สธ.ดันแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก และสมุนไพรไทย ฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19

สธ.ดันแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก และสมุนไพรไทย ฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19

ปี 65 สธ.ผลักดันพัฒนา วิจัยต่อยอดการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และสมุนไพร สู้ภัยโควิด 19 ยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรแชมเปี้ยน และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างงาน สร้างรายได้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด -19

วันนี้ (27 ตุลาคม 2564) ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และเยี่ยมชมนิทรรศการ “กัญชา กัญชง และพืชสมุนไพร
เพื่อสุขภาพในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” โดยมี นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วยคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ

ดร.สาธิต กล่าวว่า ในปี 2564 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อให้บริการประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด 19 อาทิ ฟ้าทะลายโจร สู้ภัยโควิด นำไปใช้ในผู้ป่วยโควิดที่มีอาการน้อย ลดการเกิดโรครุนแรง และผลักดันฟ้าทะลายโจรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ นำไปใช้ในรพ.สนาม/ เรือนจำ กว่า 1.5 แสนราย ประหยัดงบประมาณได้ถึง 685 ล้านบาท, กัญชาทางการแพทย์แผนไทย บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ 4 ตำรับ ได้แก่ ศุขไสยาศน์ แก้ลมแก้เส้น ทำลายพระสุเมรุ และน้ำมันกัญชา
(ตำรับหมอเดชา) สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 193 แห่ง และสร้างแหล่งปลูกกัญชาแปลงใหญ่ 6 แห่ง ทำให้ประชาชนเข้าถึงยากัญชา 441,392 ราย มีการกระจายยากัญชาสู่คลินิกกัญชาฯ 691 แห่ง ทั่วประเทศ พร้อมกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด คาดว่าเกษตรกรเกิดรายได้หมุนเวียนกว่า 48 ล้านบาท และช่วยลดค่าใช้จ่ายการนำเข้ายาจากต่างประเทศไม่น้อยกว่า 120 ล้านบาท/ปี

สมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพร สร้างรายได้ให้เกษตรกรนำเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ อาทิ เชียงราย อุดรธานี พิษณุโลก สงขลา ลำปาง เป็นต้น,เพิ่มการเข้าถึงบริการและสิทธิประโยชน์ให้บริการด้านการแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่กับแพทย์แผนไทย
ในสถานบริการทั่วประเทศกว่า 878 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 98 และให้บริการแพทย์แผนไทยในคลินิกเฉพาะโรค รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ เช่น คู่มือการทำหัตถการ แนวทางการนวดไทย อัตลักษณ์ไทย การเตรียมเครื่องยาไทย และสร้างโรงงานสมุนไพร WHO-GMP ที่ได้มาตรฐานกว่า 47 แห่ง นอกจากนี้ ยังพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงองค์ความรู้ได้สะดวกและหลากหลาย อาทิ แอปพลิเคชัน Dr.Ganja in TTM, Ganja Chatbot, Line OA : Fah First AID, หมอแผนไทยสู้ภัยโควิด เป็นต้น

"กรมการแพทย์แผนไทยฯ ต้องวางพื้นฐานสนับสนุนส่งเสริมองค์ความรู้ด้านสมุนไพรเพื่อฟื้นฟูสุขภาพอย่างมีคุณภาพ และให้บริการแพทย์แผนไทยในด้านเศรษฐกิจเชิงสุขภาพ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศหลังโควิด 19 อาทิ ส่งเสริมการใช้กัญชา กัญชง ทางการแพทย์, ใช้สมุนไพรในการรักษาเบื้องต้นในระดับปฐมภูมิ, ส่งเสริมผลิตภัณฑ์แชมเปี้ยน เพื่อให้ชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน รวมทั้ง ขยาย รพ.แพทย์แผนไทยในจังหวัดสำคัญ หรือจังหวัดที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์”ดร.สาธิตกล่าว

สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ในปี 2565 เน้น 4 ประเด็น ได้แก่ 1) การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก สมุนไพร ร่วมสู้ภัยโควิด 19 วิจัย ต่อยอดสมุนไพรดูแลผู้ป่วยโควิด โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก โดยมุ่งบูรณาการแพทย์แผนไทย/แพทย์ทางเลือกในหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ IMC/ Palliative care ลดภาระด้านสุขภาพของประเทศและสร้างองค์ความรู้แก่ประชาชนอย่างถูกต้อง 2) พัฒนากัญชา กัญชง กระท่อม สู่นวัตกรรมการดูแลสุขภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มผู้ปลูกกัญชา ให้มีวัตถุดิบมาตรฐาน พัฒนาต้นแบบและวิจัยผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง และกระท่อม เพื่อนำไปใช้ทางการแพทย์และการตลาด พร้อมถ่ายทอดมาตรฐานและองค์ความรู้สู่การใช้กัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ
3) พัฒนาศูนย์บริการและวิชาการ ระดับเขตฯ ที่เขตฯ 8 จ.อุดรธานี เพื่อเป็นต้นแบบในการให้บริการที่ครบวงจร เช่น คลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย คลินิกเฉพาะโรคผสมผสานการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และการแพทย์แผนจีน เช่ื่อมต่อสถานบริการในพื้นที่และเป็นหน่วยประสานงานเชื่อมโยงภารกิจงานการแพทย์แผนไทยในส่วนภูมิภาค 4) ยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ฟื้นฟูประเทศ หลังสถานการณ์โควิด โดยส่งเสริมผู้ประกอบการ พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเมืองสมุนไพรให้เป็นจุดหมายการท่องเที่ยว และยกระดับผู้ประกอบการในจังหวัดท่องเที่ยว
สู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพดี (Wellness Center) ทั้งนี้ ตั้งเป้าในปี 2570 ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์ดั้งเดิมของเอเชีย และเป็น World Herb Hub ในปี 2580