับคู่สมรสหรือลูกและคนใกล้ตัว   

รับมือการถูกบูลลี่

      กรมสุขภาพจิต แนะนำการรับมือเมื่อถูกบูลลี่  คือ  

-ตั้งสติ ให้รู้ตัวว่ากำลังเจอกับการรังแก

-เดินจากไปอย่างสงบ ไม่ใส่ใจ

-อย่าให้ผู้กลั่นแกล้งรู้สึกสนุกจากการตอบสนองของเรา

-อยู่ในที่ปลอดภัยมีเพื่อนที่เข้าใจอยู่ข้างๆ

-มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นและคุณค่าของเรา

-ไม่เลือกใช้กำลัง เพราะนั่นอาจเป็นสิ่งที่ผู้กลั่นแกล้งต้องการ 

-หากการกลั่นแกล้งยังรุนแรงให้พูดคุยกับผู้ใหญ่ที่เข้าใจและรู้วิธีจัดการ